ลุ้นกทม.ปรับผังเมืองใหม่รองรับแผนพัฒนาพหลโยธินคาดรู้ผลส.ค.-ก.ย.นี้

12 ก.ค. 2559 | 09:00 น.
ลุ้นกทม.เสนอปรับผังเมืองใหม่รับแผนพัฒนาศูนย์พหลโยธิน ชี้มีผลกระทบแผนพัฒนาพื้นที่รูปแบบ TOD อาจใช้ระยะเวลากว่า 1 ปีดำเนินการ ล่าสุดญี่ปุ่นส่งไจก้าเกาะติดโครงการ แย้มไต๋อาจช่วยงบศึกษาออกแบบรายละเอียดให้ฟรี มี 2 แนวทางการลงทุนคือ G to Gและ PPP 20% ผลศึกษาเผยแนว BRT ชัดเจนแล้วใช้งบลงทุนกว่า3,300 ล้านบาท เร่งเสนอสคร.ปลายปีนี้ พร้อมเร่งก่อสร้างให้ทันเปิดบริการปี 64

[caption id="attachment_69818" align="aligncenter" width="700"] ผังโครงข่ายคมนาคมบริเวณพื้นที่โคตรงการ ผังโครงข่ายคมนาคมบริเวณพื้นที่โคตรงการ[/caption]

นางสุภาพรรณ สง่าศรี ผู้จัดการโครงการศึกษาออกแบบรายละเอียดศูนย์คมนาคมพหลโยธิน เปิดเผยว่า สำนักผังเมืองกรุงเทพมหานคร(กทม.) อยู่ระหว่างการเตรียมที่จะประกาศปรับผังเมืองรอบใหม่ดังนั้นต้องมีกฏหมายมารองรับการพัฒนาพื้นที่ศูนย์พหลโยธินพื้นที่ 2,325 ไร่ซึ่งเป็นพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) โดยอาจจะต้องประกาศเป็นผังเมืองพิเศษ คาดว่าภายในเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้คงเห็นความชัดเจนขึ้น

ดังนั้นหากการพัฒนาพื้นที่ทั้ง 2,325 ไร่นี้เป็นไปในรูปแบบการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (Transit Oriented Development:TOD) เพราะหากเป็น TOD ปริมาณรถยนต์ในพื้นที่จะน้อยลง เน้นทางเดินและจักรยาน ดังนั้นโครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง (BRT) อาจปรับเป็นโมโนเรลได้ หากมีการรีวิวใหม่ อีกทั้งในเร็วๆนี้สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพหรือหมอชิตแห่งที่ 2 จะต้องย้ายออกจากพื้นที่ สถานีบริการผู้โดยสารของบริษัทขนส่งจะปรับเป็นพื้นที่รองรับรถตู้โดยสารบนพื้นที่ 16 ไร่ ศูนย์ BRT ที่กำหนดไว้ก็จะมีพื้นที่รองรับมากขึ้น ส่งผลให้สามารถใส่ระบบรองเข้าไปเพิ่มได้มากขึ้นทำให้ BRT สามารถเดินทางให้บริการได้อย่างไหลลื่นไม่ต้องรอสัญญาณไฟแดงที่นานเกินไป

"เนื่องจาก TOD จะต้องมีการจำกัดปริมาณรถที่จะเข้าไปในพื้นที่นั้นๆจะส่งผลให้การใช้บริการ BRT มีปริมาณมากขึ้นได้ซึ่งกว่าที่จะประกาศเป็นกฏหมายจะต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการประมาณ 1 ปีหรือประมาณ 18 เดือนในการดำเนินงานตามกระบวนการของผังเมืองพิเศษ"

นางสุภาพรรณกล่าวอีกว่า หากคิดราคาเฉพาะในส่วนทางเดินสกายวอร์ค มูลค่าประมาณ 800-900 ล้านบาทแต่หากรวมเอาการก่อสร้างถนนในพื้นที่เข้าไปด้วยคิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 1,500 ล้านบาท ซึ่งระบบขนส่งมวลชนระบบรองนี้จะเชื่อมโยงพื้นที่ทั้ง 2,325 ไร่ผลการศึกษาจะแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคมนี้ แล้วจะมีการประชุมตรวจรับงานของคณะกรรมการกำกับโครงการซึ่งจะต้องมีการกลั่นกรองรายละเอียดก่อนนำเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาเพื่อเสนอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.)

"มูลค่าโครงการ BRT นั้นจะถูกกว่าระบบโมโนเรล 6-7 เท่า หากปริมาณผู้โดยสารไม่เพิ่มมากก็จะไม่เป็นการแข่งขันต่อกันซึ่ง TOD นั้นหลักการต้องเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนที่ง่าย เช่นเดียวกับอัตราค่าโดยสารหากแพงเกินไปก็ไม่โดนใจให้มาใช้บริการแน่ๆ ควรจะเริ่มต้นประมาณ 14-15 บาทโดยหากจะต้องใช้เต็มพื้นที่จะต้องใช้รถ BRT จำนวน 24 คัน

ล่าสุดมีความคืบหน้าในส่วนการลงทุนโครงการนี้แล้วเนื่องจากได้รับการติดต่อจากที่ปรึกษาฝ่ายรัฐบาลญี่ปุ่นคือองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น(ไจก้า) ติดต่อผ่านสนข.เพื่อขอหารือเรื่องการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวนี้

"ภายหลังวันที่ 29 กรกฎาคมนี้ จะเข้ามาหารือกับสนข.อย่างเป็นทางการเนื่องจากฝ่ายญี่ปุ่นสนใจการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นไปในรูปแบบ TOD ที่อาจจะต้องใช้เทคโนโลยีของญี่ปุ่นเข้ามาช่วยดำเนินการโดยฝ่ายญี่ปุ่นมองเรื่องการลงทุน 2 ช่องทาง คือ รัฐต่อรัฐ(G to G) และการร่วมทุน(PPP) หากรัฐบาลไทยเปิดให้มีการร่วมลงทุนกับไจก้าของญี่ปุ่น จะมีงบประมาณสนับสนุนในเรื่องการศึกษาออกแบบให้ฟรี โดยฝ่ายญี่ปุ่นมีความสนใจร่วมลงทุน 20%.ของโครงการอีกทั้งสามารถใช้งบจากไจก้ามาศึกษาออกแบบได้ทันที"

ด้านนายวิจิตต์ นิมิตรวานิช นักวิชาการขนส่งทรงคุณวุฒิ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) กล่าวว่า ว่า โครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง(BRT) รวมประมาณ 3,300 ล้านบาท แบ่งเป็นการก่อสร้างสกายวอร์ควงเงินลงทุนประมาณ 1,500 ล้านบาท และเส้นทาง BRT ใช้เงินลงทุนประมาณ 1,800 ล้านบาท ด้านการร่วมลงทุนนั้นจะต้องนำเสนอให้กระทรวงคมนาคมเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.)พิจารณารูปแบบที่เหมาะสม โดยเฉพาะการลงทุนเดินรถ จัดหารถ และบริหารจัดการเดินรถโครงการดังกล่าว

เนื่องจากรูปแบบการพัฒนาโครงการในพื้นที่ย่านพหลโยธินจะนำเสนอในรูปแบบการพัฒนา TOD ที่จะใช้รูปแบบการเดินเท้าและเส้นทางจักรยานมากกว่าจะใช้ระบบขนส่งมวลชนในการเชื่อมโยงพื้นที่เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมด้านต่างๆ โดยคาดว่าจะนำเสนอกระทรวงคมนาคมในช่วงปลายปีนี้ และรอการพิจารณาอีไอเออีกประมาณ 1 ปี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,173 วันที่ 10 - 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2559