แรงงาน อุ้มนายจ้าง ลดเงินสมทบเข้ากองทุนพัฒนาฝีมือเหลือ 0.5%

29 ส.ค. 2565 | 13:51 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ส.ค. 2565 | 20:52 น.
3.7 k

คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน เคาะมาตรการช่วยเหลือสถานประกอบกิจการ มีมติเห็นชอบปรับลดการนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน จากร้อยละ 1 เหลือร้อยละ 0.5

นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า เมื่อวันศุกร์ที่ 26 ส.ค.65 คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน มีมติเห็นชอบเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือสถานประกอบกิจการที่อยู่ในข่ายต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 และที่แก้ไขเพิ่ม  กำหนดให้ต้องพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่พนักงานของตนเองไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของพนักงานทั้งหมดนั้น ด้วยรอบปี พ.ศ. 2565 สถานประกอบกิจการหลายแห่งยังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 บางแห่งเริ่มดีขึ้น แต่ยังไม่สามารถจัดอบรมให้แก่พนักงานได้เต็มที่ เนื่องจากต้องเร่งการผลิตและปรับปรุงกระบวนการทำงาน

 

ดังนั้น เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนดังกล่าว คณะกรรมการจึงกำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือ ได้แก่ ปรับลดสัดส่วนการพัฒนาพนักงานจากไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 เหลือเพียงไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของพนักงานทั้งหมด พร้อมกับการปรับลดอัตราการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน ประจำปี 2565 จากร้อยละ 1 เหลือเพียงร้อยละ 0.5  เท่านั้น

 

 

แรงงาน อุ้มนายจ้าง ลดเงินสมทบเข้ากองทุนพัฒนาฝีมือเหลือ 0.5%

นายประทีป กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้คณะกรรมการส่งเสริม ยังเห็นชอบจำนวนผู้เข้าอบรมผ่านการฝึกอบรมออนไลน์ จากเดิมที่กำหนดให้ 1 ห้อง ต้องมีผู้เข้าอบรมไม่เกิน 30 คน ปรับเพิ่มให้เป็นไม่เกิน 50 คน ซึ่งยังสามารถควบคุมคุณภาพในการฝึกอบรมได้ แต่ทั้งนี้ ต้องรอประกาศอีกครั้งจึงจะมีผลบังคับใช้

 

อย่างไรก็ตาม มาตรการที่กำหนดขึ้นเป็นเพียงการบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประกอบกิจการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด- 19 และอยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการ  แต่สำหรับผู้ประกอบกิจการที่สามารถดำเนินการได้ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ส่งเสริม เช่น จัดฝึกอบรมเพื่อพัฒนาพนักงานได้เกินกว่าร้อยละ 70 ในส่วนที่เกินกว่าร้อยละ 70 มีสิทธิได้รับเงินอุดหนุนให้รายละ 200 บาท และมีเงินอุดหนุนให้อีกหลายกรณี

อาทิ การจัดทำมาตรฐานฝีมือสำหรับผู้ประกอบอาชีพสำหรับใช้เฉพาะในสถานประกอบกิจการของตนเอง การส่งเสริมและสนับสนุนจัดส่งพนักงานเข้ารับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ซึ่งสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กองส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน 02 2643 6039

 

“การรับรองหลักสูตรภายใต้พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานเริ่มคลายล็อกหลายกรณีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการรับรองการจัดฝึกในรูปแบบออนไลน์ก็สามารถทำได้แล้ว นอกจากนี้ยังยื่นเอกสารต่างๆ ผ่านระบบ PRB e-Service โดยไม่ต้องเดินทางอีกด้วย ซึ่งกรมพัฒนาฝีมือแรงงานพยายามพัฒนาและปรับปรุงระบบเพื่อให้บริการสถานประกอบกิจการและแรงงานอย่างเต็มที่” นายประทีปกล่าวทิ้งท้าย