นับตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา กทม.ได้ให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฟรีสำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยงมาต่อเนื่องซึ่งจะให้บริการไปจนถึงปลายเดือนสิงหาคม 2565 อย่างไรก็ดี ขณะนี้มีสัญญาณเตือนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A กำลังกลับมาระบาดใหม่ควบคู่กับการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทั้งยังพบว่า ประชาชนจำนวนมากยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นป้องกันไข้หวัดใหญ่ซึ่งควรฉีดเป็นประจำทุก 1 ปี
ล่าสุด กทม.ประกาศเชิญชวนประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฟรีได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง รวมถึงโรงพยาบาลในสังกัด กทม. และโรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศ โดยสามารถจองฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้ 2 ช่องทาง ดังนี้
ช่องทางที่ 1
- ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง"
ช่องทางที่ 2
- จองสิทธิ์ด้วยตนเอง ณ ศูนย์บริการสาธารณสุขของกทม.ทั้ง 69 แห่ง
กรณีไม่สะดวกลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน
- สามารถเข้ารับบริการรูปแบบ Walk in ได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้าน
เอกสารประกอบ
- นำบัตรประจำตัวประชาชน
- กรณีเด็กให้นำ สูติบัตร มาด้วยในวันรับบริการวัคซีน
ระยะเวลาการให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่
- สามารถเข้ารับบริการได้ตั้งแต่วันนี้ - 31 ส.ค. 65 หรือจนกว่าวัคซีนจะหมด
ประโยชน์ของการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่
- การป้องกันเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ 3 สายพันธุ์ (an A/Victoria/2570/2019 (H1N1) pdm09-like virus, an A/Darwin/9/2021 (H3N2)-like virus; และ a B/Austria/1359417/2021 (B/ictoria lineage)-like virus.) ตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนด
- สามารถลดจำนวนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่
- ลดการใช้ยาปฏิชีวนะ
- ลดความถี่ในการมาพบแพทย์
- ลดการแพร่เชื้อโรค
- ลดการรักษาตัวในห้องฉุกเฉินได้
กลุ่มเสี่ยงที่ควรได้รับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่
- หญิงตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป
- เด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี
- ผู้ป่วยโรคเรื้อรังทุกกลุ่มอายุ (โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งได้รับยาเคมีบำบัด และเบาหวาน)
- ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
- ผู้พิการทางสมองช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
- โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมถึงผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีอาการ
- โรคอ้วน คือ ผู้ที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 100 กิโลกรัม หรือดัชนีมวลกายตั้งแต่ 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร