สุดห่วง ผลกระทบกัญชาเสรี "วงเสวนาวิชาการ" หวั่น "เด็ก-เยาวชน" แห่ใช้

15 มิ.ย. 2565 | 15:43 น.
อัปเดตล่าสุด :15 มิ.ย. 2565 | 22:54 น.
694

วงเสวนาวิชาการ ถาม“อนุทิน” รับไหวไหม! "ผลกระทบจากกัญชา" ปล่อยปชช.ใช้วิจารณญาณ สุดห่วงเมากัญชาแล้วขับ–เด็กเยาวชนแห่ใช้ จี้ออกกม.รัดกุม กำหนดปริมาณครอบครอง คงช่อดอกเป็นยาเสพติด เหตุมี THC สูง

วันที่ 15 มิถุนายน 2565 เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต และมูลนิธิเมาไม่ขับ ร่วมกันจัดเสวนา หัวข้อ “นโยบายกัญชาเสรีกับปัญหาอุบัติเหตุเสพ(เมา)แล้วขับและการปกป้องเด็กและเยาวชนไทย

 

นายสุรสิทธิ์ ศิลปะงาม ผู้จัดการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าวว่า ตนไม่ได้คัดค้านการใช้กัญชาทางการแพทย์ แต่ตอนนี้คนทำงานเรื่องนี้กำลังช็อค เพราะตอนแรกก็เน้นการใช้ทางการแพทย์ เพื่อลดใช้ยาต่างประเทศ แต่ในทางปฏิบัติไม่ได้เป็นไปตามนั้น

สุดห่วง ผลกระทบกัญชาเสรี \"วงเสวนาวิชาการ\" หวั่น \"เด็ก-เยาวชน\" แห่ใช้

โดยปลดล็อคกัญชาออกจากยาเสพติด ทั้งที่ร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ.... ยังไม่ออกมาใช้ ซึ่งคาดว่าน่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน เผลอๆ รัฐบาลชุดนี้หมดวาระลงไปก่อนด้วยซ้ำ จะทำให้ช่วงเวลาก่อนที่ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวจะออกมากลายเป็นหลุมดำขนาดใหญ่

 

ที่น่าห่วงคือการการใช้ในเด็ก เยาวชน ในโรงเรียน ขนาดยาบ้ามีกฎหมายควบคุมไว้ยังพบการลักลอบใช้ในโรงเรียน นี่มีกัญชาเข้ามาอีก อีกปัญหาที่น่ากังวลคือการเมากัญชาแล้วขับ ซึ่งกรณีที่เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกมาพูดก่อนหน้านี้ว่าคนใช้กัญชาไม่ขับรถนั้น เป็นการพูดจากข้อมูล 40-50 ปีก่อน ตอนนี้มีการใช้หลายแบบ มีสูตรผสมต่างๆ ที่อันตราย และคนใช้ก็มีหลายประเภท บางคนง่วงหลับ บางคนครึกครื้น

 

ดังนั้นในช่วงนี้รัฐบาลต้องเอาจริงในการหารือ สั่งการกระทรวงมหาดไทย ให้สั่งการกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คอยดูแลไม่ให้มีการเอากัญชาไปใช้ในทางที่ผิด รัฐก็ต้องควบคุมเพราะตอนนี้เสรีมากเกินไป

สุดห่วง ผลกระทบกัญชาเสรี \"วงเสวนาวิชาการ\" หวั่น \"เด็ก-เยาวชน\" แห่ใช้

“ที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ระบุว่าไม่ได้ส่งเสริมให้มีการใช้สันทนาการ ให้ประชาชนใช้วิจารณญาณ และสอดส่องกันนั้นเป็นการผลักภาระให้ประชาชนเกินไป ท่านเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขไม่ควรพูดเช่นนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขต้องมีหน้าที่ปกป้องคุณภาพชีวิตของคนไทย แต่เข้าใจนโยบายพรรคประกาศมาแต่แรก แต่นักการเมืองก็คือนักการเมือง แต่ทำอะไรต้องมีขอบเขต ถ้าจะผลักกัญชาเป็นสินค้าทางการแพทย์เพื่อดูแลคนป่วยก็เอาทางด้านนั้นไปเลย หมอคงไม่ขัด แต่ตอนนี้นโยบายออกมาไม่มีใครพูดถึงทางการแพทย์ ไปพูดถึงแต่สันทนาการหมด ประเด็นถูกเบี่ยง เหมือนการเมืองนโยบายบรรลุแล้ว แต่ภาระทั้งหมดตกอยู่กับประชาชน แล้วอย่าลืมว่าทุกวันนี้สังคมไทยอ่อนแอมาก รองอนุทิน รับผิดชอบไหวหรือไม่” นายสุรสิทธิ์ กล่าว 

 

ด้าน นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก และที่ปรึกษามูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว กล่าวว่า นาทีนี้กัญชาไม่ใช่สารเสพติดประเภทที่ 5 ตามคำประกาศอันศักดิ์สิทธิ์ผ่านทางรัฐมนตรีสาธารณสุข นายอนุทิน  ชาญวีรกุล แบบเรียบร้อยโรงเรียนพรรคภูมิใจไทยไปแล้ว ผลที่ตามมาคือ คนไทยตั้งแต่แก่ ยันเด็ก สามารถเข้าถึงกัญชาได้อย่างเสรี แต่สิ่งที่เปลี่ยนไม่ได้คือสารเสพติดในช่อดอกกัญชา

 

ทั้งนี้ตนไม่คัดค้านกัญชาเพื่อการแพทย์ เพื่อสุขภาพ ส่วนกัญชาเพื่อเศรษฐกิจนั้นก็ไม่แน่ใจว่าเศรษฐกิจใครระหว่างทุนใหญ่กับชาวบ้าน ซึ่งทุกฝ่ายต้องจับตาและช่วยกันวิเคราะห์ แต่ที่ตนอยากรู้ว่ากัญชาเพื่อนันทนาการนั้นใครจะรับผิดชอบและรับผิดชอบอย่างไรไม่ให้เป็นหลุมดำหลุมใหม่ของเด็กและเยาวชน

 

“กัญชาเสมือนดาบที่คมกริบทั้ง 2 ด้าน คำถามคือ มาตราใดของ ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ...ของพรรคภูมิใจไทย ที่แสดงถึงความผิดชอบทางจริยธรรมของพรรคการเมือง ของนักการเมืองกรณีการปกป้องเด็กและเยาวชนจากคมดาบที่คมกริบอีกด้านของกัญชา อย่าเอาเรื่องยา หรือสารต่างๆ มาแปรรูปเป็นสารเสพติดมาเป็นข้ออ้างสร้างความชอบธรรมให้วาทกรรม และกติกากัญชาเสรี ไม่ละอายใจหรือที่ขยันสร้างภัยคุกคามเด็กเยาวชน ซึ่งโดยหลักการรัฐต้องให้ความสำคัญหรือต้องควบคุมการเข้าถึง การซื้อ การขายกัญชาให้กับเด็กและเยาวชนอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่แนะนำให้ลดความต้องการหรือรู้จักใช้ ใช่ให้เป็นเช่นที่รัฐมนตรีสาธารณสุขอนุทินให้สัมภาษณ์หลังมีข่าวผู้เสพกัญชาเสียชีวิต” นางทิชา กล่าว

 

ขณะที่ รศ.พญ. รัศมน กัลยาศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก. ) กล่าวว่า ขณะนี้มีร่างพ.ร.บ.กัญชาฯ 2 ฉบับที่อยู่ในการแปรญัตติของกรรมาธิการ โดยร่างฯ ของพรรคพลังประชารัฐนั้นค่อนข้างรัดกุม โดยรวมเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ป้องกันการนำไปใช้สันทนาการ

 

ส่วนร่างฯ ของพรรคภูมิใจไทยจะไม่ค่อยมีข้อห้ามเรื่องของการใช้สันทนาการนัก เช่น ไม่กำหนดปริมาณการครอบครองของแต่ละคน ซึ่งในต่างประเทศที่มีการเปิดใช้กัญชานั้นจะมีข้อกำหนดตรงนี้ และมีข้อกำหนดไม่ให้ปกปิดมิดชิด ไม่โชว์หน้าบ้าน เช่นที่ สหรัฐอเมริกา

สุดห่วง ผลกระทบกัญชาเสรี \"วงเสวนาวิชาการ\" หวั่น \"เด็ก-เยาวชน\" แห่ใช้

ดังนั้นประเทศไทยก็ต้องศึกษาประสบการณ์ของต่างประเทศที่เปิดใช้เสรี ซึ่งก็ยังมีปัญหาเรื่องผลกระทบ ไทยก็ไม่ควรเสรีไปมากกว่านั้น ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ กฎหมายที่ออกมาก็อยากให้กำหนดปริมาณการครอบครอง กำหนดให้ช่อดอกยังคงเป็นยาเสพติด เพราะที่มีสาร THC สูง การปลูกนอกจากจดแจ้งแล้ว ควรกำหนดเรื่องการเก็บ หรือปิดไม่ให้นำมาแสดงให้เห็นได้โดยทั่วไป ทั้งนี้ยืนยันว่าการที่หลายฝ่ายออกมาพูดถึงผลกระทบนั้นไม่ใช่การดิสเครดิสใคร เพราะเท่าที่ติดตามคนที่ออกมาก็เป็นนักวิชาการ เป็นองค์กรวิชาชีพที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย แต่ที่ออกมาเพราะเป็นห่วงผลกระทบ ต้องการให้ร่วมกันหาทางนำกัญชามาใช้ให้เกิดประโยชน์ และปลอดภัยที่สุด    

 

“กฎหมายต้องมีความรัดกุม ดีกว่าให้ประชาชนเลือกเอง หรือระมัดระวังตัวเอง เพราะกัญชาอยู่ในการควบคุมเข้มงวดมาเป็นเวลานาน คนรู้สึกอยากทดลองใช้ ร่วมกับข้อมูลต่างๆ ที่ออกมา คนอาจจะแห่เข้าไปใช้มากขึ้น ที่กังวลมากคือเด็ก และเยาวชน และโดยนัยยะเราจะไม่ไปว่าคนที่ใช้กัญชา แต่ต้องมีการควบคุมการขาย ควบคุมการเข้าถึง เราเน้นมาตรการมากกว่าที่จะไปโทษคนใช้ หรือไปบอกเขาว่าทำไมไม่หัดใช้ให้ถูก เราได้แต่แนะนำว่าใช้อย่างไร ในขณะที่มาตรการของเราก็ต้องเข้มข้นด้วย เพื่อที่จะช่วยพิทักษ์ความปลอดภัยให้ประชาชน” รศ.พญ. รัศมน  กล่าว