สนไหม? ตักบาตร"เป็งปุ๊ด" ตอนเที่ยงคืนที่เชียงราย

13 ก.ค. 2565 | 18:01 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.ค. 2565 | 01:22 น.
3.4 k

ผ่านไปแล้ว"เป็งปุ๊ด" หรือประเพณีตักบาตรเที่ยงคืน ครั้งสุดท้ายของปีนี้ นักท่องเที่ยวที่อยากมี"ครั้งหนึ่งในชีวิต" ได้ตักบาตรข้าวสารอาหารแห้งพระสงฆ์ในตอนเที่ยงคืนต้องรอปีหน้า “ฐานเศรษฐกิจ” เปิดปฏิทินดูแล้วปี 2566 จะมีการจัดงาน 2 ครั้ง ในเดือนเมษายนและธันวาคม

เมื่อเวลา 23.30 น. วันที่ 12 กรกฎาคม 2565 ที่วัดมิ่งเมือง ในเขตเทศบาลนครเชียงราย นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้เป็นประธานในพิธีอัญเชิญพระอุปคุตจำลอง ขึ้นประดิษฐานบนรถบุษบกไม้  ที่ตกแต่งลวดลายวิจิตรงดงามตามศิลปะล้านนา 

 

จากนั้นตั้งแต่ช่วงเวลา 00.00 น. ของวันที่ 13 กรกฎาคม 2565 ได้มีขบวนแห่รถบุษบก โดยมีพระสงฆ์ออกบิณฑบาตตามหลัง ซึ่งทางผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้นำพุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยว ร่วมกันตักบาตรปัจจัยไทยธรรมและข้าวสาร ถวายแด่พระสงฆ์ โดยมีประชาชนและนักท่องเที่ยวจำนวนนับหมื่นคนเข้าแถวรอตักบาตร เป็นระยะทางยาวกว่า 2 กิโลเมตร เริ่มตั้งแต่บริเวณหน้าวัดมิ่งเมืองต่อเนื่องไปตามถนนบรรพปราการ

นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย อัญเชิญพระอุปคุตจำลองไปขึ้นรถบุษบก

.ผวจ.เชียงราย พร้อมผู้บริหารจังหวัด นำประชาชนตักบาตรข้าวสารอาหารแห้งตามประเพณีตักบาตร เป็งปุ๊ด

ผ่านวงเวียนหอนาฬิกาเฉลิมพระเกียรติ ผลงานการออกแบบของ อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติชาวเชียงราย ที่กลายมาเป็นแลนด์มาร์คสำคัญแห่งหนึ่งของเมืองเชียงรายในปัจจุบัน และยังต่อเนื่องไปจนถึงไปจนถึงบริเวณประตูสรี หรือสี่แยกคริสตจักรที่ 1 เวียงเชียงราย

 

ซึ่งการจัดพิธีตักบาตรเป็งปุ๊ดบริเวณนี้ของเทศบาลนครเชียงราย ทุกครั้งจะมีผู้คนร่วมกิจกรรมอย่างเนืองแน่น

ประชาชนตักบาตรข้าวสารอาหารแห้งตามประเพณีตักบาต รเป็งปุ๊ด

รถบุษบกประดิษฐานพระอุปคุตเคลื่อนไปท่ามกลางประชา ชนและนักท่องเที่ยว

คำว่าเป็งปุ๊ดเป็นภาษาล้านนา "เป็ง"หมายถึงเพ็ญ หรือวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ ส่วน"ปุ๊ด"หมายถึงวันพุธ ประเพณีตักบาตรเที่ยงคืนเป็งปุ๊ดเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด แต่เข้าใจว่าทางภาคเหนือคงรับเอาประเพณีดังกล่าวนี้มาจากประเทศเมียนมา 

 

จากพื้นฐานความเชื่อที่ว่าพระอุปคุต ซึ่งเป็นภิกษุที่พระพุทธเจ้าทรงเป็นองค์อุปัชฌาย์ เมื่อสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ได้เสด็จลงไปจำศีลภาวนาอยู่ ณ สะดือทะเล ในรอบ 1 ปี จะขึ้นมาโปรดชาวเมืองก่อนเวลารุ่งอรุณ 

 

ชาวเมียนมามักตื่นแต่ดึกเพื่อเตรียมอาหารไว้ใส่บาตรพระอุปคุต โดยมีคติความเชื่อในทำนองว่า หากผู้ใดได้ทำบุญตักบาตรพระอุปคุตแล้วจะได้บุญใหญ่หลวง เกิดโชคลาภและความเป็นสิริมงคลในชีวิต คติความเชื่อนี้จึงทำให้พุทธศาสนิกชนถือปฏิบัติสืบทอดกันมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ

พระอุปคุตองค์จริงของวัดมิ่งมือง

ในประเทศไทยการใส่บาตรเที่ยงคืน ชาวเหนือเชื่อกันว่า พระอุปคุตจะแปลงกายเป็นสามเณรออกมาโปรดสัตว์ ถ้าผู้ใดได้ใส่บาตรกับพระอุปคุตแล้ว บุคคลนั้นจะประสบแต่ความสุข ร่ำรวยด้วยทรัพย์สินเงินทอง เนื่องจากได้อานิสงส์แรง ชาวเหนือเป็นจำนวนมากจึงรอคอยเพื่อที่จะร่วมตักบาตรกันมากเป็นพิเศษในประเพณีตักบาตรเป็งปุ๊ด

 

อย่างไรก็ตาม"ฐานเศรษฐกิจ" ตรวจสอบปฏิทินในปี 2565 พบว่าวันขึ้น 15 ค่ำที่ตรงกับวันพุธนั้นไม่มีแล้วและจากการตรวจสอบปฏิทินปี 2566 พบว่า วันเพ็ญขึ้น 15 ที่ตรงกับวันพุธมี ด้วยกัน 2 วันคือวันที่ 5 เมษายน 2566และวันที่ 27 ธันวาคม 2566

 

เพราะฉะนั้นหากนักท่องเที่ยวต้องการไปท่องเที่ยว และถือโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมตักบาตรเที่ยงคืน หรือตักบาตรเป็งปุ๊ดที่จังหวัดเชียงรายกัน นักท่องเที่ยวจะต้องไปค้างคืนที่จังหวัดเชียงราย ในวันที่ 4 เมษายน 2566 และวันที่ 26 ธันวาคม 2566 

 

เริ่มเลย...วางแผนเดินทางกันแต่เนิ่นๆ เพื่อให้ได้มี“ครั้งหนึ่งในชีวิต” ที่จะได้ตักบาตรเป็งปุ๊ดหรือตักบาตรเที่ยงคืนที่จังหวัดเชียงราย

ประชาชนและนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ที่มาคอยตักบาตรเป็งปุ๊ด บริเวณหอนาฬิกาเฉลิมพระเกียรติ

ชัยณรงค์ สีนาเมือง/รายงาน