ฉลอง 75 ปี ความสัมพันธ์ “ไทย-อินเดีย” จัดใหญ่งาน เปิดประตูสู่แดนภารตะฯ

21 ส.ค. 2565 | 15:59 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ส.ค. 2565 | 23:02 น.
664

ฉลองวาระครบรอบ 75 ปี ความสัมพันธ์ ไทย-อินเดีย จัดกิจกรรม “เปิดเส้นทางสังเวชนียสถานตามรอยพระพุทธบาท ดินแดนพุทธภูมิ”

ในโอกาสเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย -อินเดีย ในวาระครบรอบ 75 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-อินเดีย สถานทูตอินเดีย ประจำประเทศไทย โดย ฯพณฯ สุจิตรา ทุไร เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย ร่วมกับ ชมรมไตรรัตนภูมิ กำหนดจัดกิจกรรม “เปิดเส้นทางสังเวชนียสถานตามรอยพระพุทธบาท ดินแดนพุทธภูมิ

 

นายกากัน มาลิก ดาราบอลลีวู้ด อดีตพระอโศโก ภิกขุ ผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา หนึ่งในบุคคลสำคัญที่เป็นหลักในการร่วมจัดงานครั้งนี้ เปิดเผยว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้ ชมรมไตรรัตนภูมิ ร่วมกับสถานทูตอินเดียประจำประเทศไทย และ ศิลปินคณะอารยะ นารายัน เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย - อินเดีย

ฉลอง 75 ปี ความสัมพันธ์ “ไทย-อินเดีย” จัดใหญ่งาน เปิดประตูสู่แดนภารตะฯ

เนื่องในโอกาสครบรอบ 75 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูต ไทย – อินเดีย และเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ แหล่งท่องเที่ยวโบราณสถานของศาสนาพุทธ จากรัฐต่างๆ ในอินเดีย เป็นการสร้างความตระหนักรู้ถึงคุณค่าของพระพุทธศาสนาให้กับชาวพุทธในประเทศไทยและผู้ที่สนใจ

 

“การจัดกิจกรรมครั้งนี้ ต้องถือว่า เป็นครั้งยิ่งใหญ่ที่คนไทยจะได้รับความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับแหล่งโบราณสถานทางพระพุทธศาสนาในประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของพระพุทธศาสนาและ ยังเป็นการน้อมถวายกตัญญุตานุสรณ์ถึงองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ได้ให้ปัญญา ความรู้ ให้ธรรมะกับชาวพุทธและผู้คนทั้งโลกในรูปแบบเส้นทางการดำเนินชีวิตตราบถึงทุกวันนี้ด้วย”

ฉลอง 75 ปี ความสัมพันธ์ “ไทย-อินเดีย” จัดใหญ่งาน เปิดประตูสู่แดนภารตะฯ

ทั้งนี้ พระพุทธศาสนาถือกำเนิดที่ประเทศอินเดียนานกว่า 2,500 ปี และได้กระจายเผยแผ่ความเจริญรุ่งเรืองสู่ภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันถือเป็นศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนาของโลก ด้วยประชากรส่วนใหญ่ของประเทศที่นับถือศาสนาพุทธ และขนบธรรมเนียมปฏิบัติแบบเถรวาทที่ได้รับการส่งต่อมาจากในสมัยอดีต รวมถึงการเปิดกว้างในด้านแนวคิดคำสอนของนิกายอื่น ๆ ทั้งแบบมหายาน และวัชรยาน

 

กิจกรรมครั้งนี้ นอกจากจะมีการจัดแสดงนิทรรศการพุทธสถานจาก 8 รัฐในประเทศอินเดีย นอกเหนือจากเส้นทางสังเวชนียสถาน 4 สังเวชนียสถาน อันประกอบด้วย 1. วิหารมายาเทวี เมืองลุมพินี (ประเทศเนปาล) 2. วิหารมหาโพธิ เมืองคยา รัฐพิหาร 3. ธัมเมกขสถูป เมืองสารนาถ รัฐอุตตรประเทศ 4. วิหารมหา  ปรินิพพาน เมืองกุสินารา รัฐอุตตรประเทศ ที่ในแต่ละปีมีคนไทยจำนวนไม่น้อยเดินทางไปแสวงบุญในประเทศอินเดีย – เนปาล

 

สำหรับงานครั้งนี้ จะเป็นการเปิดตัวสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดี และเป็นมรดกโลกอีกจำนวนมากที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศอินเดีย ที่ผู้แสวงบุญส่วนใหญ่ไม่เคยได้สัมผัส หรือรับทราบข้อมูลมาก่อน เป็นการเปิดเผยข้อมูลแหล่งโบราณคดีพุทธสถาน ร่วมถึงการให้ความรู้ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม ที่ยังคงหลงเหลืออยู่

ฉลอง 75 ปี ความสัมพันธ์ “ไทย-อินเดีย” จัดใหญ่งาน เปิดประตูสู่แดนภารตะฯ

ตั้งแต่สมัยครั้งพุทธกาล ใน 8 รัฐ ได้แก่ รัฐพิหาร รัฐอุตตรประเทศ รัฐมัธยประเทศ รัฐคุชราด รัฐโอฑิสา รัฐอานธรประเทศ รัฐเตลังคานา และรัฐมหาราษฎร์ โดยเฉพาะรัฐมหาราษฎร์ ซึ่งเป็นรัฐที่มีชาวพุทธมากกว่า ๖.๕ ล้านคน มีเมืองที่มีความสำคัญกับชาวพุทธทั้งในประเทศอินเดีย และชาวพุทธจากทั่วโลกมากมาย เช่น เมืองออรังกาบัด ที่มีถ้ำอชันตา และเอลโลร่า ซึ่งเป็นมรดกโลกที่สำคัญ, เมืองนาคปุระ เป็นสถานที่ตั้งของ ทีกษาภูมิ (ดีคชาภูมิ) ที่ ดร.อัมเบ็ดการ์นำคนกว่า 500,000 คน ประกาศตนเป็นพุทธมามกะ เป็นต้น

 

ในส่วนของนิทรรศการเผยแพร่ความรู้ จะมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญในด้านศิลปะ โบราณคดี มาถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้ที่สนใจ ในด้านศิลปะ มีนิทรรศการแสดงภาพวาดภายในถ้ำอชันตา เมืองออรังกาบัด รัฐมหาราษฎร์ ที่ถูกถ่ายทอดเป็นภาพวาดใหม่และเพิ่มเติมจากที่ชำรุดเสียหาย โดยศิลปินและนักโบราณคดี เพียงท่านเดียวที่ได้รับสิทธิ์ในการเข้าไปศึกษาและบูรณะภาพวาดภายในโบราณสถานมรดกโลกแห่งนี้

 

การนำศิลปะอักษรประดิษฐ์ ที่นำพระสูตรอักษรทิเบตมาผสมผสานกับศิลปะการวาดภาพพุทธศิลป์แบบทิเบต และนิทรรศการภาพถ่ายชุด อารามโบราณบนเทือกเขาหิมาลัย เพื่อนำเสนอภาพในมุมมองใหม่ที่พุทธศาสนิกชนไทยไม่ได้พบเห็นบ่อยนัก นอกจากนี้ยังมีศิลปะการแสดงทางวัฒนธรรมของทั้ง 2 ประเทศ ฯลฯ

ฉลอง 75 ปี ความสัมพันธ์ “ไทย-อินเดีย” จัดใหญ่งาน เปิดประตูสู่แดนภารตะฯ

ภายในงาน นอกจากสถานเอกอัครราชทูตอินเดีย กรุงเทพมหานคร และชมรมไตรรัตนภูมิ จะได้ประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐของประเทศอินเดีย ในการขอความร่วมมือ ส่งผู้แทนจากรัฐต่าง ๆ ที่มีพุทธสถาน และมีความเกี่ยวข้องในแง่ของประวัติศาสตร์ในพื้นที่รัฐนั้น ๆ เข้าร่วมงาน ซึ่งขณะนี้ได้รับการประสานจากรัฐอุตตรประเทศแล้วว่า จะมีรัฐมนตรีท่องเที่ยวประจำรัฐอุตตรประเทศ เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ด้วย

 

รวมทั้งยังได้รับความร่วมมือจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักงานเขตวัฒนา สภาวัฒนธรรมแห่งรัฐบาลอินเดีย(ICCR) สมาคมผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวเชิงพุทธ (ABTO) สมาพันธ์พุทธศาสนิกชนนานาชาติ (IBC) คณะพระธรรมทูต สายประเทศอินเดีย - เนปาล ไร่เชิญตะวัน ฯลฯ ช่วยสนับสนุนการจัดงานในครั้งนี้ด้วย