มช. และแอร์เอเชียอะคาเดมี เปิดมุมมอง ความยั่งยืน มิติใหม่ในรั้วมหาวิทยาลัย

18 ส.ค. 2565 | 16:03 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ส.ค. 2565 | 23:15 น.

คณะเศรษฐศาสตร์ มช. และแอร์เอเชียอะคาเดมี เปิดมุมมอง “ความยั่งยืน” มิติใหม่ ในเวที "SustainMETALK" ต้องเข้าถึงง่าย ปลูกฝังในรั้วมหาวิทยาลัย พร้อมปรับใช้ในชีวิตและธุรกิจจริง

วันนี้ 18 สิงหาคม  2565 ถอดมุมมอง ประสบการณ์และเเรงบันดาลใจจากเวที SustainMETALK ที่จัดขึ้น ณ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โดย ผศ.ดร. ไพรัช กาญจนการุญ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มองว่า ความรู้ความเข้าใจด้านความยั่งยืนต้องเริ่มขึ้นตั้งเเต่ประสบการณ์เรียนรู้ในมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นเเนวคิดวิสัยทัศน์สำคัญของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เเละคณะเศรษฐศาสตร์ ยิ่งสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ยิ่งทำให้เราเห็นความสำคัญเรื่องนี้ เราจึงเน้นสร้างการเรียนรู้ร่วมกันกับภาคธุรกิจที่หลากหลาย เพื่อถ่ายทอดความรู้ถึงกลุ่มนักศึกษาที่จบออกไปอย่างมีคุณภาพเพื่อพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืนในระยะยาว ส่งต่อไปสู่ชุมชนเเละสังคมต่อไป

ขณะที่ ดร. กฤษฎา เสกตระกูล ที่ปรึกษาตลาดหลักทรัพย์ กล่าวว่า ESG  เราต้องเริ่มทำอย่างสุขใจ เพื่อพลิกไทยให้ฟื้นได้ ถึงตอนนี้เราต้องดำรงชีวิตเเละดำเนินงานอย่างปราณีตกว่าเดิม เพื่อทำให้ธุรกิจเติบโต มีกำไรเเละเเข็งเเกร่งทางการเงินได้ ในขณะเดียวกันก็ยังสามารถช่วยปรับปรุงพัฒนาสิ่งเเวดล้อมเเละสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำ ซึ่งสุดท้ายจะสามารถยกระดับความได้เปรียบในการแข่งขันได้

 

 

ส่วนนางสาวทอปัด สุบรรณรักษ์  ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ สายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวเสริมว่า ในนามของแอร์เอเชีย อะคาเดมี มีความมุ่งมั่นในการสร้างความรู้ ความเข้าใจด้านความยั่งยืนในมิติใหม่ให้รอบด้าน สื่อสารเรื่องความยั่งยืนให้เข้าใจง่ายขึ้น จับต้องได้ ลงมือทำได้ ไปยังนักศึกษารวมถึงภาคประชาชน นำความยั่งยืนมาอยู่ใกล้ตัวเองมากที่สุด

คณะเศรษฐศาสตร์ มช. และแอร์เอเชียอะคาเดมี เปิดมุมมอง “ความยั่งยืน”

 

 

นายธีธัช รังคสิริ ผู้ร่วมก่อตั้ง/ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดีไฟร์ เทค จำกัด  ความยั่งยืนต้องเริ่มจากเรื่องปากท้องก่อน ต้องกลับไปแก้ปัญหาที่จุดเริ่มต้น เพราะทุกอย่างล้วนมีความสัมพันธ์กันหมด เรื่องสิ่งเเวดล้อมก็เช่นกัน ไม่มีชาวบ้านคนไหนอยากเผาไร่ เพราะพวกเขาก็ต้องสูดควันกันเอง แต่เมื่อการเผาไร่มันเป็นวิธีที่ถูกและเร็วที่สุดของการทำเกษตรกรรรม การเปลี่ยนวิธีการแผ้วถางและเตรียมดินที่ดินด้วยวิธีที่มีต้นทุนสูงกว่าการเผาไร่ ถ้าเราเเก้เรื่องปากท้อง ทำให้พวกเขามีรายได้ที่มากขึ้น มีชีวิตที่ดีขึ้น เขาจะกลับมาดูแลสิ่งแวดล้อมเอง

 

ทั้งนี้ช่วงเสวนา “Exponential Path” นางสาวรตินันทน์ วงศ์วัชรานนท์  ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าในการทำงานเรื่องความยั่งยืน เราต้องคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการธุรกิจทุกภาคส่วน และเราไม่สามารถทำได้ด้วยตัวคนเดียว แต่จะต้องเกิดจากทุกคนช่วยกันทำ ทุกคนควรต้องคิดเสมอว่าเราดำเนินธุรกิจเพื่อช่วยให้สังคมและชุมชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พร้อมไปกับไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งกลยุทธ์นี้จะทำให้องค์กรต่างๆ สามารถทำธุรกิจไปได้อย่างยั่งยืน

 

ด้านนายจุฑาพัฒน์ ปิติปภาดา ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักสื่อสารองค์กร บริษัท บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด(มหาชน) หากเราทำความเข้าใจเรื่องความยั่งยืนว่าเป็นเรื่องรอบตัว เช่น การทำธุรกิจ เส้นทางอาชีพ หรือการใช้ชีวิต เราจะสามารถสื่อสารออกมาได้อย่างจับใจและไม่ซับซ้อนสร้างเส้นทางอาชีพที่มีคุณค่าและเป็นที่ต้องการของตลาด.