กรณีศึกษาความย้อนแย้งหรือขบวนการยุติธรรมที่ไร้หลักยึด

16 ก.ค. 2565 | 17:48 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ก.ค. 2565 | 00:52 น.

ดร.ประยูร อัครบวร อดีตอาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เขียนบทความเรื่อง “กรณีศึกษาความย้อนแย้งหรือขบวนการยุติธรรมที่ไร้หลักยึด” ระบุว่า

เรามักได้ยินคำว่า "ความยุติธรรมที่มาช้า ก็เกิดอยุติธรรมได้" จากกรณี นายนิพนธ์ บุญญามณี อดีตนายก อบจ.สงขลา ได้ตรวจสอบพบว่า บริษัท พลวิศว์ เทคพลัสจำกัด ทำเอกสารที่เป็นเท็จ จนถึงมือ ป.ป.ช.ก็ได้นำมาฟ้องในคดีปลอมแปลงเอกสาร การฮั้วการประมูล จนกรรมการผู้ถือหุ้นบริษัทร่วมโกงต่างหลบหนี

 

แต่ในขณะเดียวกัน ป.ป.ช.ชี้มูลว่า นายนิพนธ์ ปฏิบัติมิชอบ ไม่จ่ายเงินค่างวดตามสัญญาต่อบริษัทคู่กรณี และจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงส่งให้อัยการ ๆ พิจารณาแล้วสั่งไม่ฟ้อง นายนิพนธ์ แต่ ป.ป.ช.กลับมีมติฟ้องนายนิพนธ์ด้วย ป.ป.ช.เอง จึงเกิดคำถามว่าอัยการบกพร่องในการตรวจสอบหลักฐานหรือ ป.ป.ช.ต้องการพิสูจน์ความเชื่อของตัวเอง  

ซึ่งในข้อเท็จจริง  ป.ป.ช.ฟ้องบริษัท พลวิศว์ เทคพลัส จำกัดว่ามีความผิด ทุจริต ปลอมแปลงเอกสาร ซึ่งควรสอดคล้องกับการสั่งการของนายนิพนธ์ ที่ถือว่าสัญญานี้เป็นโมฆะตั้งแต่ต้น

 

ทั้งการไม่จ่ายเงิน นายนิพนธ์ ได้ปรึกษาผู้ว่าราชการจังหวัดที่เห็นว่าไม่ควรจ่ายเงินให้บริษัท ตามหนังสือจากกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 17 ธ.ค. 2552 ที่ว่า" เมื่อคดีสู่ศาล ให้ระงับการจ่ายเงินไว้ก่อน" แต่ ป.ป.ช.กลับมาฟ้องนายนิพนธ์ ว่าทำผิดกฎหมาย

 

จึงเป็นความย้อนแย้งที่สะท้อนให้เห็นว่า  ในขบวนการตรวจสอบทุจริตของไทยมีปัญหาและต้องหาบรรทัดฐานให้ผู้ปฏิบัติงาน โดย ป.ป.ช.ควรร่วมตอบคำถามด้วยว่า

 

1.เรื่องรถยนต์ราคาแพงกว่า อบจ.อื่นอย่าง อบจ.ตรัง ซึ่งมีนายกิจ หลีกภัย เป็นนายก อบจ.ซื้อได้ในราคาที่ถูกกว่า หน่วยงานไหนควรจะตรวจสอบ นายนิพนธ์ ไปหาข้อมูลมา ควรได้รับการชมเชยว่าทำงานรอบครอบหรือเจตนากลั่นแกล้ง

 

2.ในทางปฏิบัติการไม่เซ็นสั่งจ่ายเงิน รัฐยังไม่เกิดความเสียหายใช่ไหม

3.ถ้าจ่ายเงินนี้ไป ต่อมาบริษัทคู่สัญญาทำผิดกฎหมายตั้งแต่ต้น สัญญานี้เป็น "โมฆียะ" ซึ่งเป็นสัญญาที่บอกล้างได้ แต่เมื่อบริษัทรับเงินไปแล้ว รัฐเสียหายใช่ไหม ใครจะรับผิดชอบว่ารัฐได้รับเงินคืนเท่าที่เสียไป

 

โดยเฉพาะ นายนิพนธ์ ถ้ารู้ทั้งรู้ว่าบริษัทนี้ปลอมแปลงเอกสารแล้วยังจ่ายเงิน นายนิพนธ์ จะถูกฟ้องว่าร่วมโกงได้ใช่ไหม  จากสถานการณ์ที่นายนิพนธ์ อยู่ระหว่างเขาควาย  สุจริตชนคิดทบทวนดูว่า ถ้าท่านเป็น นายนิพนธ์ จะตัดสินใจอย่างไร

 

4.ขบวนการย้อนแย้งนี้ ถึงเวลาต้องทบทวนได้แล้วหรือยัง เพราะผู้ปฏิบัติต้องการหลักยึดที่เป็นแนวทางในการปฏิบัติ เพราะการทำงานโปร่งใสโดยไร้แนวทางและกฎเกณฑ์นั้น เป็นไปไม่ได้เลย และจะเกิดขบวนการกินตามน้ำที่ดูแต่เอกสาร โดยไม่ดูข้อเท็จจริงเพราะกลัวคำตัดสินหรือ การร้องเรียน ป.ป.ช.

 

จากประเด็นข้างต้น ผู้เขียนอยากให้ผู้รู้ ผู้อ่านได้ร่วมกันคิด ว่าสังคมไทยเราจะเดินไปข้างหน้าได้อย่างไร ภายใต้กฏกติกาที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่อยู่ในอำนาจสลัวๆเป็นเงาบิดเบือนข้อเท็จจริงแบบศรีธนญชัยและเกิดอำนาจที่มองไม่เห็นหากินกับกระบวนการยุติธรรมไทยไม่สิ้นสุด

 

*บทความนี้ไม่เกี่ยวกับการที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะอภิปราย แต่ผู้เขียนในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่เห็นว่า "กรณีนายนิพนธ์นี้เป็นกรณีที่ต้องนำมาศึกษาอย่างยิ่ง และสังคมต้องจับตาดู"