กินเนื้อวัว เนื้อควายดิบ ซอยจุ๊ เสี่ยงโรคอะไรบ้าง

17 ส.ค. 2565 | 14:20 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ส.ค. 2565 | 21:25 น.
4.6 k

สาธารณสุข เตือน ประชาชนกินเนื้อวัว เนื้อควายดิบ ซอยจุ๊ เสี่ยงเป็นโรคพยาธิ หรืออาจพบเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าได้ด้วย แนะ กินอาหารโดยยึดหลัก สุก ร้อน สะอาด 

จากกรณีสื่อสังคมออนไลน์ได้รีวิวการกินและวิธีการทำเมนูนิยม เนื้อวัว-ควายสด ๆ เช่น เนื้อวัวดิบ จิ้มแจ่ว ซอยจุ๊ ลาบดิบ ก้อย ซอยห่าง แหนมดิบ (อาหารอีสาน) ลาบดิบ ส้า จิ้นส้ม (อาหารเหนือ) โดยมีการกล่าวอ้างว่า เป็นวัฒนธรรมการกินที่มีมานานนั้น

 

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลเพื่อเตือนภัยสุขภาพสำหรับผู้ที่กินเป็นประจำหรือคิดอยากลองว่า การกินเมนูดังกล่าวมีความเสี่ยง พบ โรคพยาธิตัวตืดวัว-ควาย เกิดจากการกินตัวอ่อนพยาธิ ที่เรียกว่า เม็ดสาคู ตัวอ่อนจะเจริญเป็นตัวเต็มวัยในลำไส้ รูปร่างคล้ายก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ยาว  5-10 เมตร อาจยาวถึง 25 เมตร และมีลำตัวเป็นปล้องประมาณ 1,000-2,000 ปล้อง และปล้องสุกจะหลุดออกมา 3-4 ปล้องกับอุจจาระ หรือคลานออกจากทวารหนักในแต่ละวัน

โดยมีอายุอยู่ในลำไส้คน ประมาณ 10-25 ปี พยาธิจะแย่งอาหารในลำไส้และจะเกิดอาการหิวบ่อย ปวดบริเวณลิ้นปี่ ไม่สบายท้อง อาหารไม่ย่อย คลื่นไส้ อาเจียน บางครั้งท้องร่วง ท้องผูก น้ำหนักตัวลดลง ปล้องสุกที่หลุดออกมาอาจเข้าไปในไส้ติ่ง และทำให้ไส้ติ่งอักเสบได้

 

ด้านนายแพทย์วิชาญ ปาวัน ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับเชื้อแบคทีเรียอื่น ๆ เช่น

 

1.โรคแอนแทรกซ์

  • เกิดอาการในระบบทางเดินอาหาร ทำให้อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายท้องอย่างรุนแรง อาจพัฒนาไปถึงการติดเชื้อในกระแสเลือด และอาจเสียชีวิตได้

 

2.เชื้อซาลโมเนลลา

  • เป็นแบคทีเรียที่มักมี การปนเปื้อนมากับอาหาร เป็นโรคระบบทางเดินอาหาร ซึ่งมักมีอาการอาเจียน ท้องร่วง  

 

3.เชื้อแคมไพโลแบคเตอร์

  • เป็นเชื้อที่สามารถพบได้ในทางเดินอาหารของ วัว และสัตว์อื่นๆ เชื้อนี้อาจทำให้เกิดโรคลำไส้อักเสบ มีอาการท้องเสีย ปวดท้อง มีไข้ บางครั้งอาจมีอาการถ่ายเป็นเลือดร่วมด้วย  

4.เชื้ออีโคไล

  • เป็นเชื้อที่สร้างสารพิษทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหาร ผู้ที่ได้รับเชื้อนี้ไปประมาณ 1-2 วัน จะมีอาการปวดท้อง เป็นตะคริว และมีอาการท้องร่วง บางครั้งอาจมีเลือดปน

 

5.เชื้อโรคพิษสุนัขบ้า

  • หากนำเนื้อวัว-ควายที่ตายแบบไม่ทราบสาเหตุมากิน แล้วไปเจอวัวควายที่ตายจากโรคพิษสุนัขบ้า ทั้งคนแล่เนื้อ คนปรุงอาหาร และผู้ที่กินเนื้อดิบๆ อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้

 

ข้อแนะนำประชาชน

  • ให้เลือกซื้อเนื้อวัว-ควายที่ผ่านการตรวจจากโรงฆ่าสัตว์ที่ได้มาตรฐานแล้วเท่านั้น
  • รับประทานเนื้อสัตว์ที่ผ่านการปรุงสุกอย่างทั่วถึง โดยยึดหลัก "สุก ร้อน สะอาด" สุกด้วยความร้อน หรือ ผ่านการทำลายตัวอ่อนพยาธิ เช่น ฉายรังสี
  • เก็บเนื้อไว้ในตู้เย็น -20 ˚c เป็นเวลา 5-7 วันขึ้นไป

 

สำหรับผู้ปรุงประกอบอาหาร ดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลให้ดี ล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง ก่อนปรุงหรือรับประทานอาหาร และหลังถ่ายอุจจาระทุกครั้ง สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422