ไขคำตอบ"น้ำท่วมที่จอดรถใต้คอนโด"รถยนต์เสียหาย ใครต้องรับผิดชอบ

13 ก.ย. 2565 | 08:03 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ก.ย. 2565 | 15:04 น.
1.0 k

"น้ำท่วมที่จอดรถใต้คอนโด" รถยนต์เสียหาย ใครต้องรับผิดชอบ "นิติบุคคล คอนโดมีเนียม" ต้องรับผิดชอบหรือไม่ มาหาคำตอบจาก "ทนายเกิดผล"

จากกรณีน้ำทะลักเข้าท่วม ลานจอดรถชั้นใต้ดินคอนโดมีเนียม ย่านสายไหม สะพานใหม่  ทำให้มีรถหลายคันจมน้ำในระดับมิดหลังคา ได้รับความเสียหาย แม้น้ำจะลดแล้ว แต่เจ้าของรถก็ยังไม่เคลื่อนย้ายรถ เพื่อรอเจรจากับนิติบุคคล  จนมีคำถามว่า กรณีเหตุภัยธรรมชาติ และพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย ภายในคอนโดมีเนียม ใครต้องเป็นผู้รับผิดชอบ นิติบุคคลต้องรับผิดชอบหรือไม่อย่างไร

 

เรื่องนี้ทนายเกิดผล แก้วเกิด ได้โพสต์เฟซบุ๊ก "ทนายเกิดผล แก้วเกิด" ให้ความรู้ด้านข้อกฎหมาย กรณี "น้ำท่วมที่จอดรถใต้คอนโด" ระบุว่า พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 33 วรรค 2 ที่บัญญัติว่า "นิติบุคคลอาคารชุด มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการ และดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลาง และให้มีอำนาจกระทำการใด ๆ เพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว ทั้งนี้ ตามมติของเจ้าของร่วม ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้"

จากเหตุดังกล่าวและข้อกฎหมายข้างต้น น่าพิจารณาว่า ที่จอดรถคอนโดมีเนียมนั้น จัดเป็นทรัพย์ส่วนกลาง ที่นิติบุคคล มีหน้าที่ต้องดูแล

 

ดังนั้น หากกรณีมีความเสียหายเกิดขึ้นกับรถ เจ้าของร่วมที่นำมาจอดไว้ในที่จอดรถส่วนกลาง อาจต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นกรณี ๆ ไป ว่า นิติบุคคลที่มีหน้าที่ดูแลบำรุงรักษาทรัพย์ส่วนกลางนั้น ได้ดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลาง ทั้งที่จอดรถ ทางระบายน้ำ เครื่องสูบน้ำสมบูรณ์ ให้มีสภาพพร้อมและเพียงพอต่อการใช้งาน หรือมีการเตรียมการอย่างไรบ้าง หรือไม่ หากพิสูจน์ได้ว่า ความเสียหายนั้น เกิดจากความประมาทเลินเล่อของนิติบุคคล นิติบุคคลก็อาจต้องรับผิดต่อความเสียหายนั้น

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4493/2543 ดังนี้

 

"พระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 ต้องการให้เจ้าของกรรมสิทธิ์ในห้องชุด อันเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคล สามารถใช้สิทธิในห้องชุดได้ตามสิทธิของตน แต่ทรัพย์ส่วนกลางถือว่าเป็นกรรมสิทธิ์รวม ระหว่างเจ้าของห้องชุด ซึ่งมีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกัน ทั้งกฎหมายและข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุด ล้วนกำหนดให้เป็นหน้าที่ของนิติบุคคลอาคารชุด จำเลยที่ 1 ต้องดูแลรักษาทรัพย์สินส่วนกลางของอาคารชุด เมื่อสาเหตุที่น้ำท่วมห้องชุดของโจทก์ เพราะน้ำฝนเอ่อล้นจากท่อรับน้ำภายในอาคารชุด เนื่องจากท่อรวมรับน้ำอุดตัน ซึ่งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ดูแลให้ท่อระบายน้ำดังกล่าวระบายน้ำได้ตลอดเวลา
 

แม้โจทก์มิได้นำสืบว่า เหตุใดท่อน้ำจึงอุดตัน และจำเลยที่ 1 ได้กระทำอย่างไรกับสิ่งอุดตันนั้น หรือบริเวณที่อุดตันนั้นไม่อาจตรวจพบได้โดยง่าย ก็ถือได้ว่าเป็นการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 แล้ว เพราะจำเลยที่ 1 ได้เก็บเงินค่าดูแลรักษาทรัพย์สินส่วนกลาง แล้วว่าจ้างบริษัทเอกชนที่มีอาชีพการบริหารอาคารชุดมาทำหน้าที่แทน

 

เมื่อบริษัทดังกล่าวละเว้นหน้าที่ โดยประมาทเลินเล่อปล่อยให้ท่อระบายน้ำอุดตันจนน้ำท่วมห้องชุดของโจทก์ เช่นนี้ ย่อมเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์