ผู้ว่าฯภูเก็ต- พังงา สั่งทุกหน่วยเตรียมพร้อมรับมือ หากเกิด"สึนามิ"

06 ก.ค. 2565 | 20:33 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.ค. 2565 | 05:55 น.
4.8 k

ผู้ว่าฯภูเก็ต- พังงา สั่งทุกหน่วยเตรียมพร้อมรับมือหากเกิดสึนามิ หลังเกิดแผ่นดินไหวทะเลอันดามัน ยืนยันยังไม่น่าเป็นห่วง พร้อมเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ย้ำขอให้ยึดข้อมูลข่าวสารที่ออกโดยหน่วยงานราชการเป็นหลัก

วันนี้ (วันที่ 6 ก.ค. 65)  จากกรณีเกิดเหตุแผ่นดินไหวบริเวณทะเลอันดามัน ประเทศอินเดีย ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของ อ. เมือง จ.พังงา ประมาณ 500 กิโลเมตร ในช่วงวันที่ 4-6 กรกฎาคม 2565 โดยเกิดเหตุทั้งสิ้น 32 ครั้ง ขนาด 4.0-4.9

 

ผู้ว่าฯภูเก็ต- พังงา สั่งทุกหน่วยเตรียมพร้อมรับมือ หากเกิด\"สึนามิ\"

 

ประกอบกับน้ำทะเลหนุนขึ้นมา ทำให้เกิดน้ำท่วมขังบนถนนหาดทรายแก้ว และหลายแห่งในภูเก็ต  ทำให้ประชาชนวิตกกังวลว่าจะเกิดสึนามินั้น

 

ผู้ว่าฯภูเก็ต- พังงา สั่งทุกหน่วยเตรียมพร้อมรับมือ หากเกิด\"สึนามิ\"

 

นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ตนได้กำชับให้รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ร่วมกับป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ต (ปภ.ภูเก็ต) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และถ้าเกิดเหตุทุกหน่วยงานต้องเข้าพื้นที่ทันที พร้อมให้เตรียมเครื่องมือสำรวจอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้เรียบร้อย


“ขณะนี้ยังไม่น่ากังวลมาก แต่มีการเตรียมพร้อมไว้แล้ว เพราะไม่ทราบจะเกิดอะไรขึ้นมา ซึ่งชาวภูเก็ตเคยมีประสบการณ์คลื่นยักษ์สึนามิมาเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว เราก็ไม่ประมาท มีอุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ มีเจ้าหน้าที่ดูแลอยู่ และการเตรียมการสำคัญ คือ การดูแลพี่น้องประชาชน” นายณรงค์ กล่าว

 

นายอุดมพร กาญจน์ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า สภาพอากาศในช่วงนี้มีมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรง ปริมาณน้ำฝนเกินค่าเฉลี่ยมาตรฐานทำให้ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฏาคม 2565 มีน้ำทะเลหนุนสูงขึ้นมา ซึ่งในวันดังกล่าว กรมอุทกศาสตร์ แจ้งว่า น้ำทะเลหนุนประมาณ 3 เมตร ประกอบด้วยคลื่นแรงจึงซัดเข้ามาชายฝั่งบนถนนหาดทรายแก้ว และหลายแห่งในภูเก็ต

 

ผู้ว่าฯภูเก็ต- พังงา สั่งทุกหน่วยเตรียมพร้อมรับมือ หากเกิด\"สึนามิ\"

 

“ขอยืนยันว่า น้ำทะเลหนุนสูง ไม่เกี่ยวกับสึนามิ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดสึนามิต้องมีแผ่นดินไหวบริเวณรอยเลื่อนที่นิโคบาร์ ประมาณกว่า 7 ริกเตอร์ โดยศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติได้มีการเฝ้าระวังกันตลอดกับปัจจัยที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหว และสึนามิ

 

ในฝั่งทะเลอันดามัน ประเทศไทย มีการตรวจวัดระดับน้ำที่เกาะเมียง จังหวัดพังงา และกรณีทุ่นสึนามิ ตอนนี้ทุ่นหลุดอยู่ แต่สามารถรับรู้ได้เตือนภัยได้ จากข้อมูลเฝ้าระวังร่วมกับหน่วยงานภาคีหลายประเทศ ของ NOOA ทางศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติเฝ้าระวังอยู่แล้ว มีการตรวจสอบแผ่นดินไหวที่มีผลกระทบกับประเทศไทย โดยเฉพาะฝั่งทะเลอันดามันที่มีการเกิดแผ่นดินไหวประมาณ 4.7 ริกเตอร์หลายครั้ง ในวันที่ 4-5 กรกฎาคม ขนาดของการไหวประมาณกว่า 4 ริกเตอร์ไม่กระทบต่อประเทศไทย

 

ทั้งนี้มีการติดตามสถานการณ์ตลอด และได้ทดสอบสัญญาณเตือนภัยทุกวันพุธ เวลา 08.00 น. ด้วยเสียงเพลงชาติ ไปที่หอเตือนภัยจำนวน 19 จุด ทั่วเกาะภูเก็ต เสียงสัญญาณดี และถ้าเกิดเหตุการณ์จริงจะมีเสียงแจ้งเตือน 5 ภาษา ได้แก่ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย ภาษาญี่ปุ่น ภาษาจีน ภาษารัสเซีย ในการแจ้งเตือนจะแจ้ง 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 แจ้งขนาดความสั่นของแผ่นดินไหว ครั้งที่ 2 แจ้งให้เตรียมความพร้อมอพยพหนีภัย ซึ่งภูเก็ตมีเวลาเตรียมตัว 1 ชั่วโมงบวกบวก การเอาตัวรอดของชีวิตเป็นเรื่องสำคัญ
 

 

ด้านนายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา แจ้งว่า ตามที่กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพังงา ได้ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์แผ่นดินไหว บริเวณหมู่เกาะอันดามันและพื้นที่ใกล้เคียง พบในช่วงวันที่ 4-5 กรกฎาคม 2565 ความถี่ในการเกิดแผ่นดินไหวเพิ่มมากขึ้นกว่าช่วงเวลาที่ผ่านมา แต่ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย และยังไม่มีรายงานการเกิดคลื่นสึนามิตามมาแต่อย่างใดนั้น เพื่อเป็นการเน้นย้ำการปฏิบัติ และเตรียมความพร้อมในการเผชิญเหตุกับสถานการณ์สึนามิ ทั้งในสภาวะปกติและช่วงเวลาที่ต้องมีการเฝ้าระวัง

 

ทั้งนี้จังหวัดพังงา โดยกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพังงา จึงให้นายอำเภอทุกอำเภอ (ยกเว้นอำเภอกะปง) แจ้งประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ อาสามสมัคร จิตอาสา และภาคีเครือข่าย ในการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้ประชาชนทราบ โดยยึดข้อมูลข่าวสารที่ออกโดยหน่วยงานราชการเป็นหลัก และเตรียมความพร้อมในการรับสถานการณ์ตามแผนเผชิญเหตุสึนามิของอำเภอ

 

ทั้งนี้ให้จัดเจ้าหน้าที่รับผิดชอบประจำอำเภอ ที่พร้อมประสานการปฏิบัติเมื่อได้รับการแจ้งเตือนหรือเกิดสถานการณ์ได้ตลอดเวลา โดยประสานการปฏิบัติกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพังงา ทางโทรศัพท์/โทรสาร หมายเลข 0 7646 0607

 

โดยยึดข้อมูลข่าวสารที่ออกโดยหน่วยงานราชการเป็นหลัก และเตรียมความพร้อมในการรับสถานการณ์ตามแผนเผชิญเหตุสึนามิของอำเภอ ทั้งนี้ให้จัดเจ้าหน้าที่รับผิดชอบประจำอำเภอ ที่พร้อมประสานการปฏิบัติเมื่อได้รับการแจ้งเตือนหรือเกิดสถานการณ์ได้ตลอดเวลา

 

ด้านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ระบุ หากได้รับแจ้งยืนยันว่าเกิดแผ่นดินไหวในทะเล ขนาด 7.8 ขึ้นไป ทางกรมฯ จะมีการแจ้งเตือนไปยังหอเตือนภัยในทะเลอันดามัน ซึ่งมีทั้งหมด 130 หอ เพื่อแจ้งให้ประชาชนในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อสึนามิ 6 จังหวัด ได้แก่ ระนอง พังงา กระบี่ ตรัง สตูล และภูเก็ต ใน 27 อำเภอ 102 ตำบล 509 หมู่บ้านและชุมชน

 

โดยมีเจ้าหน้าที่ติดตามข้อมูลการเกิดแผ่นดินไหวและแนวโน้มการเกิดสึนามิตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านทุ่นสึนามิ ซึ่งหากมีการเกิดคลื่นสึนามิในทะเล ทุ่นจะส่งสัญญาณเตือนมาที่ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และส่งไปยังหน่วยงานระหว่างประเทศ NOOA ของสหรัฐอเมริกา และแจ้งเตือนไปยังพื้นที่เสี่ยงต่อไป 

 

ทั้งนี้หากทุ่นไม่สามารถทำงานได้ ก็ยังมีทุ่นสึนามิของประเทศต่างๆ ที่จะส่งสัญญาณไปยัง NOOA เพื่อประมวลผลได้เช่นกัน และขณะนี้หากกรณีทุ่นของประเทศต่าง ๆ ไม่ส่งสัญญาณ การแจ้งเตือนจะเริ่มจากการแจ้งเตือนแผ่นดินไหวก่อน 

 

หากขนาดตั้งแต่ 7.8 ขึ้นไป ทาง NOOA จะส่งข้อมูลการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการเกิดสึนามิ ดังนั้น ยืนยันว่าประเทศไทยยังได้รับข้อมูลการแจ้งเตือนการเกิดแผ่นดินไหวและการเกิดสึนามิอย่างต่อเนื่องแน่นอน 

 

นอกจากนี้ ปภ. ได้ยกระดับความพร้อมในการทดสอบระบบการแจ้งเตือนภัยไปยังหอเตือนภัยประเภทสึนามิที่ฝั่งอันดามัน โดยจะมีการทดสอบระบบทุกวัน และมีการสร้างความรับรู้และความเข้าใจของพี่น้องประชาชนถึงระบบการแจ้งเตือนภัยและสึนามิของประเทศไทยว่ายังสามารถทำงานได้ตามปกติ และให้ข้อมูลหลักการปฏิบัติกรณีเกิดภัย การเตรียมความพร้อมในเรื่องสถานที่ ศูนย์พักพิง ศูนย์อพยพชั่วคราว ที่แต่ละพื้นที่มีการเตรียมพร้อมไว้ตามแผนปฏิบัติการของแต่ละจังหวัด 

 

นอกจากนี้มีการเตรียมความพร้อมเรื่องบุคลากรและอุปกรณ์ในการรับมือกับภัยทุกประเภท โดยเฉพาะในช่วงวันหยุด ในพื้นที่เสี่ยง 6 จังหวัด และมีการกำหนดฝึกซ้อมรับมือกับสึนามิในระดับจังหวัด อำเภอ ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ต้นเดือน พ.ค. แล้ว ดังนั้น ขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่า มีการเตรียมพร้อมต่อการปฏิบัติตลอด 24 ชั่วโมง