สั่งไม่ฟ้อง “บอส อยู่วิทยา” พ่นพิษ มติก.อ.เอกฉันท์ให้ออก “เนตร นาคสุข” 

18 พ.ค. 2565 | 14:38 น.
อัปเดตล่าสุด :18 พ.ค. 2565 | 21:53 น.
4.7 k

สั่งไม่ฟ้อง “บอส อยู่วิทยา”พ่นพิษ มติก.อ.เอกฉันท์ให้ออก “เนตร นาคสุข” เหตุใช้ดุลพินิจไม่รอบคอบ ตั้ง กก.สอบวินัยร้ายแรงอัยการ 1 คน แก้ไขความเร็วรถซิ่งชนตำรวจดับ

วันนี้( 18 พ.ค.65) ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนแจ้งวัฒนะ นายพชร ยุติธรรมดำรง ประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) เป็นประธานการประชุม ก.อ. ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติผลการสอบของคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง นายเนตร นาคสุข อดีตรองอัยการสูงสุด กรณีสั่งไม่ฟ้อง นายวรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา ทายาทเครื่องดื่มชูกำลัง ผู้ต้องหา คดีขับรถชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผบ.หมู่งานปราบปราม สน.ทองหล่อเสียชีวิต เมื่อวันที่ 3 ก.ย.2555 ซึ่งได้ส่งผลการสอบสวนให้ นายพชร ประธาน ก.อ. 
 

ต่อมา นายพชร เปิดเผยว่า วันนี้ที่ประชุม ก.อ.มีผู้เข้าร่วมประชุม 14 คน ลา 1 คน ซึ่งมี ก.อ.ที่เคยถูกตั้งเป็นกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง และสอบวินัย นายเนตร จำนวน 6 คน ที่ต้องงดออกเสียงโดยกรรมการที่มีสิทธิลงมติเหลือ 8 คน 

 

กรรมการทั้ง 8 คน มีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นว่า นายเนตร นาคสุข ขาดความระมัดระวังละเอียดรอบคอบในการรับฟังข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่สำคัญในคดี และไม่ให้ความสำคัญกับสำนวนทุกประเภท ตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ (อันเป็นระเบียบที่ใช้บังคับในขณะกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา) เป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง 


อันเป็นการกระทำความผิด ฐานไม่ปฏิบัติ หน้าที่ราชการด้วยความระมัดระวัง เป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการ ไม่ถือและปฏิบัติตามระเบียบ แบบแผนของทางราชการ ประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ.2553 
 

และความผิดฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความระมัดระวัง เป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการ และฐานไม่ถือและปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ ตาม แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ.2553 เป็นความผิดวินัยไม่ร้ายแรง

 

ส่วนความผิดฐานประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง การกระทำของ นายเนตร ผู้ถูกกล่าวหา เป็นการกระทำครั้งเดียว ผิดวินัยหลายฐาน จึงเห็นควรลงโทษในสถานความผิดวินัยอย่างร้ายแรงที่มีโทษหนักกว่า แต่ทางสอบสวนไม่ปรากฏพยานหลักฐานบ่งชี้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาทุจริตต่อหน้าที่ราชการ จึงยังไม่ถึงขนาดที่จะต้องถูกไล่ออกจากราชการ เห็นพ้องกันว่า ควรลงโทษผู้ถูกกล่าวหาปลดออกจากราชการ
 

แต่เมื่อพิจารณาถึงประวัติการรับราชการพบว่า ผู้ถูกกล่าวหาไม่เคยถูกลงโทษในการกระทำความผิดทางวินัยมาก่อน และกรณีดังกล่าวนี้เป็นการกระทำความผิดทางวินัยครั้งแรก ผู้ถูกกล่าวหาเองได้รับราชการมาเป็นระยะเวลานานกว่า 40 ปี ทำคุณประโยชน์แก่ราชการไว้มาก กรณีมีเหตุอันควรลดหย่อนโทษให้แก่ผู้ถูกกล่าวหา 
 

คณะกรรมการ ก.อ.ทั้ง 8 คน ซึ่งรวมตนด้วย จึงมีมติและคำสั่งให้ลงโทษ นายเนตร นาคสุข ผู้ถูกกล่าวหา ในสถาน "ให้ออกจากราชการ" ตาม พ.ร.บ.ข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ.2553 มาตรา 85, 87

 

นายพชร กล่าวด้วยว่า มติ ก.อ.วันนี้ถือเป็นที่สิ้นสุดแล้วในส่วนของการดำเนินการทางวินัย หาก นายเนตร ไม่เห็นด้วย กับมติ ก.อ.ก็ยังสามารถใช้วิธีทางปกครองโดยการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองได้ ทั้งนี้ คำสั่ง “ให้ออกจากราชการ” มีผลตั้งแต่วันที่มีการอนุมัติให้ลาออกจากราชการแล้ว ในส่วนการดำเนินคดีอาญากับ นายเนตร ในส่วนของสำนักงานอัยการนั้นคงไม่มีแล้ว คงให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานอื่น


อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ นายชัยณรงค์ แสงทองอร่าม อดีตอัยการอาวุโส ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องในการเปลี่ยนแปลงความเร็วรถยนต์ ทั้งๆ ที่ไม่มีอำนาจหน้าที่แต่อย่างใดนั้น ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง โดยมี นายประพัฒน์พงศ์ สุคนธ์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีปกครอง เป็นประธานสอบ แต่จะเป็นความผิดสถานใดก็ต้องรอดูผลสอบสวน

เมื่อถูกถามว่าการลงโทษ นายเนตร นาคสุข แค่ให้ออกจากราชการ มองว่าเป็นการช่วยเหลือกันหรือไม่ นายพชร ยืนยันว่า ไม่ใช่เป็นการช่วยเหลือกัน เพราะนายเนตร นั้นในหมู่อัยการรู้นิสัยกันดี ว่าจริงๆ แล้ว นายเนตร ไม่ควรจะขาดความรอบคอบ แต่เราไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า การสั่งคดีนั้น มีการทุจริตตรงไหน นายเนตร ถือเป็นอัยการมือสะอาด 
 

แต่การใช้ดุลพินิจในขณะนั้นจะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ ถือว่าขาดความรอบคอบจากมาตรฐานของคนที่ทำคดีมายาวนาน ซึ่งต้องมีความรอบคอบมากขึ้น และต้องสอบพยานคนกลางที่มีความเชี่ยวชาญ มีความรู้เป็นที่ยอมรับของสังคม
 

“องค์กรอัยการเราอยู่มาถึงกว่า 140 ปี ถ้าเราไม่ได้รับความเชื่อถือต่อสังคม เรารับไม่ได้ เพราะองค์กรจะต้องอยู่ต่อไป เราเป็นทนายแผ่นดิน เป็นข้าแผ่นดิน ถ้าทนายแผ่นดินเชื่อถือไม่ได้ ก็ไม่รู้จะสรรหากระบวนการยุติธรรมไหนที่เชื่อถือได้อีกแล้ว”ประธาน ก.อ.กล่าว


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับความเห็นของ นายเนตร นาคสุข รักษาการในตำแหน่งรองอัยการสูงสุด ที่มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องในคดีนี้ได้ให้เหตุผลในการสั่งคดีว่า พิจารณาผลการสอบสวนเพิ่มเติมแล้ว เห็นว่า คดีมีปัญหาที่จะต้องพิจารณา เฉพาะข้อกล่าวหาผู้ต้องหาที่ 1 (นายวรยุทธ อยู่วิทยา) ว่าขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ตามที่อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งฟ้อง ว่ามีข้อเท็จจริงใหม่เพียงพอที่จะ กลับความเห็นและคำสั่งเดิมหรือไม่ 
 

เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อเหตุที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 โดยอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่ 1 ในความผิดฐานนี้ เนื่องจากได้ความจาก พ.ต.ต.ธนสิทธิ แตงจั่น ผู้ตรวจสอบความเร็วของรถยนต์ว่าขณะเกิดเหตุรถยนต์คันที่ผู้ต้องหาที่ 1 ขับแล่นด้วยความเร็วเฉลี่ย 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง 
 

โดยผู้ตรวจสอบยืนยันว่า การคำนวณดังกล่าวอาจมีความคลาดเคลื่อนมากขึ้นหรือน้อยลงประมาณ 17 กม.ต่อชั่วโมง ซึ่งความเร็วดังกล่าวเกินกว่าความเร็วของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่จะแล่นได้ภายในกรุงเทพมหานคร (80 กม.ต่อชั่วโมง) ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง การกระทำของผู้ต้องหาที่ 1 จึงเป็นการกระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังในการขับรถ
 

ต่อมาเมื่อมีการร้องขอความเป็นธรรม ได้มีการสอบสวน พยานบุคคลผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติม คือ พ.ต.ท.สมยศ แอบเนียน และ พ.ต.ท.สุรพล เดชรัตนวิไชย พยานผู้เชี่ยวชาญที่ตรวจดูสภาพความเสียหายของรถทั้งสองคนเปรียบเทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเฉี่ยวชนในคดีอื่น แล้วต่างให้การประเมินความเร็วของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ผู้ต้องหาที่ 1 ขับขี่ขณะเกิดเหตุชนรถจักรยานยนต์คันที่ ผู้ต้องหาที่ 2 (ด.ต.วิเชียร ผู้เสียชีวิต) ขับขี่ว่าไม่ใช่ความเร็วประมาณ 170 กม.ต่อชั่วโมง 
 

และจากการสอบสวน รองศาสตราจารย์ ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม พยานบุคคลผู้เชี่ยวชาญ (เมื่อวันที่ 23 ม.ค.2560) ในประเด็นเกี่ยวกับการคำนวณ ความเร็วของรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ได้ความว่า 
 

ความเร็วของรถยนต์ Ferrari FF ก่อนเกิดเหตุ จะได้ความเร็วประมาณ 76.175 กม.ต่อชั่วโมง ซึ่งใกล้เคียงกับความเห็นของ พ.ต.ท.สมยศ ที่ตรวจร่องรอยความเสียหายของรถทั้งสองคันแล้ว สันนิษฐานว่ารถทั้งสองคนแล่นน้ำจะแล่นด้วยความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง


และความเห็นของ พ.ต.ท.ธนสิทธิ แตงจั่น (ยศในขณะนั้น ให้การเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2559) ว่า จากการคำนวณหาความเร็วโดยวิธีใหม่ได้ความเร็วของรถยนต์ที่ผู้ต้องหาที่ 1 ขับขี่ประมาณ 79.23 กิโลเมตรต่อชั่วโมง 
 

ต่อมา เมื่อมีการร้องขอความเป็นธรรมในครั้งนี้อีกและมีการสอบสวนพยานบุคคลเพิ่มเติม คือ พลอากาศโท จักรกฤษ ถนอมกุลบุตร และนายจารุชาติ มาดทอง เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2562 ได้ความว่าพยานทั้งสองขับรถยนต์ แล่นตามหลังรถจักรยานยนต์คันที่ผู้ต้องหาที่ 2 ขับขี่มาด้วยความเร็วไม่เกิน 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (ปรากฏในภาพวงจรปิด) ให้การว่า ผู้ต้องหาที่ 1 ขับรถยนต์มาด้วยความเร็วประมาณ 50 - 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง 
 

เมื่อพยานทั้งสองปากเป็นประจักษ์พยานในขณะเกิดเหตุให้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในประเด็นสำคัญเกี่ยวกับคดี ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวสอดคล้องกับคำให้การของพยานผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวข้างต้น 
 

ข้อเท็จจริงจึงเชื่อว่า ขณะเกิดเหตุผู้ต้องหาที่ 1 ขับรถยนต์แล่นมาในช่องทางเดินรถที่ 3 ชิดเกาะกลางถนนด้วยความเร็วไม่เกิน 80 กม.ต่อชั่วโมง โดยมี นายจารุชาติ มาดทอง ขับรถยนต์กระบะแล่นมาในช่องทางเดินรถที่ 2 
 

ส่วนผู้ต้องหาที่ 2 ขับขี่รถจักรยานยนต์แล่นมาในช่องทางเดินที่ 1 (ด้านซ้าย) แล้วผู้ต้องหาที่ 2 ได้ขับรถจักรยานยนต์ เปลี่ยนช่องทางเดินรถจากช่องทางที่ 1 ผ่านช่องทางเดินรถที่ 2 ที่นายจารุชาติขับรถมา นายจารุชาติชะลอความเร็วของรถลง และหักพวงมาลัยหลบไปทางซ้ายมือ เพื่อไม่ให้ชนกับรถจักรยานยนต์ที่ผู้ต้องหาที่ 2 ขับขี่มา 
 

แต่รถจักรยานยนต์ที่ผู้ต้องหาที่ 2 ขับขี่มาได้แล่นเข้าไป ในช่องทางเดินรถที่ 3 ที่ผู้ต้องหาที่ 1 ขับรถยนต์แล่นมาในระยะกระชั้นชิด จึงทำให้รถยนต์คันที่ผู้ต้องหาที่ 1 ขับขี่มาชนท้ายรถจักรยานยนต์คันที่ผู้ต้องหาที่ 2 ขับขี่มา เป็นเหตุให้ผู้ต้องหาที่ 2 ถึงแก่ความตาย รถทั้งสอง คันได้รับความเสียหาย 
 

เมื่อเหตุที่เกิดขึ้นเกิดจากการที่ผู้ต้องหาที่ 2 ขับขี่รถจักรยานยนต์เปลี่ยนช่องทางเดินรถ เข้าไปในช่องทางเดินรถที่ผู้ต้องหาที่ 1 ขับขี่มาด้วยความเร็วไม่เกิน 80กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในระยะกระชั้นชิด ทำให้ผู้ต้องหาที่ 1 ไม่สามารถหลบหลีกและหยุดรถได้ทันท่วงที เหตุที่เกิดขึ้นจึงเป็นเหตุสุดวิสัย มิใช่เกิดจาก ความประมาทปราศจากความระมัดระวังของผู้ต้องหาที่ 1 


แต่เกิดจากความประมาทปราศจากความระมัดระวัง ของผู้ต้องหาที่ 2 ที่เปลี่ยนช่องทางเดินทางรถในระยะกระชั้นชิด การกระทำของผู้ต้องหาที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 คดีมีพยานหลักฐานไม่พอฟ้องผู้ต้องหาที่ 1 ในความผิดฐานนี้ และเป็นกรณีกลับความเห็นและคำสั่งเดิมตาม ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด
 

อนึ่ง ฝ่ายผู้ต้องหาที่ 2 (ผู้ตาย) ได้รับการชดใช้ค่าเสียหายและสินไหมทดแทนจากฝ่าย ผู้ต้องหาที่ 1 จนเป็นที่พอใจ และไม่ประสงค์จะดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญากับผู้ต้องหาที่ 1 อีกต่อไปแล้ว