ดีอีเอส จับสัญญาณข่าวปลอมเริ่ม “แป้ก” คนเชื่อน้อยลง

18 ก.ย. 2565 | 10:12 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ก.ย. 2565 | 17:15 น.

ดีอีเอส สรุปสถานการณ์ข่าวปลอมรอบสัปดาห์ล่าสุด เห็นสัญญาณบวกคนรู้เท่าทันมากขึ้น โดย 10 อันดับเฟคนิวส์ที่คนสนใจมากสุด ได้รับความสนใจต่ำกว่าหลักร้อย สอดคล้องกับสถิติการแจ้งความออนไลน์ พบจำนวนคดีเกี่ยวกับข่าวปลอมลดลงถึง 80%

นางสาวนพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอีเอส) กล่าวว่า สรุปผลการมอนิเตอร์ และรับแจ้งข่าวปลอมประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 9 - 15 ก.ย. 65 โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม มีจำนวนข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 11,300,442 ข้อความ


หลังจากคัดกรองพบข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) จำนวน 470 ข้อความ โดยเป็นจำนวนเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ 170 เรื่อง 

ขณะที่ ภาพรวมสถานการณ์ข่าวปลอมของไทย เริ่มเห็นแนวโน้มว่าประชาชนรู้เท่าทันข่าวปลอมมากขึ้น ให้ความสนใจต่อข่าวปลอมที่ถูกแชร์ต่อๆ กันน้อยลง โดยพบว่าข่าวปลอมที่ติดอันดับคนสนใจมากสุด 10 ข่าวประจำสัปดาห์นี้ ไม่มีข่าวใดที่มียอดสนใจถึงหลักร้อย

 

สำหรับข่าวปลอมที่มีคนสนใจสูงสุด 10 อันดับ ประกอบด้วย อันดับ 1 เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุขเปิดให้กรอกข้อมูลเพื่อรับเงินช่วยเหลือโควิด 19 อันดับ 2 ดื่มเหล้าติดต่อกัน 7 วัน ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย และหากดื่มขณะตั้งครรภ์ จะช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพ

 

อันดับ 3 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเปิดลงทุนหุ้น ECF กำไรสูง เริ่มต้นลงทุน 1,000 บาท อันดับ 4 ธ. ออมสินปล่อยสินเชื่อออมสินเงินด่วน เงินฉุกเฉิน อนุมัติภายใน 3 นาที  อันดับ 5 พายุหมุ่ยฟ้าจะเข้าภาคอีสานบริเวณจังหวัดมุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี

อันดับ 6 เรื่อง 4 วิธีการปฐมพยาบาลเมื่อสำลักอาหาร ตกหมอน ขาเป็นตะคริว และขาชา อันดับ 7 เรื่อง ธ.ออมสิน ธ.กรุงไทยร่วมกับบริษัทเอกชน เปิดให้กู้ยืม 5,000 - 300,000 บาท ผ่านไลน์

 

อันดับ 8 เสมหะตกค้างในเลือด ปวดหัวเรื้อรัง ปล่อยทิ้งไว้นานจะสะสมเป็นลิ่มเลือดในสมอง เสี่ยงอัมพฤกษ์อัมพาต อันดับ 9 ประเทศไทยในภาคอีสาน ภาคกลาง เตรียมรับมือกับพายุ 4 ลูก และอันดับ 10 ริดสีดวงทวารเรื้อรัง รักษาได้โดยงดเนื้อสัตว์ 7 วัน พร้อมกินเห็ดบ่อยๆ

 

“แนวโน้มที่ประชาชนมีความรู้เท่าทันข่าวปลอมมากขึ้นนี้ ยังสอดคล้องกับข้อมูลการรับแจ้งความออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com ซึ่งหลังจากเปิดตัวมาได้ราว 5 เดือน พบว่าคดีเกี่ยวกับเฟคนิวส์ลดลงถึง 80%” นางสาวนพวรรณกล่าว

 

ทั้งนี้ ยังต้องขอความร่วมมือกับประชาชน และการสร้างความตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายอยู่บนโซเชียล/ออนไลน์อย่างต่อเนื่อง โดยสามารถติดตามและแจ้งเบาะแสข่าวปลอม ได้ผ่านช่องทางต่างๆ ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ดังนี้

 

ไลน์ @antifakenewscenter  

 

เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com/

 

ทวิตเตอร์ https://twitter.com/AFNCThailand

 

และช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87