2 เมษายน 2568 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาโรงพยาบาลขาดสภาพคล่องทางการเงิน ที่ รพ.ชัยภูมิและรพ.ขอนแก่นว่า รายได้หลักของโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศที่นำมาใช้จ่ายในการพัฒนาบริการประชาชน มาจากเงินค่ารักษาพยาบาลที่เรียกเก็บจากกองทุนสุขภาพต่าง ๆ
ส่วนใหญ่มาจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งยังต่ำกว่าต้นทุนค่ารักษาพยาบาลจริงอยู่มาก รวมทั้งยังมีบางส่วนที่เรียกเก็บไม่ครบถ้วนหรือเรียกเก็บไม่ได้ ทำให้เกิดการขาดสภาพคล่องสะสมต่อเนื่อง และส่งผลกระทบต่อการพัฒนาและการจัดบริการประชาชนในที่สุด
แนวทางแก้ไขจึงมี 2 ส่วนสำคัญ คือ การเพิ่มรายได้ ด้วยการพัฒนาศักยภาพการบริการในกลุ่มผู้รับบริการนอกระบบหลักประกันสุขภาพ รวมทั้งพัฒนาระบบเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่ครอบคลุม และลดรายจ่ายที่เกินความจำเป็น อาทิ รวมคลังยา/วัสดุการแพทย์ย่อย ลดการตรวจเอกซเรย์/แล็บซ้ำ เป็นต้น
ในส่วนของโรงพยาบาลชัยภูมิ ข้อมูลเดือนกุมภาพันธ์ 2568 พบว่าขาดสภาพคล่อง 216 ล้านบาท มีการพัฒนาศักยภาพการบริการขั้นสูง อาทิ ศูนย์สวนหัวใจ ศูนย์หลอดเลือดสมอง การผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายกระจกตา ร่วมกับการใช้ระบบดิจิทัลเพิ่มความสะดวกให้ผู้รับบริการ
เพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่ายค่ารักษาจากกองทุนสุขภาพ ลดการสำรองยา/วัสดุคงคลัง ช่วยให้โรงพยาบาลมีรายได้หมุนเวียนมาพัฒนาต่อเนื่อง ที่สำคัญ คือ การจัดทำแผนการใช้จ่ายเงินบำรุงและควบคุมกำกับรายรับ - รายจ่ายให้เป็นไปตามแผนฯ
สำหรับโรงพยาบาลขอนแก่น ซึ่งขาดสภาพคล่องสะสมจนถึงเดือนมีนาคม 2568 รวม 1,237 ล้านบาท พบปัญหาหลายส่วน เช่น การจ้างลูกจ้างที่เพิ่มขึ้นกว่า 22% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้มีต้นทุนบริการที่สูงขึ้นมากซึ่งแม้จะมีศักยภาพด้านการบริการขั้นสูงและมีการจัดคลินิกพิเศษเฉพาะทางหลายสาขาเพื่อสร้างรายได้เข้าโรงพยาบาล
รวมทั้งมีการปรับปรุงประสิทธิภาพการเบิกจ่ายค่ารักษาจากกองทุนสุขภาพ และควบคุมกำกับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แต่เนื่องจากยอดขาดสภาพคล่องที่สูงทำให้กระทบต่อการดำเนินงาน จึงมีข้อสั่งการเพื่อเป็นแนวทางแก้ไขปัญหา ดังนี้
1. สื่อสารภายในองค์กรให้บุคลากรได้รับรู้ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น 2. ให้เจ้าหน้าที่ทุกระดับได้ร่วมกันแก้ไขปัญหา 3. เปิดเผยข้อมูลที่โปร่งใสต่อสาธารณะ และ 4. ให้มีการติดตามกำกับอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ มอบหมายให้ นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 7 เป็นประธานคณะกรรมการติดตามสถานการณ์และวางนโยบายแก้ไขปัญหา และ นพ.ภาคี ทรัพย์พิพัฒน์ สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 7 เป็นประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหา ทำงานร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลและคณะทำงานของโรงพยาบาลขอนแก่นอย่างใกล้ชิด เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหาขาดสภาพคล่องของโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด