ฉีดวัคซีน LAAB เสริมภูมิคุ้มกันโควิด-19 เหมาะกับใคร คนกลุ่มไหนที่มีสิทธิ

02 ส.ค. 2565 | 00:59 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ส.ค. 2565 | 06:55 น.
1.9 k

ฉีดวัคซีน LAAB เสริมภูมิคุ้มกันโควิด-19 เหมาะกับใคร คนกลุ่มไหนที่มีสิทธิได้รับการฉีด LAAB ตรวจสอบรายละเอียดทั้งหมดได้ที่นี่ อ่านเลย

ที่ผ่านมารัฐบาลได้เริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโรค "โควิด-19" ให้กับประชาชนตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. 2564 เป็นต้นมา โดยมีการฉีดวัคซีนไปแล้วมากกว่า 140 ล้านโดสแต่ยังมีประชากรบางกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือเมื่อได้รับวัคซีนแล้วร่างกายไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้เพียงพอต่อการป้องกันโรค ไม่เพียงพอต่อการลดการป่วยหนักและเสียชีวิตได้

 

กระทรวงสาธารณสุข จึงได้จัดหา LAAB  ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป สามารถออกฤทธิ์ลบล้างเชื้อไวรัสก่อโรค "โควิด-19" ทั้งสายพันธุ์ดั้งเดิมและการกลายพันธุ์ในขณะนี้ โดย น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วร่างกายไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ หรือ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันโรค "โควิด-19" ต่ำ สามารถติดต่อเข้ารับการฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป หรือ Long Acting Antibody (LAAB) ได้ที่สถานพยาบาล ซึ่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกำหนดทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.2565 เป็นต้นไปนั้น 

ฐานเศรษฐกิจ พาไปทบทวนและทำความรู้จัก LAAB กันอีกรอบว่า คือ อะไร และใครที่ควรได้รับการฉีด LAAB ชนิดนี้กันบ้าง 


LAAB คืออะไร 

ข้อมูลจาก แอสตร้าเซนเนก้า อธิบายว่า ยาแอนติบอดีออกฤทธิ์ยาว (Long-acting Antibody - LAAB) ภายใต้ชื่อ Evusheld (ชื่อเดิม AZD7442) เป็นยาแอนติบอดีชนิดเดียวที่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้นำมาใช้ในภาวะฉุกเฉินในสหรัฐอเมริกา สำหรับการป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19

 

ทั้งนี้ ข้อมูลจากการศึกษาระยะที่ 3 แสดงให้เห็นว่า Evusheld หนึ่งโดส สามารถให้การป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยาวนานในกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงสูง

คนกลุ่มไหนควรได้รับการฉีด LAAB 

 

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้อธิบายถึงการใช้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป หรือภูมิคุ้มกันออกฤทธิ์ชนิดยาว (Long Acting Antibody : LAAB) ว่า เหมาะกับประชาชนกลุ่มหนึ่งที่ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้ไม่ดี โดย 1 กล่องมีภูมิคุ้มกัน 2 ชนิด บรรจุ 2 ขวด ฉีดพร้อมกันครั้งเดียวบริเวณสะโพก ฉีดแล้วมีภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคโดยตรงอยู่ได้นาน 6 เดือน 

 

ข้อบ่งใช้ คือ ใช้ป้องกันล่วงหน้าก่อนรับเชื้อสำหรับคนที่ร่างกายตอบสนองภูมิคุ้มกันไม่ดี หรือ แพทย์ที่ดูแลคนไข้มองว่า ควรรับ LAAB ถือเป็นเปิดกว้างให้เข้าถึงมากที่สุดเนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีการเสียชีวิตสูง คือ

 

  • เด็ก 12 ปีขึ้นไป
  • กลุ่มผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่มีการฟอกเลือด ล้างไตหน้าท้อง และปลูกถ่ายไต
  • ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ และรับยากดภูมิคุ้มกัน

 

"LAAB" เป็นภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปที่แตกต่างจากวัคซีนโดยจะช่วยเสริมภูมิคุ้มกันในผู้ที่ตอบสนองต่อวัคซีนได้น้อยกว่าคนทั่วไป โดยมีกลุ่มเป้าหมายระยะแรก เช่น ผู้ป่วยไตวายระยะเรื้อรังที่ต้องได้รับการบำบัดทดแทนไต (ฟอกไต) ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ป่วยปลูกถ่ายไขกระดูก โดยกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวสามารถปรึกษาแพทย์เพื่อรับการพิจารณาในการเสริมภูมิคุ้มกันโควิดด้วย LAAB ได้

 

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้รับมอบ LAAB ล็อตแรกแล้วจำนวน 7,000 โดส เมื่อวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา จากที่สั่งซื้อไป 2.5 แสนโดส โดยที่เหลือจะทยอยจัดส่งเข้ามาจนครบภายในปีนี้