thansettakij
สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ลด เหลือ "สุโขทัย" พื้นที่สีแดง 1 จังหวัด 

สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ลด เหลือ "สุโขทัย" พื้นที่สีแดง 1 จังหวัด 

27 ม.ค. 2568 | 09:20 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ม.ค. 2568 | 09:22 น.

ศูนย์ฯ PM 2.5 สธ. เผย ข่าวดีสถานการณ์ฝุ่นลดลง เหลือ "สุโขทัย" เป็นพื้นที่ระดับสีแดงเพียง 1 จังหวัดคาดค่าฝุ่นพิษมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอีก 3 วันข้างหน้า เตือนประชาชนพร้อมรับมือเลือกใช้หน้ากากอนามัยให้เหมาะสมโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง

27 มกราคม 2568 ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ด้านแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 พร้อมด้วย พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค แถลงแนวทางการดูแลสุขภาพจากสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 โดย ดร.นพ.วรตม์ กล่าวว่า ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษวันนี้สถานการณ์ในภาพรวมดีขึ้น

ค่าฝุ่น PM2.5 ลดลงทุกพื้นที่ เหลือระดับสีแดงมีผลกระทบต่อสุขภาพ (มากกว่า 75 มคก./ลบ.ม. ขึ้นไป) เพียงจังหวัดเดียว คือ สุโขทัย และอีก 37 จังหวัด อยู่ในระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (37.6 - 75 มคก./ลบ.ม) โดยมีการเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็กแล้ว 20 จังหวัด 

อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่า ช่วงวันที่ 31 มกราคม 2568 ค่าฝุ่น PM 2.5 จะกลับมาเพิ่มขึ้นในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอีกครั้งทั้งในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกจึงขอให้ประชาชนตรวจสอบค่าฝุ่นทุกวันและปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

ด้าน พญ.จุไร กล่าวว่า กลุ่มที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 สูง ได้แก่ เด็กเล็กซึ่งมีอัตราการหายใจสูงกว่าผู้ใหญ่, หญิงตั้งครรภ์ ซึ่งจะส่งผลต่อทารกในครรภ์และทำให้คลอดก่อนกำหนด, ผู้สูงอายุ ซึ่งระบบหายใจมีความเสื่อมตามวัย, ผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง อาทิ ตำรวจจราจร พนักงานกวาดถนน/เก็บขยะ พ่อค้าแม่ค้าริมทาง มอเตอร์ไซค์รับจ้าง คนงานก่อสร้าง ซึ่งมีโอกาสสัมผัสฝุ่นเวลานาน และผู้ที่สูบบุหรี่ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคปอด โรคหืด โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง

สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ลด เหลือ \"สุโขทัย\" พื้นที่สีแดง 1 จังหวัด 

ส่วนผู้ที่มีโรคประจำตัว 4 กลุ่มโรค คือ กลุ่มโรคทางเดินหายใจ ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคหืด กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด กลุ่มโรคตาอักเสบ และกลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ ในช่วงที่สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 สูงเกินมาตรฐาน อาจเกิดอาการกำเริบได้ จึงควรดูแลตนเองเป็นพิเศษ

ทั้งนี้ หน้ากากแต่ละประเภทจะมีประสิทธิภาพในการกรองฝุ่น PM 2.5 ต่างกันจึงต้องเลือกหน้ากากให้เหมาะสมกับแต่ละกลุ่มและสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 โดยหน้ากาก N95 ทั้งแบบมีวาล์ว และไม่มีวาล์ว สามารถกรองฝุ่นได้ 95%

ส่วนหน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่น PM2.5 (กรณีแนบสนิทใบหน้า) กรองฝุ่นได้ 50-70% ทั้งสองประเภทนี้สามารถใช้ได้ทุกกลุ่ม สำหรับหน้ากากผ้าฝ้าย 3 ชั้น กรองฝุ่นได้ประมาณ 40% และหน้ากากผ้ามัสลิน กรองได้ประมาณ 37% ไม่เหมาะกับผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข มีการสำรองหน้ากากอนามัย ประกอบด้วย หน้ากากอนามัยใช้แล้วทิ้ง (Surgical Mask) 7.3 ล้านชิ้น อัตราการใช้ 3.3 ล้านชิ้น/เดือน มีกำลังการผลิต 10 ล้านชิ้น/เดือน และหน้ากากกรองอากาศ ชนิด N95 จำนวน 6 แสนชิ้น อัตราการใช้ 1.7 แสนชิ้น/เดือน มีกำลังการผลิต 2.4 แสนชิ้น/เดือน ซึ่งเพียงพอสำหรับการใช้อย่างน้อย 2 เดือน

สำหรับพื้นที่สีส้ม จะแจกให้กับผู้สูงอายุ และกลุ่มเสี่ยงสูง ส่วนพื้นที่สีแดง แจกให้กับกลุ่มเสี่ยงที่เปราะบางและประชาชนผู้ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ดังกล่าวสามารถขอรับหน้ากากอนามัยได้ที่โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ ตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม 2568 เป็นต้นไป

สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ลด เหลือ \"สุโขทัย\" พื้นที่สีแดง 1 จังหวัด