เส้นตาย30ก.ย.ตรวจอาคาร กทม.เลิกผ่อนผันขู่คุก 3 เดือน-ปรับวันละหมื่นบาท
กทม.ขีดเส้นตาย 4,000 อาคาร9 ประเภท เร่งตรวจสอบโครงสร้างความมั่นคง ภายใน 30 ก.ย.หลังผ่อนผันมานาน ขู่ยังเพิกเฉยเจอคุก 3 เดือน ปรับวันละ 1 หมื่นบาท ระบุโรงหนัง-โรงแรม-คอนโดฯเลี่ยงก.ม.เพียบ รมว.มหาดไทยสั่งไล่เอกซเรย์กว่า2 ล้านอาคารทั่วกรุง หากพบไม่แข็งแรงใช้ ม.46 ทุบทิ้งได้ทันที ด้านวสท.อาสาช่วยฝึกอบรม
ตามที่หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 3,190 ประจำวันที่ 8-10 กันยายน 2559 ได้นำเสนอข่าว "เช็กบิลหมื่นตึกเสี่ยง" นั้น จากการตรวจสอบในเชิงลึกไปยังสำนักงานโยธา กรุงเทพมหานคร พบว่าหลังเกิดเหตุเพลิงไหม้ โรงภาพยนตร์ สืบเนื่องจาก เกิดเหตุเพลิงไหม้ โรงภาพยนตร์เมเจอร์สาขาปิ่นเกล้า ซึ่งเป็น 1 ในอาคาร 9 ประเภทที่อยู่ในข่ายต้องตรวจสอบความปลอดภัยและความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้างอาคารเป็นประจำทุกปี ส่งผลให้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.1) สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอดจนท้องถิ่นทั่วประเทศ ตรวจสอบทั้งอาคาร 9 ประเภท และ อาคารทั่วไปที่ มีความเสี่ยงและรายงานต่อกระทรวงทันที
ขีดเส้น4,000อาคารยื่นตรวจ
ต่อเรื่องนี้ นายนพดล ฉายปัญญา ผู้อำนวยการกองควบคุมอาคาร สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าขณะนี้ กทม.ผ่อนผันให้อาคาร 9 ประเภท กว่า 4,000 อาคาร ที่กทม.ยังไม่ออกใบรับรองการตรวจสอบอาคาร (ร.1) ให้กับอาคารที่มีสภาพพร้อมใช้งาน หรือการออกคำสั่งให้อาคารปรับปรุงโดยเจ้าพนักงานท้องถิ่น เนื่องจาก อาคารดังกล่าว ละเลยการจัดหาบริษัทตรวจสอบอาคารหรือวิศวกรมาตรวจสอบอาคารเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้อาคาร ตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การตรวจสอบอาคาร พ.ศ. 2548 ออกตามความในพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ควบคุมอาคารพ.ศ.2522
โดยจะต้องจัดหาบริษัทตรวจสอบอาคารมาตรวจสอบและยื่นแจ้งต่อสำนักงานเขต ทั้ง 50 เขตและสำนักการโยธา กทม. ภายในวันที่ 30 กันยายน นี้ หลังผ่อนผันเป็นระยะเวลา 60 วัน นับจากวันที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นตรวจพบ ทั้งนี้อาคาร 9 ประเภทที่อยู่ในข่ายตรวจสอบ ประกอบด้วย1. อาคารสูง 2.อาคารขนาดใหญ่พิเศษ 3.อาคารชุมนุมคน 4.โรงแรม5.ป้ายขนาดใหญ่6.โรงมหรสพ7.สถานบริการ 8.โรงงาน และ9. อาคารอยู่อาศัยรวม
โทษถึงคุก-ปรับวันละหมื่น
ผอ.กองควบคุมอาคารฯ กทม. กล่าวต่อว่า สำหรับเหตุผลที่กทม. ผ่อนผัน แทนการจับปรับดำเนินคดีทันทีเกิดจาก เจ้าของอาคารอ้างว่าไม่ทราบว่ามีกฎกระทรวงตรวจสอบอาคาร 9 ประเภท ซึ่งอาคารในกลุ่มที่ ละเลยการจัดหาบริษัทตรวจสอบอาคาร จำนวน 4,000 อาคาร จะเป็นอาคารประเภท โรงแรมและคอนโดมิเนียมขนาดเล็กและ โรงภาพยนตร์ดัง ซึ่งล่าสุด อาคารดังกล่าวได้แจ้งมายังกทม.จำนวนมากแล้ว และมั่นใจว่า จะยื่นแจ้งว่ามีจัดหาและตรวจสอบอาคารแล้วทั้งหมดตามระยะเวลาที่กำหนดดังกล่าว เพื่อต้องการให้อาคารดังกล่าวเข้ามาอยู่ในระบบการตรวจสอบ ที่ปัจจุบันมีอาคาร 9 ประเภท นับหมื่นอาคารในกทม. อย่างไรก็ดี หากผ่อนผันแล้วยังเพิกเฉยอีก กทม.จะดำเนินการตามกฎหมายทันที คือ ปรับ เป็นเงินจำนวน 6 หมื่นบาท จำคุก 3 เดือนหรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับเป็นรายวันจำนวน 1 หมื่นบาท จนกว่าจะหาบริษัทตรวจสอบมาแสดงต่อเจ้าพนักงานของกทม.
"จะมีการร่วมมือกัน 3 หน่วยงาน ในการตรวจสอบอาคาร9ประเภท คือ กรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นผู้ประกาศกฎระเบียบ โดยมีนิติบุคคลผู้ตรวจสอบอาคารหรือในนามบุคคลไปตรวจสอบ และ เมื่อตรวจสอบแล้ว ก็ไปยื่นกับกทม.ก่อนออกใบอนุญาตรับรองหรือท้องถิ่นในภูมิภาค ที่เน้นมาก ๆ จะเป็น เครื่องดับเพลิง สายดับเพลิง ความมั่นคงแข็งแรง"
มท.1คุมเข้มต้องปลอดภัยทั้งเมือง
นายนพดล ยังกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา พล.อนุพงษ์ มท.1 สั่งการให้ กทม. ร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมืองรวมทั้ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ร่วมกันตรวจสอบอาคารเสี่ยงทั่วประเทศ โดยเฉพาะในเขตกทม.อาคารสาธารณะ อาคารพักอาศัยรวม อาคารสูงอาคารขนาดใหญ่พิเศษ มีจำนวนมากและมีอยู่เข้าใช้อาคารจำนวนมากเช่นกัน หากปล่อยให้หลบเลี่ยง เจ้าพนักงานท้องถิ่นละเลย จะส่งผลเสียตามมา
นอกจากนี้มท.1 ยังเน้นย้ำว่า ทุกอาคารทุกพื้นที่จะต้องปลอดภัยทั้งเมืองและไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยกับโรงภาพยนตร์ เมเจอร์ สาขาปิ่นเกล้าขึ้นอีก ขณะเดียวกันยอมรับว่า โรงภาพยนตร์เมเจอร์ หลายสาขาในเขตกทม.ไม่ได้ยื่นร.1 รายงานผลการตรวจสอบอาคาร แต่เชื่อว่าต่อจากนี้ไป หลายอาคารในกทม.จะอยู่ในระบบควบคุมความปลอดภัยต่อการใช้อาคารทั้งหมด ทั้งนี้ที่ผ่านมา มท.1 ต้องการให้ตรวจสอบอาคารให้แล้วเสร็จและจัดให้เข้าระบบกฎหมายทั้งหมดภายในเดือนกรกฎาคม 2559 แต่ปรากฏว่า มีปริมาณอาคารที่ต้องตรวจเช็กจำนวนมาก จึงต้องใช้เวลาเพื่อไม่ให้ เกิดปัญหาเล็ดลอดได้อีก
กางผังเมืองชี้จุดก่อนเข้าชาร์ต
สำหรับวิธีการตรวจสอบอาคาร 9 ประเภท นอกจาก การร้องเรียนจากประชาชนเป็นผู้ชี้เป้าแล้ว สำนักการโยธา กทม. ยังได้รับความร่วมมือ จากสำนักผังเมืองเป็นผู้ชี้เป้าอาคาร โดยใช้ แผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดินตามผังเมืองรวมกทม. เป็นตัวกำหนด ว่าอาคารประเภทไหนตั้งอยู่บริเวณไหน เมื่อทราบพื้นที่เป้าหมายสำนักการโยธา กทม. จะเข้าตรวจสอบได้ทันที เพราะ อาคารสำคัญๆ ที่มีคนเข้าไปใช้สอยอาคารในแต่ละวันจำนวนมากๆ จะไปตามผังเมืองโซนการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพราะแต่ละผังย่านสำคัญๆที่สร้างอาคารสูงอาคารขนาดใหญ่ อาคารพักอาศัยรวม โรงภาพยนตร์ จะอยู่ในทำเล ที่มีศักยภาพ อาทิ ทำเลเกาะแนวรถไฟฟ้า เป็นต้น ว่าอยู่บริเวณไหนบ้าง และ สำนักการโยธาก็สามารถเข้าไปตรวจจับได้ตรงเป้าหมาย ซึ่ง อาคาร 9 ประเภททุกอาคารจะต้องยื่นร.1 กทม.ได้ประชาสัมพันธ์ไปทุกพื้นที่
"ล่าสุดขณะนี้ กว่า 4,000 ราย เจ้าของ เริ่มยื่นตรวจสอบแล้ว ทั้งนี้การตรวจสอบอาคาร จะดูว่าระบบดับเพลิง ลิฟท์โดยสาร ทางหนีไฟ พร้อมใช้งานหรือไม่ รวมถึงโครงสร้างภายในอาคาร ว่ามีความปลอดภัยหรือไม่อย่างไร" ผอ.กองควบคุมอาคารฯ กทม. กล่าว
เพิ่มความถี่เอกซเรย์ตึกทั่วกรุง
นอกจากนี้ พล.อ.อนุพงษ์ ยัง มอบหมายให้ กทม.ตรวจสอบอาคารอื่นๆทุกประเภทนอกเหนือไปจากอาคาร 9 ประเภทที่อยู่ในข่ายอาคารเสี่ยงไม่มั่นคงแข็งแรงซึ่งอาคารในกทม.ทั้งหมด มีกว่า 2 ล้านอาคาร
นายนพดล สะท้อนว่ากทม.จะต้องตรวจสอบสภาพอาคาร ทั้งกว่า 2 ล้านอาคารซึ่ง ปกติ เจ้าพนักงานท้องถิ่นแต่ละเขตทั้ง 50 เขต รวมทั้งเจ้าพนักงานจากส่วนกลางจากสำนักการโยธากทม. จะ ลงพื้นที่ ตรวจสอบอาคารที่มีความเสี่ยงทุกวันอยู่แล้ว แต่ขณะนี้ได้เพิ่มความถี่ มากขึ้น คือ จาก 1 วันต่อเจ้าหน้าที่ 1คนตรวจสอบอาคารในพื้นที่ 2 รายต่อวัน ก็เพิ่มเป็น 7-8 ราย ต่อคนต่อวัน และยิ่งล่าสุด อาคารพาณิชย์ของสำนักงานตลาด ย่านประชานิเวศน์เขตจตุจักร จำนวน 177 คูหาได้พังถล่ม ลงมาจำนวน 12 คูหา กทม.ก็ยิ่งเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบมากขึ้น
ใช้ม.46 ทุบทิ้งอาคารเสี่ยง
โดยก่อนหน้านี้ สำนักการโยธา กทม. ได้ แจ้งต่อ ประชาชนผู้ใช้อาคารของสำนักการตลาดกทม.แล้วว่า ห้ามใช้อาคารดังกล่าวต่อไป เนื่องจาก พบว่าอาคารไม่มีสภาพพร้อมใช้งานและเสี่ยงต่ออันตราย แต่ประชาชน กว่า 1,000 รายไม่ยินยอมออกจากพื้นที่ เพราะเป็นย่านค้าขายทำเลดี ทำให้เกิดการพังถล่มในที่สุดเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2559 ที่ผ่านมา และขณะนี้ เบื้องต้นทราบว่าชาวบ้านผู้ใช้อาคารได้ยินยอมออกทั้งหมดแล้ว ทั้งนี้อาคารทั่วไป กทม.จะใช้มาตรา 46 ตามกฎหมายควบคุมอาคาร และกฎกระทรวงฉบับ ที่ 47 ให้อำนาจพนักงานท้องถิ่น สั่งรื้อถอน อาคารที่เห็นว่าไม่ปลอดภัยได้ทุกอาคาร โดยสังเกตได้จาก 1.อาคารที่มีการทรุดตัว-เอียงผิดปกติ 2.การแตกร้าวของคานและเสา จนมองเห็นเหล็กด้านในเป็นต้น
อย่างไรก็ดี กทม.อยากให้ชาวบ้าน เจ้าของอาคาร เป็นหูเป็นตาแทนหากพบความผิดปกติ ให้รีบแจ้งเจ้าพนักงานท้องถิ่นโดยเร็วที่สุด ส่วนแฟลตดินแดง ได้มีการตรวจสอบแล้ว พบว่าเป็นอาคารเสี่ยงที่มีรอยแตกร้าว แต่ขณะเดียวกัน การเคหะแห่งชาติ ได้ว่าจ้าง สถาบันการศึกษา ได้ตรวจสอบระบุว่าไม่ควรให้ผู้พักอาศัย ใช้อาคาร ที่ผ่านมีการคัดค้านมาตลอด จนในที่สุดได้มีการเจรจาจน การเคหะฯ มีแผนทยอยรื้อถอนอาคารเก่าเพื่อก่อสร้างใหม่
500 ตึกสร้างผิดแบบ
นอกจากนี้ กทม.ยังตรวจสอบพบว่ามีอาคารก่อสร้างผิดแบบอีก จำนวน 500 ราย ซึ่งมีความเสี่ยงที่ จะไม่ปลอดภัย เพราะก่อสร้างไม่ตรงกับแบบซึ่งมีทั้งอาคารเล็กและอาคารใหญ่ มีทั้งประเภทตั้งใจและ ไม่ตั้งใจ เช่น ระยะถอนร่นผิด สร้างกำแพงเสาผิดแบบ อาคาร 3 ชั้นไม่เว้นระยะถอยร่นห่างจากอาคารข้างเคียง 3 เมตร ซึ่งจะเปิดหน้าต่างไม่ได้ หากไม่ต้องการแก้ไขก็ต้องสร้างผนังทึบเป็นต้น
ขณะเดียวกันยังมีอาคารขออนุญาตเปลี่ยนแปลงการใช้อาคารที่ได้รับผ่อนผัน จาก อาคารพักอาศัยเป็น โรงแรม จำนวน 1 พันอาคาร ซึ่งสามารถขออนุญาตใช้ตามกฎหมายควบคุมอาคารเดิมได้โดยไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายโรงแรม และ อีกประเภท ซื้ออาคารประเภทห้องแถวไปทำโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งถือว่าใช้อาคารผิดประเภท ซึ่งต้องมีการตรวจสอบ เพราะอาจก่อให้เกิดมลพิษทางเสียง มีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ดี มั่นใจว่า อาคารในกทม.ส่วนใหญ่มั่นคงแข็งแรง โดยเฉพาะอาคารสูงอาคารขนาดใหญ่และอาคารขนาดใหญ่พิเศษ เนื่องจาก มีขั้นตอนการตรวจสอบค่อนข้างเข้มข้น หากพบว่าก่อสร้างผิดแบบก็จะสั่งรื้อถอน ทั้งนี้แม้อาคารจะมีอายุสูงถึง 70 ปี ก็ไม่มีปัญหา หาก หมั่นตรวจสอบ ที่สำคัญการออกแบบอาคารและใช้วัสดุก่อสร้างที่ได้มาตรฐาน ดูได้จากโรงแรมดุสิตธานี โรงแรมอินทราฯลฯ ซึ่งเป็นอาคารเก่าแต่สภาพโครงสร้างอาคารยังอยู่ในสภาพที่ดีมาก
วสท.อาสาจัดอบรมผู้ตรวจสอบ
ขณะที่ รศ.เอนก ศิริพานิชกร ประธานสาขาวิศวกีรรมโยธา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมป์ (วสท.) กล่าวว่า วสท.ได้มีบทบาทในการพัฒนาบุคลากรผู้ตรวจสอบอาคาร สำหรับประเทศไทยโดยจัดฝึกอบรมเพื่อให้ผู้เข้าอบรมเข้าใจวิธีการตรวจสอบสภาพอาคาร สามารถวิเคราะห์หาต้นเหตุที่จะนำไปบริหารจัดการ ทั้งนี้หากรายใดผ่านการอบรมหลักสูตรนี้และผ่านการสอบตามเกณฑ์กำหนด สามารถจดทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบได้ อีกทั้งเพื่อต้องการให้มีผู้ตรวจสอบ ดำเนินการตรวจสอบให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั้งประเทศ
ทั้งนี้สำหรับอาคารที่ต้องตรวจสอบตามกฎกระทรวงอาคาร 9 ประเภท ต้องตรวจสอบทุกปี เพื่อต่อใบอนุญาตรวมทั้งตรวจใหญ่ทุก 5 ปี ซึ่งปัจจุบันเจ้าของค่อนข้างละเลย จึงทำให้เกิดความเสี่ยง คาดว่ามีอาคารเก่า กว่า 4,000 อาคาร ในกทม.ที่ไม่เคยจ้างผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบอาคารเลย
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,192 วันที่ 15 - 17 กันยายน พ.ศ. 2559