เปลี่ยนชื่อ“สะพานพิบูลสงคราม” เป็น “สะพานท่าราบ”กทม.แจงแล้ว

02 ก.ค. 2565 | 14:24 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ก.ค. 2565 | 00:52 น.
1.2 k

สยบดราม่าเปลี่ยนชื่อ“สะพานพิบูลสงคราม” เป็น “สะพานท่าราบ” กทม.แจงแล้ว หลังเกิดการวิพากวิจารณ์ถึงความพยายามลบเลือนประวัติศาสตร์คณะราษฏรอีกครั้ง

จากกรณีโลกโซเชียลมีการแชร์ภาพ สะพานพิบูลสงคราม ใกล้แยกเกียกกาย
(รัฐสภา) มีการป้ายทับของเดิม โดยเปลี่ยนชื่อ เป็น สะพานท่าราบ ทำให้กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ ถึงการเปลี่ยนชื่อดังกล่าวเนื่องจากคุ้นชินกับชื่อสะพานพิบูลสงครามมาเป็นเวลานานหลายสิบปีแล้ว

 

เปลี่ยนชื่อ“สะพานพิบูลสงคราม” เป็น “สะพานท่าราบ”กทม.แจงแล้ว

 

ล่าสุดนายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่าเป็นป้ายอะคริลิกข้อความ สะพานท่าราบ มาติดทับชื่อสะพานพิบูลสงคราม ซึ่งเป็นชื่อเดิม เชื่อว่าเป็นการกลั่นแกล้ง จึงได้มอบหมายให้เจ้าหน้าศูนย์ก่อสร้างและบูรณะ ไปแจ้งความกับพนักงานสอบสวน สน.บางโพ รวมทั้งรื้อป้ายดังกล่าวออกทันที

 

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้มีรายงานว่าเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมา ป้ายชื่อ “สะพานพิบูลสงคราม” ใกล้แยกเกียกกาย (รัฐสภา) ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “สะพานท่าราบ” พ.ศ.2565 สร้างความประหลาดใจกับผู้พบเห็น ซึ่งคุ้นชินกับชื่อสะพานพิบูลสงครามมาเป็นเวลานานหลายสิบปีแล้ว

ขณะที่ช่วงเช้าที่ผ่านมา ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Sa-nguan Khumrungroj โพสต์ข้อความ ระบุว่า ด่วน ด่วน ด่วน 

เช้านี้  มือดีทุบทำลายป้ายชื่อ"เขตดุสิต" บน"สะพานท่าราบ" ที่ขึ้นป้ายแทน "สะพานพิบูลสงคราม"  เสียหายจำนวนมาก

 

หลังจากขึ้นป้ายชื่อใหม่ได้เพียงวันเดียว แทน "สะพานพิบูลสงคราม"ซึ่งสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2514 บนถนนประชาราษฎร์สาย 1  ใกล้แยกเกียกกาย เขตดุสิต เส้นทางยุทธศาสตร์จากกรุงเทพฯ มุ่งสู่นนทบุรี

 

ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณเชิงสะพาน  ส่วนใหญ่ไม่รู้"สะพานพิบูลสงคราม"ถูกเปลี่ยนชื่อตั้งแต่เมื่อไหร่  และไม่สนใจเรื่องราวที่เกิดขึ้น

 

เปลี่ยนชื่อ“สะพานพิบูลสงคราม” เป็น “สะพานท่าราบ”กทม.แจงแล้ว


รวมถึงมีการวิพากวิจารณ์ถึงความพยายามลบเลือนประวัติศาสตร์คณะราษฏรอีกครั้ง โดยระบุว่าป้ายชื่อ "สะพานพิบูลสงคราม"ซึ่งสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2514 บนถนนประชาราษฎร์สาย 1  ใกล้แยกเกียกกาย เขตดุสิต เส้นทางยุทธศาสตร์จากกรุงเทพฯ มุ่งสู่นนทบุรีบัดนี้ได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น "สะพานท่าราบ" พร้อมปี พ.ศ.2565  

 

"ท่าราบ"คือนามสกุลของ พันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม “ดิ่น ท่าราบ" หนึ่งในสมาชิกกบฏบวรเดชเมื่อปี 2476  ในฐานะเป็นแม่ทัพ รับหน้าที่เป็นกองระวังหลัง พยายามยึดอำนาจจากรัฐบาลคณะราษฎรแต่ไม่สำเร็จ ถูกยิงเสียชีวิตใกล้กับที่สถานีรถไฟหินลับ จังหวัดสระบุรี

 

พระยาศรีสิทธิสงคราม เป็นบิดาของ"อัมโภชน์ ท่าราบ"--มารดาของพลเอก สุรยุทธ์ จุลานท์ องคมนตรี และอดีตนายกรัฐมนตรีนั่นเอง

9 ตุลาคม 2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นประธานพิธีเปิดห้องศรีสิทธิสงคราม และห้องบวรเดช ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์กองทัพบกเฉลิมพระเกียรติ ได้ระบุว่าเป็นชื่อของนายทหารผู้ที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบัน  โดยพล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบกขณะนั้น ได้ใช้ห้องประชุมภายในอาคารศรีสิทธิสงครามเป็นครั้งแรก 

(ภาพ:สงวน  คุ้มรุ่งโรจน์)

 

เปลี่ยนชื่อ“สะพานพิบูลสงคราม” เป็น “สะพานท่าราบ”กทม.แจงแล้ว

 

ขณะที่เพจโบราณนานมา ให้ข้อมูลจาก “สะพานพิบูลสงคราม” สู่ “สะพานท่าราบ”
ระบุว่า“สะพานพิบูลสงคราม” นั่นหลายคนน่าจะทราบดีว่า มาจากชื่อบรรดาศักดิ์ที่ต่อมาเป็นนามสกุลของ “จอมพล ป. พิบูลสงคราม” บรรดาศักดิ์เดิม คือ “หลวงพิบูลสงคราม” นามเดิม “แปลก ขีตตะสังคะ” เป็นสมาชิกคณะราษฎร ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และเป็นรัฐมนตรีอีกหลายกระทรวง และอดีตนายกรัฐมนตรีไทยที่ดำรงตำแหน่งนานที่สุดในไทยเกือบ 14 ปี 

 

ส่วน “สะพานท่าราบ” ชื่อสะพานนี้น่ามาจากสกุลของ  “พระยาศรีสิทธิสงคราม” นามเดิมคือ  “ดิ่น ท่าราบ” เป็นนายทหารบกชาวไทย มีบทบาทสำคัญในฐานะแม่ทัพหน่วยล่วงหน้าและหน่วยระวังหลังของฝ่ายกบฏในเหตุการณ์กบฏบวรเดช มีศักดิ์เป็นตาของพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารสูงสุด อดีตนายกรัฐมนตรีไทย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรี

 

“พระยาศรีสิทธิสงคราม” มีนามเดิมว่า “ดิ่น ท่าราบ” เกิดที่ตำบลท่าราบ จังหวัดเพชรบุรี ในครอบครัวชนชั้นกลางซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรม ดิ่นเป็นคนเรียนเก่ง สอบเข้านายร้อยทหารบก และจบการศึกษาได้ที่ 1 จึงได้ทุนการศึกษาไปศึกษาต่อที่จักรวรรดิเยอรมันรุ่นเดียวกับพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) และพระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) 


ทั้งสามคนเข้าเรียนที่โรงเรียนเตรียมนายร้อยในเมืองพ็อทซ์ดัมเป็นเวลาหนึ่งปี และเข้าเรียนที่โรงเรียนนายร้อยปรัสเซียในกรุงเบอร์ลิน ในช่วงนี้ทั้งสามคนสนิทสนมกันมากจนได้รับฉายาจากพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอดิศรอุดมศักดิ์ ว่าเป็น “สามทหารเสือ” เช่นเดียวกับสามทหารเสือในนวนิยายของอาแล็กซ็องดร์ ดูว์มา

 

ระหว่างที่อยู่ทวีปยุโรปนี้ “ประยูร ภมรมนตรี” เริ่มเป็นตัวกลางชักชวนบุคคลต่าง ๆ ให้เปลี่ยนแปลงการปกครอง ประยูรใช้เวลาร้องขอพระยาศรีสิทธิสงครามกว่าปีเศษจึงยอมร่วมมือ แต่มีเงื่อนไขว่าขอดูตัวผู้ที่จะเป็นหัวหน้าคณะก่อการเสียก่อน แต่เมื่อทราบผู้นำการก่อการคือสองเพื่อนสนิทของตน จึงขอถอนตัวโดยรับปากว่าจะไม่เอาความลับไปแพร่งพราย และจะติดตามดูอยู่จากวงนอกเท่านั้น

 

“ดิ่น ท่าราบ” อยู่ที่ยุโรปประมาณสิบปีแล้วจึงเดินทางกลับสยามและได้รับยศร้อยตรี ในปี2470  และมีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่ตามลำดับ จนได้รับยศเป็นพันเอก  ในปี 2471 ขณะอายุได้ 37 ปี แรกเป็นนายทหารประจำกรมเสนาธิการทหารบก ต่อมาได้เป็นหัวหน้าแผนกที่ 2 กรมเสนาธิการทหารบกในปี 2473 และดำรงตำแหน่งเสนาธิการกองทัพที่ 1 ในปีเดียวกัน และได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาศรีสิทธิสงคราม” เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2474

 

ขณะอายุได้ 40  ปี พระยาศรีสิทธิสงครามเคยออกความเห็นว่าระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นไม่เหมาะสมแก่ยุคสมัย สมควรเปลี่ยนแปลงเป็นระบอบประชาธิปไตย แต่ต้องเป็นวิธีที่ไม่ใช้ความรุนแรง

 

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475  พระยาพหลพลพยุหเสนา (กลุ่มสามทหารเสือ) ชักชวนพระยาศรีสิทธิสงคราม (กลุ่มสามทหารเสือ) เข้าร่วมคณะราษฎร แต่พระยาศรีสิทธิฯ ก็ปฏิเสธไปเนื่องจากไม่ชอบวิธีการรุนแรงที่คณะราษฎรใช้เปลี่ยนแปลงการปกครอง พระยาทรงสุรเดช (กลุ่มสามทหารเสือ) ไม่พอใจจึงสั่งย้ายพระยาศรีสิทธิฯ ไปประจำกระทรวงธรรมการ นัยว่าเป็นการลงโทษ

 

ในเดือนมิถุนายน2476  พระยาพหลฯ กับพระยาทรงฯ ทะเลาะกันเรื่องงานจนวังปารุสก์แทบแตก พระยาทรงสุรเดช, พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ), พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) ปรึกษากันแล้วเห็นว่าถ้ารับราชการแล้วต้องมาทะเลาะกันแบบนี้ก็ลาออกดีกว่า ทั้งสามพระยาจึงลาออก ส่งผลให้พระยาพหลฯ ต้องลาออกตามเพื่อรักษามารยาท นั่นทำให้ตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลและกองทัพที่เคยเป็นของสี่เสือคณะราษฎรว่างลงทั้งหมด

 

พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (นายกรัฐมนตรีขณะนั้น) ปรึกษากับพันโทหลวงพิบูลสงคราม ได้ข้อสรุปว่าจะให้พันโทประยูร ไปเชิญพลตรีพระยาพิไชยสงครามมา เป็นผู้บัญชาการทหารบก, เชิญพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม มาเป็นเจ้ากรมยุทธการทหารบก ส่วนตัวหลวงพิบูลจะขอเป็นเพียงผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก พระยาพหลฯ ไม่คัดค้านจึงเป็นอันตกลงกันได้ ในที่สุดก็มีพระบรมราชานุญาติให้สี่ทหารเสือลาออก ระหว่างนี้ให้บุคลลที่จะได้รับแต่งตั้งรักษาราชการในตำแหน่งที่ว่างลงไปพลางก่อน

 

เมื่อกลับสู่กองทัพ พระยาศรีสิทธิสงคราม เตรียมโยกย้ายนายทหาร (สายคณะราษฎร) ทั้งหมดออกจากตำแหน่งคุมกำลังพล การข่าวเรื่องนี้หลุดไปถึงหลวงพิบูลสงคราม ทำให้ในวันที่ 20 มิถุนายน พระยาพหลฯ หลวงพิบูลฯ และหลวงศุภชลาศัย ชิงก่อรัฐประหารล้มรัฐบาลพระยามโนปกรณนิติธาดา หลวงพิบูลบอกพันโทประยูรว่า “...ประยูร จำเป็นต้องทำ ไม่มีทางเลี่ยง เพราะเจ้าคุณศรีสิทธิสงครามเล่นไม่ซื่อหักหลัง เตรียมสั่งย้ายนายทหารผู้กุมกำลังทั้งกองทัพ พวกก่อการจะถูกตัดตีนมือและถูกฆ่าตายในที่สุด...”

 

ประยูรได้เขียนบันทึกไว้ว่า “...ต่อมาอีก 2-3 วัน ท่านเจ้าคุณศรีสิทธิสงครามมาหาข้าพเจ้าที่บ้านบางซื่อ หน้าเหี้ยมเกรียม ตาแดงก่ำเป็นสายเลือด นั่งกัดกรามพูดว่าหลวงพิบูลสงครามเล่นสกปรก ท่านจะต้องกำจัด จะต้องฆ่าหลวงพิบูลสงคราม แต่จะต้องดูเหตุการณ์ไปก่อน ถ้าหลวงพิบูลล่วงเกินพระเจ้าแผ่นดินเมื่อใด ท่านเป็นลงมือเด็ดขาด...” พระยาศรีสิทธิสงครามถูกโอนย้ายไปสังกัดกระทรวงธรรมการตามเดิม

 

ในเหตุการณ์กบฏบวรเดชในเดือนตุลาคม2476  พระยาศรีสิทธิสงคราม เข้าร่วมด้วย มีฐานะเป็นแม่ทัพ รับหน้าที่เป็นกองระวังหลัง จนเมื่อทางฝ่ายกบฏเพลี่ยงพล้ำต่อรัฐบาล ในเวลาพลบค่ำของวันที่23 ตุลาคม ปีเดียวกัน พระยาศรีสิทธิสงคราม ถูกยิงเสียชีวิตใกล้กับที่สถานีรถไฟหินลับ จังหวัดสระบุรี โดยหน่วยของว่าที่ร้อยตรีตุ๊ จารุเสถียร 

 

จากนั้นร่างของพระยาศรีสิทธิสงครามได้ถูกส่งกลับกรุงเทพมหานคร โดยทำการฌาปนกิจอย่างเร่งด่วนที่วัดอภัยทายาราม หรือวัดมะกอก โดยที่ทางครอบครัวไม่ได้รับรู้มาก่อนเลย และกว่าจะได้อัฐิกลับคืนก็เป็นเวลาล่วงไป 3-4 ปีแล้ว อีกทั้งยังถูกคุกคามต่าง ๆ นานา ตลอดสมัยรัฐบาลหลวงพิบูลสงครามจนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง

 

ปัจจุบันนามของ “พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ)” ถูกนำมาตั้งเป็นชื่อที่ต่าง ๆ เช่น “ห้องศรีสิทธิสงคราม” ในอาคารพิพิธภัณฑ์กองทัพบกเฉลิมพระเกียรติ (ในปี ๒๕๖๒)