สทนช. ดึง บพท. ปั้น "นักบริหารจัดการน้ำ" แก้น้ำท่วม-แล้ง ท้องถิ่น

16 ม.ค. 2568 | 14:18 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ม.ค. 2568 | 14:48 น.

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ดึง บพท. ใช้งานวิจัยปั้น "นักบริหารจัดการน้ำ" แก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง ในท้องถิ่น ดึงเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านน้ำในระดับพื้นที่

วันนี้ (16 มกราคม 2568) นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า สทนช. ได้ร่วมมือกับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านน้ำ โดยเฉพาะการสร้างนักบริหารจัดการทรัพยากรน้ำท้องถิ่นขึ้นในประเทศไทย

นายสุรสีห์ กล่าวว่า ความจำเป็นของการสร้างนักบริหารจัดการน้ำ เพราะที่ผ่านมาแม้ประเทศไทยจะมี พ.ร.บ.น้ำ และแผนแม่บทบริหารจัดการน้ำ 20 ปี แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันกลับมีความเสี่ยงหลายอย่างที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับการเกิดแรงงานคืนถิ่นเพื่อไปประกอบอาชีพเกษตรกรรมจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องเร่งสร้างองค์ความรู้ โดยสร้างนักบริหารจัดการน้ำท้องถิ่น เพื่อช่วยยกขีดความสามารถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ขึ้นมา  

“การสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านน้ำ และนักบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ต้องให้องค์ความรู้และทิศทางในการมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการปรับตัวที่ดี โดยดึง บพท. ที่มีองค์ความรู้ด้านการวิจัยเข้ามาช่วย เชื่อว่าจะมีความสำคัญช่วยทั้งประชาชน และช่วยทั้งประเทศในการขับเคลื่อนบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้” 
 

นายกิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวว่า การพัฒนาและการบริหารจัดการน้ำประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพ ควรทำควบคู่ไปพร้อมกับความร่วมมือทั้งในระดับวิชาการและชุมชน โดยเฉพาะในระดับ อปท. จำเป็นต้องใช้ข้อมูลที่แม่นยำด้านน้ำ ผังน้ำ บริบทของพื้นที่ภูมิปัญญาพื้นถิ่น และเทคโนโลยีนวัตกรรมที่เหมาะสมในการบริหารจัดการน้ำ 

รวมทั้งสร้างกลไกการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของ อปท. ให้เป็นองค์กรที่มีสมรรถนะสูงในการบริหารจัดการน้ำครบวงจร จึงเป็นเป้าหมายสำคัญที่ บพท. ต้องการผลักดันให้เกิดขึ้น ผ่านการขับเคลื่อนด้วยข้อมูลความรู้และนวัตกรรมจากเครือข่ายมหาวิทยาลัยในพื้นที่ และดำเนินการร่วมกับภาคีทุกภาคส่วนในระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม สทนช. และบพท. ยังได้ลงนามบันทึกความเข้าใจโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาหลักสูตรกลางด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างวิสัยทัศน์ ทักษะ และมุมมองเชิงยุทธศาสตร์ด้านการจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ให้แก่บุคลากรระดับผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐ ท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เป็นหลักสูตรสำหรับ Water Academy และสำหรับบุคลากรในระดับพื้นที่ 

ทั้งนี้เพื่อพัฒนาทักษะบริหารจัดการน้ำหรือลุ่มน้ำ ผ่านการเรียนรู้บนฐานสมรรถนะเพื่อให้สามารถพัฒนาฐานข้อมูล กลไกการจัดการ และบูรณาการเครือข่ายความร่วมมือสู่การจัดการน้ำระดับท้องถิ่นต่อไป