ศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จบลงแล้วเหลือเพียงการนับคะแนนการเลือกตั้ง และการรับรองผลว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นสมควรให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร และคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2565
ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร (นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร) จึงประกาศกำหนดระยะเวลารับสมัครรับเลือกตั้งระหว่างวันที่ 31 มีนาคม - 4 เมษายน 2565 ณ ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา และให้มีการเลือกตั้ง ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 เวลา 08.00 - 17.00 น.
เมื่อนับคะแนนเลือกตั้งแล้วเสร็จทั้ง 50 สำนักงานเขต รวม 6,817 หน่วยเลือกตั้ง ผลการนับคะแนนผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ก. และผู้ว่าฯ กทม. อย่างไม่เป็นทางการ ในเวลา 01.10 น. ของวันที่ 23 พฤษภาคม 2565 มีดังนี้
การเลือกตั้ง ส.ก.
- ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดของหน่วยที่นับคะแนนแล้ว 4,357,098 คน
- ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งของหน่วยที่นับคะแนนแล้ว 2,635,283 คน
- ร้อยละของผู้มาใช้สิทธิ 60.48
- เป็นผู้สมัครสังกัดพรรคเพื่อไทย จำนวน 19 คน พรรคก้าวไกล 14 คน พรรคประชาธิปัตย์ 9 คน พรรคไทยสร้างไทย 2 คน พรรคพลังประชารัฐ 2 คน กลุ่มรักษ์กรุงเทพ 2 คน และผู้สมัครอิสระ 2 คน
การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
- ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 4,402,948 คน
- ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มาแสดงตนขอรับบัตรเลือกตั้ง จำนวน 2,673,696 คน
- ร้อยละของผู้มาใช้สิทธิ 60.73
- บัตรดี จำนวน 2,561,447 บัตร คิดเป็นร้อยละ 95.80
- บัตรเสีย จำนวน 40,017 บัตร คิดเป็นร้อยละ 1.50
- บัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน จำนวน 72,227 บัตร คิดเป็นร้อยละ 2.70
- เขตที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุด คือ เขตทวีวัฒนา ร้อยละ 67.65
- เขตที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งน้อยที่สุด คือ เขตดุสิต 45.82
“ชัชชาติ” แข็งแกร่ง ทุบสถิติในประวัติศาสตร์
ผลการนับคะแนนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปรากฎว่า หมายเลข 8 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สังกัดอิสระ ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งสูงสุด จำนวน 1,386,215 คะแนน
ถือเป็นการทำลายสถิติผู้ชนะในสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. กลายเป็นคะแนนสูงสุดในประวัติศาสตร์ ทำลายสถิติเดิมที่ หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ทำไว้ที่ 1,256,349 คะแนน ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ครั้งที่ 10 เมื่อวันที่ 3 มี.ค.56
กกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งภายใน 30 วัน
ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 มาตรา 17 ระบุให้ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใด เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งตรวจสอบเบื้องต้นแล้วมีเหตุอันควรเชื่อว่าผลการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้ประกาศผลการเลือกตั้งนั้นภายในสามสิบวันนับแต่วันเลือกตั้ง
สรุปรายงานเหตุการณ์ประจำวัน
- ภาพรวมการเลือกตั้งตลอดทั้งวันพบมีฝนตกในหลายพื้นที่ ซึ่งสำนักงานเขตพื้นที่ได้จัดเจ้าหน้าที่เร่งอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง
- มีการรายงานการฉีกบัตรเลือกตั้ง จำนวน 3 ราย (เขตสวนหลวง เขตบางซื่อ เขตสัมพันธวงศ์)
- ขยำบัตรเลือกตั้ง จำนวน 1 ราย (เขตคลองเตย)
- นำบัตรเลือกตั้งออกจากหน่วยเลือกตั้ง จำนวน 1 ราย (เขตบางซื่อ) เจ้าหน้าที่ได้ประสาน สน.เตาปูน ติดตามและนำตัวไปดำเนินคดี
- มีการทำบัตรเลือกตั้งชำรุด จำนวน 1 ราย (เขตหนองแขม) เนื่องจากเข้าใจว่าหย่อนบัตรผิดหีบ จึงดึงบัตรเลือกตั้งกลับคืน ทำให้บัตรชำรุด เจ้าหน้าที่ รปภ. นำตัวไปลงบันทึกประจำวันที่ สน.หนองแขม
- มีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งทำเครื่องหมายกากบาทลงในบัตรลงคะแนน แล้วใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งขณะอยู่ในคูหาเลือกตั้ง เพื่อให้เห็นเครื่องหมายลงคะแนนในคูหาเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการจับกุมและส่งพนักงานสอบสวน สน.พญาไท (เขตราชเทวี)
- ภาพรวมผู้ป่วยโควิด-19 มาใช้สิทธิเลือกตั้ง จำนวน 93 ราย ผู้มีอุณหภูมิเกิน 37.5 องศาเซลเซียส จำนวน 25 ราย
แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งระหว่างวันที่ 23-29 พฤษภาคม 2565
- ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้เนื่องจากมีเหตุอันสมควรให้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งต่อนายทะเบียนท้องถิ่น ระหว่างวันที่ 23-29 พฤษภาคม 2565
- สามารถแจ้งเหตุได้ 3 ช่องทาง คือ 1. ทำเป็นหนังสือยื่นด้วยตนเองหรือมอบหมายให้บุคคลอื่นยื่นแทน 2. ทำเป็นหนังสือจัดส่งทางไปรษณีย์ โดยถือเอาวันที่ไปรษณีย์ลงรับเป็นวันแจ้งเหตุฯ และ 3. แจ้งทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เว็บไซต์ www.bora.dopa.go.th หรือ www.ect.go.th หรือ แอปพลิเคชัน Smart Vote หัวข้อ “การแจ้งเหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์”
เหตุที่ถือเป็นเหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
- มีกิจธุระจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเดินทางไปพื้นที่ห่างไกล
- เจ็บป่วยและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
- เป็นคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
- เดินทางออกนอกราชอาณาจักร
- มีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากที่เลือกตั้งเกินกว่า 100 กิโลเมตร
- ได้รับคำสั่งจากทางราชการให้ไปปฏิบัติหน้าที่นอกเขตเลือกตั้ง
- เหตุสุดวิสัยอื่น
ที่มา : กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์