รัฐฯแจงเหตุชะลอนโยบายเงินอุดหนุนบุตรแบบถ้วนหน้า

10 มิ.ย. 2565 | 14:19 น.
อัปเดตล่าสุด :10 มิ.ย. 2565 | 21:49 น.
2.8 k

รัฐฯชะลอนโยบายขยายสวัสดิการเงินอุดหนุนบุตรถ้วนหน้า หลังโควิดพ่นพิษ เศรษฐกิจในประเทศได้รับผลกระทบ แต่ยืนยันไม่ทิ้งแนวคิดการจัดสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กแบบถ้วนหน้า คาดอาจใช้เวลา 2-3 ปี เบื้องต้นเตรียมปรับแผนเพื่อรองรับการดำเนินงานในอนาคตแล้ว

ตามที่คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์) เป็นประธานกรรมการ ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการช่วยเหลือและจัดสวัสดิการเงินอุดหนุนฯ ให้ครอบคลุมเด็กที่อยู่ในครอบครัวยากจนมาอย่างต่อเนื่อง และได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่  2 กรกฎาคม 2563 เห็นชอบหลักการในการให้เงินอุดหนุนเด็กอายุ 0 - 6 ปี แบบถ้วนหน้า 

 

และมติการประชุม กดยช. ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563 เห็นชอบแนวทางการจัดสวัสดิการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดแบบถ้วนหน้า ในอัตรา 600 บาทต่อคน ต่อเดือน เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2565 และให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นำเสนอแนวทางการจัดสวัสดิการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดแบบถ้วนหน้า ต่อคณะรัฐมนตรี

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดย กรมกิจการเด็กและเยาวชน ได้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นระยะ แต่เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลให้ประเทศไทยมีการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงอย่างมาก และรัฐบาลมีภาระค่าใช้จ่ายสูงขึ้น จึงอาจจะยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่รัฐบาลจะผลักดันนโยบายการจัดสวัสดิการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดแบบถ้วนหน้า แต่ยืนยันว่าไม่ละทิ้งแนวคิดขับเคลื่อนการจัดสวัสดิการเด็กเล็กให้เป็นแบบถ้วนหน้า 

 

ทั้งนี้ อาจจะใช้ระยะเวลา  2 – 3 ปี เมื่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น  อย่างไรก็ดีเพื่อเป็นการเตรียมการรองรับนโยบายการจ่ายเงินอุดหนุนฯ แบบถ้วนหน้า และให้สอดคล้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีในปัจจุบันและอนาคต กรมกิจการเด็กและเยาวชน ได้มีการปรับปรุงการดำเนินงานโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ดังนี้ 
 

1.การพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพฐานข้อมูลโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด รองรับการให้บริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสามารถรองรับกลุ่มเป้าหมายเด็กแรกเกิด – 6 ปี ทุกคน จุดเด่นคือ ผู้ปกครองสามารถยื่นขอรับสิทธิผ่าน Mobile Application ซึ่งเชื่อมโยงกับข้อมูลทะเบียนราษฎร กรมการปกครอง เพื่อยืนยันตัวตนของผู้รับสิทธิ ลดความผิดพลาดในการนำเข้าข้อมูล ลดจำนวนเอกสาร ลดระยะเวลาการดำเนินการเงินอุดหนุนเข้าบัญชี

 

ผู้ปกครองลงทะเบียนได้โดยตรงผ่านบริการ Prompt Pay และได้รับการแจ้งเตือนผ่าน Application ตลอดจนเชื่อมโยงฐานข้อมูลกับฐานข้อมูลสวัสดิการอื่น เพื่อการพัฒนาศักยภาพและคุ้มครองสิทธิของเด็กและครอบครัวให้เข้าสู่บริการของภาครัฐได้อย่างทั่วถึง 

 

2.การเชื่อมโยงฐานข้อมูลเด็กที่ได้รับเงินอุดหนุนฯ กับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อติดตามการเข้าสู่การคัดกรองพัฒนาการของเด็ก ภาวะโภชนาการ การฉีดวัคซีน การดื่มนมแม่ และการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขด้านอื่น ๆ ซึ่งในอนาคตหากมีการปรับนโยบายเงินอุดหนุนเป็นแบบถ้วนหน้า จะทำให้เป็นภาพรวมของการเข้าสู่บริการด้านสุขภาพของเด็กตั้งแต่แรกเกิด – 6 ปี ได้อย่างเป็นรูปธรรม 

 

3.การเชื่อมโยงฐานข้อมูลเด็กที่ได้รับเงินอุดหนุนฯ อายุ 3 ปีขึ้นไป กับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อติดตามการเข้าสู่ระบบการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลขึ้นไป ที่อยู่ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ โรงเรียนสาธิตในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ และที่เข้ารับบริการสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย  

 

4.การปรับปรุงระเบียบกรมกิจการเด็กและเยาวชน ว่าด้วยการจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด พ.ศ. 2562 และคู่มือการปฏิบัติงานโครงการฯ ซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบันให้รองรับการดำเนินงานโครงการผ่านระบบดิจิทัล