กรมควบคุมโรค ประเมินผู้ป่วยโควิดสีเขียวแนวโน้มพุ่งขึ้น 10 เท่า  

04 ก.ค. 2565 | 17:45 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.ค. 2565 | 00:46 น.

สถานการณ์โควิดล่าสุด กรมควบคุมโรค ประเมินผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเขียวมีแนวโน้มพุ่ง 10 เท่าของผู้ป่วยอาการรุนแรง แนะ กลุ่ม 608 เข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น

4 กรกฎาคม 2565 นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงสถานการณ์ของโรคโควิด 19 ว่า ขณะนี้มีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อมากขึ้น 
หลังจากการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ แต่ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มีอาการน้อยไม่รุนแรง หรือเรียกว่า ผู้ป่วยสีเขียว และคาดว่า อาจมีจำนวนมากกว่า 10 เท่า ของผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล

 

กระทรวงสาธารณสุขจึงเน้นการติดตามสถานการณ์และรายงานตัวเลขผู้ป่วยที่มีอาการหนัก ใส่ท่อช่วยหายใจ และผู้เสียชีวิตเป็นหลัก ซึ่งกลุ่มดังกล่าวมีผลกระทบต่อระบบรองรับทางสาธารณสุขเละการแพทย์ จึงจำเป็นต้องจับตาและรายงานสถานการณ์จำนวนผู้ป่วยที่อาการรุนแรงเป็นหลักเพื่อนำมาวิเคราะห์หรือกำหนดแนวทางมาตรการต่าง ๆ ในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้โดยในปัจจุบันมีการครองเตียงระดับ 2-3 อยู่ที่ 10% ของจำนวนเตียงทั้งหมด

ทั้งนี้ ขอให้มั่นใจว่า การเผยแพร่ทุกข้อมูลเป็นไปตามนานาชาติดังเช่นหลายประเทศที่ปรับระบบการรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อจากรายวันเป็นรายสัปดาห์ หรือรายงานเฉพาะการเสียชีวิต และที่สำคัญระบบสาธารณสุขเตรียมความพร้อมทรัพยากรสามารถรองรับได้ เพียงพอทั้งเตียง แพทย์ ยา และเวชภัณฑ์

 

ส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อที่มีอาการน้อยสามารถติดตามได้จากข้อมูลทะเบียนผู้ติดเชื้อที่ไม่จำเป็นต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล ที่เว็บไซต์กรมควบคุมโรค หรือเฟซบุ๊กเพจกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และเฟซบุ๊กเพจศูนย์ข้อมูล COVID-19 กรมประชาสัมพันธ์

ด้านนพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กล่าวว่า ที่สำคัญคือการควบคุมการระบาดของโรคโควิด 19 โดยเน้นมาตรการ 2U คือ Universal Prevention คือ การป้องกันการติดเชื้อ โดยการเว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อย ๆ สวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในสถานที่แออัด

 

หากพบมีอาการน่าสงสัยควรตรวจหาเชื้อ และ Universal Vaccination คือ ให้มารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มที่ 3 เป็นพื้นฐาน และฉีดเข็มกระตุ้นต่อไปทุก 4 เดือน เพื่อยกระดับภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 คือ คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตหากติดเชื้อ


ทั้งนี้ แม้ภาพรวมการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มที่ 3 จะยังไม่ถึง ร้อยละ 60 แต่หากพิจารณาในรายจังหวัดจะพบว่า มีหลายจังหวัดที่มีผู้สูงอายุได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเกิน ร้อยละ 60 ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ และภูเก็ต 

 

ขอความร่วมมือให้จังหวัดที่ยังมีความครอบคลุมวัคซีนเข็มกระตุ้นต่ำกว่าเป้าหมายช่วยกันรณรงค์ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับความปลอดภัยในการรับมือกับโรคโควิด 19 ที่จะปรับมาเป็นโรคประจำถิ่น หรือโรคติดต่อทั่วไปในอนาคต และกลับมาดำเนินชีวิตใกล้เคียงปกติที่สุด