“นิพนธ์”ห่วงอุบัติเหตุทางถนนช่วงวันหยุดยาว เร่งท้องถิ่นดูแลสายรอง

04 ก.ค. 2565 | 16:41 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ก.ค. 2565 | 23:44 น.

“นิพนธ์”ขอบคุณทุกฝ่าย หลังช่วยรักษาชีวิตคนตายจากอุบัติเหตุทางถนนลดลงได้กว่า 6,000 ราย ตั้งแต่ปี 59 ถึง 64  ห่วงช่วงวันหยุดยาวเดือน ก.ค. และต.ค.อาจมีสถิติเพิ่มขึ้น เร่งนายอำเภอประสานท้องถิ่น ใช้กลไก ศปถ.ดูแลถนนสายรองของท้องถิ่น

วันที่ 4 กรกฎาคม 2565 นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดการประชุม  โครงการเพิ่มศักยภาพในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของผู้อำนวยการอำเภอ สำหรับปลัดอำเภอ และหัวหน้าฝ่ายความมั่นคง โดยมีนายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายธนาคม จงจิระ อธิบดีกรมการปกครอง นายอำเภอ และปลัดอำเภอในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง เข้าร่วมรับฟังนโยบาย ณ ห้องประชุมคิงส์ตัน โรงแรมคริสตัล อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 


นายนิพนธ์ กล่าวว่า ประเด็นสำคัญที่มาพบในวันนี้คือในเรื่องของการเสียชีวิตบนท้องถนน ผมนั่งตรงนี้และเอาตัวเลขต่างๆ มาดูพบว่า ไม่มีภัยอันไหนที่เรียกว่าเป็นภัยคุกคามชีวิตคนไทยมากเท่าภัยบนท้องถนน

เราเสียชีวิตบนท้องถนนปีๆนับหมื่นราย ในปี 2559 บันทึกไว้ที่องค์การอนามัยโลก 22,400 กว่าคน เหตุการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เราไม่อยากให้เกิด 15 ปีมานี้ทำให้คนทุกอาชีพเสียชีวิตหมดแล้วซึ่งก็ไม่อยากให้เกิด 


เมื่อไปดูตัวเลขของผู้เสียขีวิต คนไทยเสียชีวิตมาแล้ว 6,000 คน ใน 15 ปีย้อนหลัง เมื่อเทียบกับตัวเลขการเสียชีวิตบนท้องถนน 300,000 กว่าราย ซึ่งถือเป็นภัยที่ยิ่งใหญ่กว่าภัยอื่นๆ  


ดังนั้นผมจึงต้องเดินสายบอกบุญไปทั่วประเทศ เพื่อไม่ให้คนไทยตายบนท้องถนน และก็ไม่มีบุญไหนใหญ่กว่านี้อีกแล้ว จึงต้องชวนคนไทย ท่านผู้ว่า นายอำเภอทำบุญให้คนไทยไม่ตายบนท้องถนน

ทั้งนี้ ด้วยความทุ่มเทของพวกเราตัวเลขในปี 2559 ตัวเลขของผู้เสีบชีวิต 22,400 กว่าราย หลังจากที่พวกเราร่วมมือกันทุกฝ่ายในการช่วยกันป้องกันและลดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลต่างๆ ที่ผ่านมาพบว่า ปีที่แล้วตัวเลขในปี 64 ทั้งปีอยู่ที่ประมาณ 16,000 รายจาก 22,000 แสดงว่าจากปี 59 ถึงปี 64 สามารถลดการตายไปได้ 5000-6000 คน 


นี่ถือเป็นบุญกุศล ที่ช่วยให้ลดการเสียชีวิตน้อยลง นี่คือสิ่งที่ต้องชื่นชม ด้วยความเข้มงวด ด้วยความเข้มแข็งและทุ่มเทของเรา ทำให้ไปในทิศทางที่ลดลง และในปี 65 ก็จะเป็นการพิสูจน์ว่าตัวเลขจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงหรือไม่หลังจากสถานการณ์โควิด 


แต่มาถึงวันนี้ย่างเข้าเดือนที่ 7 ก็น่ากังวล เพราะตัวเลขข้อมูลจากบริษัทกลางของผู้ประสบภัยบนท้องถนน ตายไปแล้ว 7,000 กว่าราย โดยเฉพาะในเดือนนี้มีวันหยุดติดต่อกัน 15 วัน จึงเป็นสิ่งที่น่ากังวล 


จึงต้องขอฝากเป็นการบ้านกับท่านนายอำเภอซึ่งต้องดูว่าในพื้นที่ของท่าน พอหยุด 15 วันยิ่งหยุดยาวประชาชนก็จะนำยานพาหนะออกมาใช้บนท้องถนนมาก อันนี้จะเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุมาก จึงต้องช่วยกันระมัดระวังรวมถึงเดือนตุลาคมที่มีวันหยุดมากเช่นกัน ดังนั้นจึงต้องมีมาตราการที่เข้มงวดในช่วงวันหยุดเพื่อความปลอดภัยบนท้องถนน 


ดังนั้น ตัวเลขปีนี้อาจจะเพิ่มขึ้นถ้าเราไม่มีมาตรการ แต่ถ้าเรามีมาตรการเราน่าที่จะชะลอการเสียชีวิตไม่เพิ่มขึ้นได้ เพื่อให้ลดลงเป็นไปตามเป้าที่วางไว้ ซึ่งปีนี้เราหวังว่าจะมีคนเสียชีวิตบนท้องถนนไม่เกิน 22 คนต่อประชากร 100,000 ดังนั้นจึงอยากฝากการบ้านให้นายอำเภอสำรวจในพื้นที่ตนเองว่า ประชากรมีจำนวนเท่าไหร่ แล้วเอาไปหารดู ท่านก็จะรู้เลยว่าถ้าอย่างนี้ มันก็ไม่ควรเกิดการเสียชีวิตบนท้องถนนเกิน 1 คน อันนี้คือเป้า 


เพราะรัฐบาลประกาศแล้วว่าภายในปี 2570 ครม.ประกาศชัดเจนว่าคนไทยจะต้องเสียชีวิตบนท้องถนนไม่เกิน 12 คนต่อ 100,000 ประชากร อย่างน้อยต้องลดลงปีละ 2 เปอร์เซ็นต์ อันนี้อยู่ที่พวกเราทุกคนต้องทำวันนี้ ซึ่งท่านผู้ว่าเป็นประธาน ศปถ.ประจำจังหวัดท่านควบคุมทั้งจังหวัด แต่ผู้ปฏิบัติคือ ท่านนายอำเภอในฐานะเป็น ผอ.ศูนย์ความปลอดภัยบนท้องถนน 


พ่วงด้วย ศปถ.อบต.นี่คือกลไกที่มหาดไทยใช้ระเบียบของสำนักนายกปี 54 ที่กำหนดให้มีศูนย์ความปลอดภัยทางถนนระดับประเทศ โดยมีท่านนายกเป็นประธาน ฉะนั้นสิ่งนี้คือกลไกที่เราใช้แก้ปัญหาอยู่ในขณะนี้ 

 
ดังนั้นในเบื้องต้นจึงฝากท่านไปสำรวจดูว่าในอำเภอของท่านมีตำบลไหนบ้างที่ยังไม่มีศูนย์ความปลอดภัยทางท้องถนนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็ขอเชิญท่านนายก และผู้บริหารท้องถิ่นมาพบ แล้วจัดตั้ง ศปถ.อบต. ศูนย์ความปลอดภัยทางถนนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาเป็นกลไกให้ทุกท่าน เพื่อจะได้ดูแลในตำบลเพราะเป็นพื้นที่ของตำบลนั้นๆ 


“ทำไมต้องทำเรื่องท้องถิ่นมาดูแลความปลอดภัยบนท้องถนนด้วย เหตุเพราะถนนในประเทศไทย 700,000 กว่ากิโลเมตรอยู่กับกรมทางหลวง อยู่ที่ทางหลวงชนบทอีกกว่า 48,000 กิโลเมตร  เหลืออีก 600,000 กว่ากิโลเมตรจะอยู่ที่ อบต. เทศบาล อบจ. 


ฉะนั้นในช่วงเทศกาล 7 วันอันตรายส่วนใหญ่ก็จะอยู่ที่ทางหลวงแผ่นดินถนนสายหลักของแต่ละพื้นที่ ในชุมชนบ้าง ดังนั้นอีก 600,000 กว่ากิโลเมตร ถ้าเราไม่เอาท้องถิ่นมาดูแลแล้วใครจะดูแล นี่คือที่มาที่บอกว่า พวกเราต้องทำตำบลใหม่ปลอดภัย เพราะถ้าทำได้ทุกตำบลในอำเภอ ขับขี่ปลอดภัยได้ จังหวัดก็ขับขี่ปลอดภัยได้ 


ดังนั้นนโยบายในเรื่องขับขี่ปลอดภัยจึงเป็นเป้าที่เล็กที่สุด ถ้าหน่วยงาน รับผิดชอบที่เรียกว่า ศปถ.อบต.คือศูนย์ความปลอดภัยบนท้องถนนระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นลงไปทำให้เต็มที่ ก็จะเป็นการแบ่งเบาภาระให้นายอำเภอ คุมเฉพาะเรื่องนโยบายและเรื่องต่างๆ โดยมอบหมายให้ภารกิจนี้ให้ผู้บริหารท้องถิ่นทำ 


กลไกที่สำคัญที่สุดอยู่ที่ท้องที่กับท้องถิ่นต้องเดินด้วยกัน นั่นคือจะเป็นนักบริหารที่ดีได้ต้องบริหารสองขานี้ด้วยกัน เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขเพราะนายอำเภอสามารถสั่งการได้ตลอดเวลา เพราะท้องถิ่นกฏหมายเขียนไว้ให้กำกับ

  
กระทรวงมหาดไทยก็ได้ปลดพันธนาการให้กับท้องถิ่นมามาก ในการช่วยเหลือประชาชนที่มีความยากลำบาก และประสบความเดือดร้อน  ท่านจึงต้องชวนท้องถิ่นมาทำเรื่องนี้ด้วยการให้ท้องถิ่นมีแผนพัฒนาในเรื่องความปลอดภัยทางถนนที่เรียกว่าแผนพัฒนาท้องถิ่น เพื่อที่จะให้ท้องถิ่นสามารถตั้งงบประมาณบรรจุไว้ในแผนงบประมาณของท้องถิ่นได้


ส่วนหนึ่งที่เราต้องให้ท้องถิ่นเข้ามาช่วยเพราะถนนท้องถิ่นมีปัจจัยเสี่ยงกับการเสียชีวิตบนท้องถนน สาเหตุหลักคือเมาแล้วขับ ขับรถเร็ว ไม่สวมหมวกกันน็อค และสิ่งสำคัญ 80 เปอร์เซ็นต์ของคนตายบนท้องถนนเกิดจากรถจักรยานยนต์ ตราบใดที่เราไม่มีการป้องกันการเสียชีวิตเนื่องจากรถจักรยานยนต์เราก็ไม่สามารถลดจำนวนคนเสียชีวิตได้ วันนี้ปัญหาท้าทายของเราคือ ทำอย่างไรให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์เสียชีวิตน้อยลง
     

“ผมมาวันนี้ก็เพื่อพบกับท่านในการที่จะร่วมกันถอดบทเรียนและหามาตรการ วิธีการดีๆ ที่จะทำให้การสูญเสียชีวิตเนื่องจากรถจักรยานยนต์น้อยลง เป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เพื่อจะได้นำไปถ่ายทอดให้รับรู้ทั่วประเทศต่อไป”