เปิดผลการปราบโกง 1 ปี คุมทุจริตรัฐ ดันกฎหมายเช็คใครร่ำรวยผิดปกติ

28 พ.ค. 2565 | 05:54 น.
877

เปิดผลการปราบโกง คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบช่วง 1 ปี ดันกฎหมายหลายฉบับออกมาคุมทุจริต จับตาช็อตต่อไปเตรียมออกกฎหมายใหญ่ บังคับยื่นบัญชีทรัพย์สินเช็คใครร่ำรวยผิดปกติ รวมถึงกฎหมายอื่น หวังคุมการให้ และรับของขวัญ

นายภักดี โพธิศิริ ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ แถลงการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศในรอบปีที่ผ่านมา มีเรื่องที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการออกกฎหมาย ทั้งการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส ป้องกันการฟ้องปิดปาก และเตรียมออกกฎหมายเพิ่ม เช่น คุมการร่ำรวยผิดปกติ และการให้หรือรับของขวัญ เป็นต้น

 

สำหรับการขับเคลื่อนกิจกรรมปฏิรูปที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ หรือ “กิจกรรม Big Rock” ซึ่งถูกกำหนดไว้จำนวน 5 กิจกรรม ในแต่ละด้านของแผนการปฏิรูปประเทศ สรุปได้ดังนี้

 

กิจกรรมปฏิรูปที่ 1 การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการต่อต้านการทุจริต ประกอบด้วย

 

1.การส่งเสริมให้ภาคประชาชนเป็นแกนหลักในการต้านภัยการทุจริต ผ่านกลไกเครือข่ายของภาคประชาชน เครือข่ายองค์กรชุมชน ภาคีภาคีภาคประชาสังคม เพื่อป้องกันการทุจริตในพื้นที่ของตนมีกิจกรรมสำคัญ 4 ด้าน คือการปลุกสำนึกพลเมือง การสร้างระบบพื้นที่เปิดเผยโปร่งใส การสร้างธรรมาภิบาลองค์กรชุมชน และการปฏิบัติการต้านทุจริต  

 

2.ปี 2564 เริ่มทำ 5 จังหวัดนำร่อง 25 ตำบล เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายเพื่อเป็นกลไกในการต่อต้านการทุจริตในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งจัดทำคู่มือการมีส่วนร่วมและช่องทางการร้องเรียนของภาคประชาชน 

 

3.ปี 2565 จัดตั้งคณะทำงานภาคประชาชน (ผู้ก่อการดี) 17 จังหวัด 171 ตำบล รวมทั้งจัดทำแผนปฏิบัติการในพื้นที่เป้าหมายและขยายความร่วมมือกับภาคีพัฒนาต่างๆ ที่ดำเนินการในระดับพื้นที่ ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐสร้างช่องทางการร้องเรียน และแจ้งเบาะแสความไม่โปร่งใสในระดับพื้นที่ การจัดทำแผน 5 ปีการเฝ้าระวังป้องกันและต่อต้านการทุจริตโดยเครือข่ายภาคประชาชนเป็นแกนหลัก 

กิจกรรมปฏิรูปที่ 2 การพัฒนาการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและระบบคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสการทุจริตที่มีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย

 

1.ผลักดันการออกกฎหมายข้อมูลสาธารณะที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่ายโดยไม่ต้องร้องขอ โดยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้มีการศึกษาทบทวน พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงง่าย และเสนอต่อคณะรัฐมนตรี 

 

นอกจากนั้น ได้ผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐเปิดเผยข้อมูลอย่างครบถ้วนบนระบบดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อประชาชนและสื่อมวลชนสามารถเข้าดูและตรวจสอบได้ง่ายทางอินเตอร์เน็ต โดยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ซึ่งได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว 

 

2.พัฒนาช่องทางการแจ้งเบาะแสและข้อมูลเชิงลึก และจัดทำระบบปกปิดตัวตน เพื่อให้ผู้แจ้งเบาะแสเข้าถึงได้โดยสะดวก มีความเชื่อมั่นในเรื่องการเก็บรักษาความลับ และความปลอดภัย พร้อมจัดระบบการแจ้งผลการติดตามให้กับผู้ร้องเรียนได้รับทราบ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบบริหารจัดการผู้แจ้งเบาะแส และปรับปรุงระบบรับแจ้งเบาะแสทางเว็บไซต์

 

3.บังคับใช้กฎหมายคุ้มครองพยานและผู้แจ้งเบาะแส รวมถึงให้ค่าตอบแทนและชดเชยค่าใช้จ่ายให้กับผู้แจ้งเบาะแส รวมทั้งพัฒนาระบบเปิดเผยเรื่องร้องเรียนและคดี (เรื่องที่อยู่ระหว่างไต่สวน) โดยพัฒนาระบบแล้วเสร็จ แต่ปัจจุบันยังไม่ได้เปิดใช้งานเนื่องจากอยู่ระหว่างพิจารณากฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ก่อนจะเปิดใช้งานต่อไป 

 

พร้อมกับพัฒนาระบบติดตามการดำเนินงานเรื่องร้องเรียนและคดี ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จและเปิดใช้งานเรียบร้อยแล้ว โดยผู้ร้องสามารถติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานเรื่องร้องเรียนและคดีได้ผ่านหน้าเว็บไซต์สำนักงาน ป.ป.ช. 

4.จัดทำกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการฟ้องปิดปาก (Anti-SLAPP Law) ห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐและหัวหน้าหน่วยงานของรัฐฟ้องร้องดำเนินคดีกับบุคคลที่แสดงความเห็น หรือเปิดโปงเบาะแสเกี่ยวกับการทุจริตประพฤติมิชอบเพื่อปกป้องคนที่ออกมาเปิดโปงหรือแสดงความเห็นโดยสุจริตต่อการทุจริตคอร์รัปชัน และสนับสนุนให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมเป็นหูเป็นตา ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา 

 

กิจกรรมปฏิรูปที่ 3 การพัฒนากระบวนการยุติธรรมที่รวดเร็ว โปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ ในการดำเนินคดีทุจริตทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ประกอบด้วย

 

1.ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ประชาชนให้รับรู้ถึงขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม สร้างการมีส่วนร่วมให้มากขึ้น และสนับสนุนให้มีการใช้มาตรการลงโทษทางสังคม (Social Sanction) ผ่านการเผยแพร่ข้อมูลขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยมีการได้ดำเนินการผลิตและเผยแพร่ข้อมูลขั้นตอนกระบวนการในภารกิจของสำนักงาน ป.ป.ช. 

 

2.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมภาคประชาชนตั้งแต่กระบวนการออกกฎหมายทุกระดับ และการเฝ้าระวังการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมทุกขั้นตอน โดยมีโครงการที่ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแส อาทิ 

  • การร่วมกันตรวจสอบคุณภาพอาหารกลางวันและอาหารเสริม (นม) ของสถานศึกษา  
  • การกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากร ธรรมชาติ
  • การสอดส่องดูแลการรุกล้ำลำน้ำและพื้นที่สาธารณะ 
  • การติดตั้งป้ายโฆษณาที่ผิดกฎหมาย 
  • การติดตามโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน (เช่น ถนน สะพาน อาคาร ประปา ฯลฯ) 
  • การจับตามองความเสี่ยงในการจัดซื้อจัดจ้างทั่วไปในพื้นที่ 

 

3.กำหนดบทลงโทษกับหน่วยงานและหัวหน้าหน่วยงานที่ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ เพื่อเป็นการสนับสนุนประชาชนให้สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม โดยคาดว่าจะให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2565

 

4.สำรวจความเห็นของประชาชนในการได้รับความเป็นธรรม ความพึงพอใจ และเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม 

 

5.ส่งเสริมให้ทุกหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมดำเนินคดีตามกรอบเวลาของกฎหมายในมาตรฐานเดียวกันอย่างรวดเร็ว รวมถึงแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อเป็นกลไกในการพิจารณากำหนดขนาดของคดีและระยะเวลาในการดำเนินคดีของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน

 

6.ประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคดีทุจริตฯ การติดตามผลการดำเนินคดี และยกระดับการทำงานบนฐานดิจิทัล รวมถึงการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ (Data Center)

 

7.ส่งเสริมการดำเนินงานของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมโดยยึดหลักคุณธรรม 

 

กิจกรรมปฏิรูปที่ 4 การพัฒนาระบบราชการไทยให้โปร่งใส ไร้ผลประโยชน์ ประกอบด้วย

 

1.หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยประกาศตนเป็นหน่วยงานที่เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคนไม่รับของขวัญและของกำนัลทุกชนิดจากการปฏิบัติหน้าที่ (No Gift Policy) ในปีงบประมาณ 2565 ได้ขับเคลื่อนนโยบาย No Gift Policy ในการประเมิน ITA ปี และมีหน่วยงานประกาศตนเป็นหน่วยงานที่เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคนไม่รับของขวัญและของกำนัลทุกชนิดจากการปฏิบัติหน้าที่ (No Gift Policy) จำนวนทั้งสิ้น 8,303 หน่วยงาน ทั่วประเทศ

 

2.จัดทำร่างกฎหมายว่าด้วยการบริหารงานบุคคลภาครัฐในระบบคุณธรรม และเร่งรัดการกำหนดวิธีการประเมิน “สัตบุรุษ” และบังคับใช้กับหัวหน้าหน่วยงานของรัฐที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการของสำนักงาน ก.พ. จัดทำร่างกฎหมายว่าด้วยการบริหารงานบุคคลภาครัฐในระบบคุณธรรม 

 

3.จัดทำกฎหมายการป้องกันและแก้ไขปัญหาการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับส่วนรวมต่อรัฐบาล ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช. อยู่ระหว่างการจัดทำร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวร่วมกับสำนักงาน ก.พ. 

 

4.จัดทำพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าหน้าที่ของรัฐต่อหัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐที่ตนสังกัดหรือปฏิบัติงานอยู่ เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการตรวจสอบการร่ำรวยผิดปกติ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. 

 

5.หัวหน้าหน่วยงานของรัฐบริหารความเสี่ยงเกี่ยวกับการประพฤติมิชอบ และร่ำรวยผิดปกติของเจ้าหน้าที่รัฐในหน่วยงาน และบังคับใช้มาตรการทางจริยธรรม วินัย และอาญาต่อผู้กระทำผิดอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม พร้อมทั้งนำหลักความรับผิดชอบในการกระทำ มาบังคับใช้กับหัวหน้าหน่วยงานของรัฐ  

 

กิจกรรมปฏิรูปที่ 5 การพัฒนามาตรการสกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบายในการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ ประกอบด้วย

 

1.จัดทำคู่มือ การประเมินความตามเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงการทุจริตเชิงนโยบายในการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ เสนอต่อ ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) และคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ เพื่อบังคับใช้ต่อหน่วยงานที่ขอรับงบประมาณ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

 

2.การตรวจ ติดตามประเมินผล และการจัดทำรายงานสรุปผล สำนักงาน ป.ป.ท. ร่วมกับหน่วยงานตรวจสอบ เช่ย สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน คณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ (ค.ต.ป.) ดำเนินการตรวจติดตามการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และจัดทำรายงานผลเสนอ ศอตช. และ ครม.

 

3.การขยายผลการจัดทำการประเมินความตามเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงการทุจริตเชิงนโยบายในการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ สำนักงาน ป.ป.ท. จะได้วิเคราะห์ผลการขับเคลื่อนในปี พ.ศ. 2565 และ 2566 เพื่อนำผลการขับเคลื่อน รวมทั้ง ปัญหา อุปสรรค และข้อค้นพบมากำหนดแนวทางการดำเนินการในปี 2567 ให้สามารถเป็นเครื่องมือในการสกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบายในการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 

ประเด็นกฎหมายตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ฉบับปรับปรุง)

 

จากการขับเคลื่อนและผลักดันประเด็นกฎหมายตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ฉบับปรับปรุง) มีจำนวนทั้งสิ้น 10 ฉบับ ซึ่งสามารถสรุปผลการดำเนินการหลังสิ้นสุดแผนการปฏิรูปประเทศได้ ดังนี้

 

1.กฎหมายแล้วเสร็จและอยู่ระหว่างการดำเนินการ จำนวน 6 ฉบับ ได้แก่ 

  1. การปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐและรางวัลจากการแจ้งเบาะแส 
  2. การจัดทำกฎหมายเกี่ยวกับการกำหนดความผิดของนิติบุคคล และผู้ร่วมกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตและประพฤติมิชอบ
  3. การปรับปรุงกฎหมายของสำนักงาน ป.ป.ท. โดยให้นำเรื่องการส่งเสริมการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ 
  4. การเร่งรัดการจัดทำร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับ การขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ. …. 
  5. การปรับปรุงพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 
  6. การปรับปรุงระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการให้หรือรับของขวัญของเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐ

 

2.กฎหมายที่จะต้องดำเนินการผลักดันต่อหลังจากปี 2565 จำนวน 4 ฉบับ 

  1. การแก้ไขพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการพ.ศ. 2540 ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 59 และมาตรา 253 
  2. การเร่งรัดการจัดทำพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าหน้าที่ของรัฐต่อหัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐที่ตนสังกัดหรือปฏิบัติงานอยู่ เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการตรวจสอบการร่ำรวยผิดปกติ 
  3. การจัดทำกฎหมายว่าด้วยการบริหารงานบุคคลในระบบคุณธรรมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 76 วรรคสอง ให้มีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่และพนักงานของรัฐด้วยระบบคุณธรรม 
  4. การปรับปรุงระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการให้หรือรับของขวัญของเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐ