รู้จัก "จักกพันธุ์ ผิวงาม" หลัง "ชัชชาติ" จีบร่วมทีมรับตำแหน่ง รองผู้ว่ากทม.

28 พ.ค. 2565 | 01:00 น.
อัปเดตล่าสุด :28 พ.ค. 2565 | 07:17 น.
7.2 k

รู้จัก "จักกพันธุ์ ผิวงาม" หลัง "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. จีบเข้าร่วมทีมบริหารคัมแบ็คตำแหน่ง รองผู้ว่าฯ กทม.

หลังจากปล่อยให้เหล่าแฟนคลับนั่งลุ้นกันมาสักพักหนึ่งว่า ใครจะเข้ามาเสริมทัพให้กับ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ ล่าสุดระหว่างลงพื้นที่สำรวจที่ดินเอกชนติดรถไฟฟ้า MRT วงศ์สว่างที่จะให้ กทม.ทำเป็นสวนสาธารณะ นายชัชชาติ ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างชัดเจนว่า ได้เชิญ นายจักกพันธุ์ ผิวงาม อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. และนายภิมุข สิมะโรจน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซัสโก้ จำกัด (มหาชน) มาร่วมทีมบริการของตน

 

ฐานเศรษฐกิจ พาไปทำความรู้จัก "นายจักกพันธุ์ ผิวงาม" หนึ่งในคีย์แมนคนสำคัญที่ถูกพูดถึงในครั้งนี้กัน

 

นายจักกพันธุ์ ผิวงาม เกิดเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2499 สำเร็จปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ปริญญาโทจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชีวิตทำงานเริ่มจากเป็นอาจารย์ที่โรงเรียนวัดหัวลำโพง และเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไปกองกลาง สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

จากนั้นได้เข้ารับราชการเป็นนักสถิติ 3-5 งานวิจัยทางผังเมือง กองผังเมือง สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป 5 งานเรื่องราวและนโยบายเฉพาะกิจ และเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป 6 , หัวหน้าฝ่ายบริหารทั่วไป และเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป 7 หัวหน้าฝ่ายการเมืองและประสานนโยบาย สำนักงานเลขานุการผู้ว่าฯกทม.

 

เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตบางกอกใหญ่ หัวหน้าสำนักงานเลขานุการผู้ว่าฯ กทม. แล้วเป็นผู้อำนวยการ (ผอ.) เขตบางกอกใหญ่ เขตจอมทอง จตุจักร และทวีวัฒนา ต่อมาเป็นรองผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รองผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ รองหัวหน้าผู้ตรวจราชการ กทม. ก่อนเกษียณอายุราชการด้วยตำแหน่ง รองปลัด กทม. 

หลังจากเกษียณได้เพียง 19 วัน "พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง" ผู้ว่าฯกทม. ขณะนั้นได้ทาบทามให้มาดำรงตำแหน่ง รองผู้ว่าฯ กทม. มอบหมายให้รับผิดชอบ 6 หน่วยงาน ซึ่งประกอบด้วย

1.สำนักงบประมาณกรุงเทพมหานคร 

2. สำนักการโยธา

3. สำนักการระบายน้ำ

4. สำนักสิ่งแวดล้อม

5. สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว

6. สำนักงานเขตในส่วนที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายโยธา ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ

 

อย่างไรก็ดี หลังจากทำงานได้ระยะหนึ่ง นายจักกพันธุ์ ได้ยื่นหนังสือลาออกต่อ พล.ต.อ.อัศวิน เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2565 ซึ่งสร้างความตกใจให้กับข้าราชการกทม.อย่างมาก เนื่องจากเป็นคนขยัน มุ่งมั่น และตั้งใจทำงาน แม้ในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ก็ยังลงพื้นที่ตรวจติดตามงานและความคืบหน้าโครงการต่าง ๆ ของกทม.

 

สำหรับสาเหตุของการตัดสินใจลาออกในครั้งนี้ เชื่อกันว่า น่าจะมาจากแรงกดดันให้เซ็นอนุมัติผลการประกวดราคา ดำเนินโครงการเตาเผาขยะ 2 แห่ง คือ ที่ หนองแขมและอ่อนนุช วงเงินรวมนับหมื่นล้านบาทที่ถูกภาคเอกชนร้องเรียนว่า มีการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนบางราย ซึ่งปัจจุบันโครงการเตาเผาขยะของกทม. อยู่ระหว่างการตรวจสอบของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)

 

กระทั่งมาปรากฎชื่อ เป็น 1 ในคีย์แมนคนสำคัญที่ถูกทาบทามให้เข้าร่วมทีมบริหาร กทม.  จากนายชัชชาติ ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.

 

นายจักกพันธุ์ให้สัมภาษณ์ขณะร่วมลงพื้นที่สำรวจกับนายชัชชาติ โดยยืนยันว่า ถ้ากกต.ประกาศรับรองนายชัชชาติแล้ว เขาก็พร้อมที่จะร่วมทีมกับผู้ว่าฯ ชัชชาติ โดยให้เหตุผลที่ตัดสินใจเข้าร่วมทีมกับนายชัชชาติว่า มี 2 ประการ คือ ความเป็นอิสระในการบริการงานของกรุงเทพมหานคร และมั่นใจในความสามารถของนายชัชชาติว่า จะสามารถพัฒนากรุงเทพมหานครได้นั่นเอง