'ผู้สูงวัย'ล้นเมือง 1.2 ล้านคน ปัจจัยท้าทาย กทม.

22 ส.ค. 2565 | 14:39 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ส.ค. 2565 | 22:04 น.
879

ผู้ว่าฯ กทม. ห่วง 'คนสูงวัย' ล้นเมือง หลังจำนวนประชากรลด แต่คนสูงวัยเพิ่ม พบ 50 เขต อยู่ที่ 1.2 ล้านคนแล้ว ท้าทายภาษีดูแลในอนาคต เปิดแผนหลัก สร้างหน่วยบริการชุมชนให้แข็งแกร่ง เพิ่มพื้นที่และระบบ ดูแลผู้สูงวัยครบวงจร

22 ส.ค.2565 - นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุใน เวทีเสวนา : “คนไทย” ทำอย่างไร ให้อยู่ดี สุขภาพดี การเงินดี ซึ่งจัดโดย สื่อเครือเนชั่น โดยได้ บ่งบอกถึง ข้อคิด และ การเตรียมตัว รองรับวัยเกษียณ ให้แก่คนไทย รวมถึง นโยบายของกทม.เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุของไทยด้วย ว่า ปัจจุบัน กทม. กลายเป็นสังคมของ 'ผู้สูงอายุ' อย่างเต็มรูปแบบแล้ว หลังจากสัดส่วนผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อยู่ที่ 1.2 ล้านคน หรือ     มากกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด 50 เขตพื้นที่ (5.5 ล้านคน)

ขณะบางเขต เช่น สัมพันธวงศ์ ,พระนคร และ ป้อมปราบศัตรูพ่าย สัดส่วนเริ่มน่าเป็นห่วง โดยสิ่งที่น่ากังวลตามมา คือ ผู้สูงวัยเหล่านี้ มีแนวโน้มถูกบุตรหลานทิ้งเคว้ง อยู่ลำพังตามบ้านเรือนเยอะขึ้น เนื่องจากลูกหลานมีแผนย้ายออกนอกเมือง หรือ ต้องการไปแสวงหาคุณภาพที่ดีในเมืองอื่นๆ เช่น ไปอยู่ต่างประเทศมากขึ้น อาจทำให้อนาคต กทม.ไม่ต่างจาก 'เมืองคนชรา' 

\'ผู้สูงวัย\'ล้นเมือง 1.2 ล้านคน ปัจจัยท้าทาย กทม.

" สิ่งที่จะเป็นปัญหาตามมา คือ จำนวนผู้สูงวัยเยอะขึ้น แต่ สัดส่วนวัยกลางคน หรือ วัยแรงงาน ที่เป็นกลุ่มคนเสียภาษีหลัก ลดน้อยถอยลง โดยไม่ใช่แค่ กทม. แต่ปัญหานี้ กำลังเป็นโจทย์ใหญ่ของ ทุกเมืองทั่วโลก คำถามสำคัญ อยู่ที่ว่าจะทำอย่างไร? ถึงจะดึงคนเก่ง คนรุ่นใหม่ ให้อยากอยู่ในเมืองหลวงนี้ต่อไป จากทางเลือกที่มีมากขึ้น หลังจากคนรุ่นใหม่ มีแผนไปอยู่ต่างประเทศเป็นจำนวนมาก เพราะคนเก่งเหล่านี้ จะเป็นคนขับเคลื่อนสังคม และเป็นฐานภาษี ที่สำคัญ สำหรับการนำมาดูแลผู้อายุ " 


ผู้ว่า กทม. ยังระบุ ถึง แนวนโยบายในการดูแลผู้สูงอายุของกทม.ในอนาคต ว่า หากเปรียบ ระบบสาธารณสุขของ กทม.เป็นระบบเส้นเลือด จะพบว่า โรงพยาบาลขนาดใหญ่ ราว 11 แห่ง คือ เส้นเลือดใหญ่ ขณะ โรงพยาบาลขนาดเล็ก ศูนย์สุขภาพชุมชน หน่วยบริการเคลื่อนที่ตามชุมชน คือ เส้นเลือดฝอย ซึ่ง ขณะนี้ส่วนที่ 2ยังไม่แข็งแรง และเปราะบาง ทำให้ จำนวนผู้ต้องการรับบริการ ไปกระจุกอยู่ที่ โรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีไม่กี่แห่ง และไม่เพียงพอ เกิดภาพ รพ.จุฬาฯ คนสูงวัย มารอพบแพทย์ รับคิวตั้งแต่ตี 4 ทั้งๆที่ เส้นเลือดฝอย อย่าง รพ.ชุมชน น่าจะมีบทบาทสำคัญในการดูแลผู้ป่วยซึ่งเป็นผู้สูงอายุได้ดีและใกล้ชิดกว่า 


"ระบบสาธารณสุขแบ่ง 3 ชั้น ตติยภูมิ ,ทุติยภูมิ และ ปฐมภูมิ (เส้นเลือดฝอย) ซึ่งสิ่งที่ผู้สูงอายุต้องการ คือ การบริการขั้นปฐมภูมิ จาก หน่วยบริการชุมชน แต่การบริการดังกล่าว อยู่ในจุดอ่อนแอ ทำให้ไม่มีใครเชื่อใจ พอเปราะบาง ก็ไปกระจุกที่ รพ.ใหญ่ๆ ในเครือรัฐ และ มหาวิทยาลัย " 


" นโยบาย กทม. คือ ทำเส้นเลือดฝอยให้แข็งแรง เรามีบทเรียน จากกรณี ศูนย์สาธารณสุข คลองเตย ซึ่งมีเจ้าหน้าที่เพียง 48 คน ต้องดูแลคนนับแสนคน เมื่อโควิด-19 มา เส้นเลือดฝอยนี้แตก ด่านหน้าเอาไม่อยู่ ท้ายที่สุดพังทั้งระบบ "

 

อย่างไรก็ดี กทม. เดิม มีโรงพยาบาลสำหรับผู้สูงวัยเช่นกัน เช่น รพ.บางขุนเทียน ซึ่งมีมูลค่ากว่า 3 พันล้านบาท จากที่ดินบริจาคหลักร้อยไร่ แต่มีปัญหาในการเดินทาง เนื่องจากอยู่ชานเมือง โดย กทม.อยู่ระหว่าง วางแผน พัฒนาระบบขนส่งในระยะต่อไป 

 

ทั้งนี้ แนวคิดหลักในการขับเคลื่อน สังคมสำหรับผู้สูงวัย ยังจะเกิดขึ้นในแง่ต่างๆ ตามนโยบาย 216 แผนปฎิบัติการ 28 กลุ่มแผน เช่น 

  • ชมรมผู้สูงอายุ สร้างสุขภาพ ส่งเสริมสุขภาพใจ (Active Aging)
  • คลังปัญญาผู้สูงอายุ
  • พิจารณาเพิ่มศูนย์สร้างสุขทุกวัย เพิ่มกิจกรรมให้คนกรุงเทพฯ
  • ยกระดับศูนย์กีฬา ศูนย์สร้างสุขทุกวัย ศูนย์เยาวชนให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน
  • เพิ่มเวลา เพิ่มสิ่งอํานวยความสะดวก เพิ่มการเข้าถึงสวนและพื่นที่สาธารณะ
  • ส่งเสริมกลไกภาคประชาชนสุขภาพดี ผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพฯ
  • หมอถึงบ้าน ผ่าน Telemedicine
  • ท่าเรือเข้าสะดวก ออกสบาย เชื่อมต่อปลอดภัย
  • สร้างจุดเชือมต่อการเดินทาง (hub) เพื่อการเปลี่ยนถ่ายการเดินทางที่สะดวกสบาย
  • เพิ่มรถเมล์สายหลักและรอง ราคาถูกราคาเดียว
  • สร้างลิฟต์รถไฟฟ้าสายสีนํ้าเงิน  ฝั่งถนนครบทุกสถานี

 

" นโยบายเรา คือ ทำให้ระบบเส้นเลือดฝอยให้ใหญ่และแข็งแรงขึ้น รพ. กทม มี 11 แห่ง ขณะศูนย์สาธารณ 69 แห่ง นี่เป็นโจทย์ เพื่อให้ กทม. เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน โดยเฉพาะ ผู้สูงอายุกว่า 20% ของเมือง ผ่าน นโยบาย 9 ด้าน เช่น สิ่งแวดล้อม การเดินทาง ความปลอดภัย สุขภาพ พื้นที่สีเขียว และเศรษฐกิจ เพราะถ้าไม่มีเบี้ยคนชรา 600 บาท จะหาจากไหนได้เพิ่ม เป็นทุกมิติที่ต้องเร่งดำเนินการ " 

\'ผู้สูงวัย\'ล้นเมือง 1.2 ล้านคน ปัจจัยท้าทาย กทม.