ครม.หั่นงบจัดซื้อวัคซีนโควิด 123 ล้าน ประเมินคนต้องการฉีดลดลง

21 มิ.ย. 2565 | 15:17 น.
อัปเดตล่าสุด :21 มิ.ย. 2565 | 22:22 น.
1.6 k

ที่ประชุม ครม. ปรับลดกรอบวงเงินจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 แอสตร้าเซนเนก้า ในปี 2565 ลงจำนวน 123 ล้านบาท ประเมินคนต้องการฉีดลดลง พร้อมเปลี่ยนแปลงโครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ของ ChulaCov19 mRNA เพื่อทำการทดสอบทางคลินิกระยะที่ 1-3

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค เปลี่ยนแปลงรายละเอียดสาระสำคัญของการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สำหรับบริการประชากรในประเทศไทยจำนวน 60 ล้านโดส ของแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) ในปี 2565

 

โดยปรับลดการจัดซื้อวัคซีน AstraZeneca จากเดิม 60 ล้านโดส กรอบวงเงิน 18,762 ล้านบาท เป็นการจัดซื้อวัคซีน AstraZeneca จำนวน 35.4 ล้านโดส กรอบวงเงิน 11,069 ล้านบาท และเพิ่มการจัดซื้อภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปหรือแอนติบอดี้ออกฤทธิ์ยาว (Long-acting antibody : LAAB) จำนวน 257,500 โดส กรอบวงเงิน 7,569 ล้านบาท 

 

ทั้งนี้ทำให้กรอบวงเงินโดยรวมของโครงการปรับลดไป 123.41 ล้านบาท จากกรอบวงเงินเดิม 18,762 ล้านบาท เหลือ 18,639 ล้านบาท พร้อมขยายระยะเวลาสิ้นสุดโครงการจากเดือนกันยายน 2565 เป็นเดือนธันวาคม 2565 โดยให้กรมควบคุมโรคบริหารการจัดการและการกระจายวัคซีนโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพ ให้เพียงพอสำหรับประชาชนภายในประเทศและไม่เหลือทิ้ง

สำหรับในปี 2565 นี้ ประชากรในประเทศมีความต้องการวัคซีนโควิด-19 ลดลง ประกอบกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โควิด-19 มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่องรวมทั้งมีวัคซีนที่ได้รับจากการบริจาคจากต่างประเทศจำนวนมาก ทำให้วัคซีนสำรองในประเทศเพียงพอ กรมควบคุมโรคจึงพิจารณาปรับแผนการจัดซื้อวัคซีนเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ดังกล่าวโดยปรับลดจำนวนวัคซีน AstraZeneca จาก 60 ล้านโดสเป็น 35.4 ล้านโดส 

 

โดยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 บริษัทฯ ได้ส่งมอบวัคซีนแล้วจำนวน 13.2 ล้านโดส ซึ่งจะได้มีแผนรับมอบ จำนวน 11.2 ล้านโดสภายในปี 2565 ส่วนที่เหลืออีก 11 ล้านโดสคาดว่าจะได้รับมอบภายในไตรมาสที่ 2 ปี 2566 

 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตจากโรค โควิด-19 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีภูมิคุ้มกันต่ำซึ่งมีความเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิตหากมีการติดเชื้อแม้นว่าจะได้รับการฉีดวัคซีนแต่ไม่เกิดภูมิคุ้มกันโรคเนื่องจากร่างกายของผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่สามารถสร้างแอนติบอดี้จากวัคซีนได้เหมือนกับคนปกติทั่วไป 

 

ดังนั้นจึงจำเป็นต้องปรับเพิ่มการจัดซื้อภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (LAAB) จำนวน 257,500 โดส โดยมุ่งใช้กับกลุ่มเสี่ยงสูงที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ 3 กลุ่มโรคได้แก่ ผู้ป่วยล้างไต ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะและผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันตนเอง ซึ่งจะช่วยป้องกันการป่วยได้ถึง 83%

 

งนี้ กรมควบคุมโรค จะได้มีการปรับแผนรับมอบวัคซีนเพื่อให้สอดคล้องกับการคาดการณ์ความต้องการวัคซีนเข็มกระตุ้น (Booster Dose) ภายในประเทศ และลดการสูญเสียกรณีวัคซีนหมดอายุด้วย

พร้อมกันนี้ ครม. ยังอนุมัติให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 (ChulaCov19 mRNA) เพื่อทำการทดสอบทางคลินิกระยะที่ 1-3 และการผลิตเพื่อขึ้นทะเบียนรับการรับรองจาก อย. พร้อมขยายระยะเวลาสิ้นสุดโครงการ เป็นเดือนธันวาคม 2565

 

โดยมอบหมายให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญกับการพัฒนาและผลิตวัคซีนโควิด-19 (ChulaCov19mRNA) ที่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสที่ก่อโรคโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ให้สำเร็จตามเป้าหมาย

 

ทั้งนี้เพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการพัฒนาและผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 และยังช่วยยกระดับห่วงโซ่การผลิตวัคซีนภายในประเทศและลดความเสี่ยงในการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคอุบัติใหม่ของประเทศด้วย