ไวรัสฝีดาษลิงทนความร้อนได้นานแค่ไหน อุณหภูมิเท่าใดทำลายเชื้อได้ เช็คเลย

17 ส.ค. 2565 | 04:11 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ส.ค. 2565 | 04:48 น.
700

ไวรัสฝีดาษลิงทนความร้อนได้นานแค่ไหน อุณหภูมิเท่าใดทำลายเชื้อได้ เช็คเลยที่นี่มีคำตอบ ดร.อนันต์เผยผลการทดลองจากทีมวิจัยในฝรั่งเศส

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์ และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรม และเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์เฟสบุ๊กส่วนตัว (Anan Jongkaewwattana)โดยมีข้อความระบุว่า 

 

ไวรัสฝีดาษลิง ทนความร้อนได้นานแค่ไหน?

 

ไวรัสฝีดาษลิงเป็นไวรัสในกลุ่ม poxvirus ที่เชื่อว่าทนต่อสภาวะแวดล้อมได้ดีกว่าไวรัสกลุ่มอื่นๆ 

 

โดยเฉพาะไวรัสที่มีสารพันธุกรรมเป็น RNA อย่างไวรัสโรคโควิด-19 ข้อมูลในปัจจุบันมาจากการทดสอบในอดีตที่ใช้ไวรัส poxvirus ตัวอื่นแต่ไม่ใช่ไวรัสฝีดาษลิงโดยตรง ทำให้ข้อมูลอาจจะมีคำถามว่า ตกลงไวรัสฝีดาษลิงสายพันธุ์ปัจจุบันมีอะไรเปลี่ยนไปจากอดีตหรือไม่อย่างไร 

 

ทีมวิจัยในฝรั่งเศสได้ทำการทดสอบไวรัสฝีดาษลิงที่แยกได้จากตัวอย่างของผู้ป่วยซึ่งเป็น Clade B นำมาเปรียบเทียบกับไวรัสฝีดาษลิง Clade A ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่รุนแรงกว่า

แต่ยังไม่มีการระบาดนอกทวีปแอฟริกา โดยทีมวิจัยตั้งคำถามว่า ไวรัสฝีดาษลิง 2 สายพันธุ์นี้ เมื่ออยู่ในสภาวะที่มีอุณหภูมิสูงที่ต่างกัน ในเวลาที่ต่างกัน 
ไวรัสจะสามารถคงสภาพการติดเชื้อต่อไปได้หรือไม่

 

และเนื่องจากสารพันธุกรรมของไวรัสเป็น DNA ซึ่งมีความคงทนต่ออุณหภูมิมากกว่า RNA สภาวะดังกล่าวจะมีผลต่อการคงสภาพของ DNA หรือไม่อย่างไร

 

ทีมวิจัยพบว่าไวรัสทั้ง 2 clades จะเสียสภาพการติดเชื้อต่อเมื่ออยู่ใน อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียสเป็นเวลาอย่างน้อย 15 นาที

 

ไวรัสฝีดาษลิงทนความร้อนได้นานแค่ไหน

 

การศึกษานี้แสดงว่า ที่อุณหภูมิ 56 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 30 นาที ยังไม่สามารถทำลายไวรัสได้ทั้งหมด

 

ซึ่งแสดงว่าทั้งความร้อนที่ต้องถึง 60 องศาเซลเซียส และ เวลาที่สัมผัสเชื้อที่อย่างน้อย 15 นาที จึงมีความจำเป็น

 

สำหรับอุณหภูมิที่สูงขึ้นเช่น 70 องศาเซลเซียส ระยะเวลาสัมผัสเชื้อสามาถลดลงได้เหลือ 5 นาที 

ข้อมูลที่น่าสนใจคือ อุณภูมิของน้ำเดือด คือ ประมาณ 95 องศาเซลเซียส จำเป็นต้องใช้เวลานานถึง 3 นาที ในการทำลายไวรัส การจุ่มน้ำเดือดระยะเวลาสั้นๆแค่ 30 วินาที ไม่สามารถทำอะไรไวรัสได้เลย

 

ข้อมูลนี้มีประโยชน์มากในกรณีที่สงสัยว่าผ้า หรือ อุปกรณ์ใดๆเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อมา การทำลายด้วยการต้ม หรือ อบ ในระยะเวลาที่เหมาะสมน่าจะทำได้ง่ายและเสี่ยงน้อยกว่าสารเคมี

 

ทีมวิจัยยังแสดงผลว่า ถึงแม้ว่าอุณหภูมิสูงๆจะทำลายความสามารถของไวรัสในการไปต่อ แพร่เชื้อไม่ได้แล้ว

 

แต่ถ้าเรานำตัวอย่างไปตรวจ PCR จะพบว่าผลจะเป็นบวกที่ชัดมาก นั่นเป็นเพราะว่าความร้อนที่ทดสอบไปนั้นไม่สามารถทำลาย DNA ของไวรัสได้ เป็นตัวอย่างของการเก็บซากเชื้อไปตรวจอย่างชัดเจน

 

ดังนั้นการทดสอบไวรัสในห้องปฏิบัติการจะไม่สามารถใช้การวัดแค่ PCR อย่างเดียวได้ จำเป็นต้องมีข้อมูลการเพาะเชื้อสนับสนุนด้วย