ลองโควิดคืออะไร อาการรุนแรงขนาดไหน กระทบต่อมูลค่าเศรษฐกิจอย่างไร อ่านเลย

16 พ.ค. 2565 | 10:13 น.
อัปเดตล่าสุด :16 พ.ค. 2565 | 17:14 น.
820

ลองโควิดคืออะไร อาการรุนแรงขนาดไหน กระทบต่อมูลค่าเศรษฐกิจอย่างไร อ่านเลยที่นี่มีคำตอบ หมอธีระเผย Culter D ได้เผยแพร่บทความวิชาการวิเคราะห์ Long Covid ใน JAMA Forum

ลองโควิดคืออะไร มีผลกระทบแค่ไหน เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากโลกออนไลน์ หลังจากที่โควิด-19 (Covid-19) สายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) แพร่กระจายไปทั่ว
 

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า 

 

มูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูญเสียจาก Long COVID

 

Culter D ได้เผยแพร่บทความวิชาการวิเคราะห์เรื่องนี้ใน JAMA Forum วันที่ 12 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา

 

คาดประมาณว่าสหรัฐอเมริกาจะมีผู้ป่วยที่ประสบปัญหา Long COVID โดยมีอาการผิดปกติตั้งแต่ 3 อาการขึ้นไป อย่างน้อย 9.6 ล้านคน ซึ่งมากกว่าจำนวนคนที่เสียชีวิตจากโควิด-19 ถึง 10 เท่า

 

เคยมีการสำรวจชิ้นหนึ่งพบว่า ผู้ที่ประสบปัญหา Long COVID นั้น มีถึง 44% ที่ไม่สามารถทำงานได้ และ 51% ต้องจำกัดระยะเวลาทำงานลง

เมื่อประเมินภาพรวมของระบบเศรษฐกิจ คาดว่าจะทำให้แรงงานต้องออกไปจากระบบมากกว่า 1,000,000 คน

 

ทำให้แรงงานเหล่านั้นสูญเสียรายได้ไปอย่างน้อยปีละ 50,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ

 

ภาวะ Long COVID มีหลากหลายอาการ ซึ่งยังไม่สามารถประเมินได้อย่างครบถ้วนในเวลาอันสั้น 

 

แต่หากดูอาการที่พบบ่อย เช่น อ่อนเพลีย/เหนื่อยล้าอย่างเรื้อรัง ซึ่งหากพิจารณาค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาเทียบเท่ากับโรค Chronic fatigue syndrome 

 

อาการลองโควิดคืออะไร รุนแรงขนาดไหน

 

ก็จะยังมีค่าใช้จ่ายสูงราวคนละ 9,000 ดอลล่าร์ต่อปี แต่หากเป็นโรคอื่นที่รุนแรง ทั้งโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคทางระบบประสาท ก็จะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่านี้มาก

 

ทั้งนี้จึงเห็นได้ว่า ผลกระทบจะไม่หยุดอยู่แค่การขาดแคลนแรงงาน การขาดรายได้จากการทำงานของแต่ละคน แต่จะส่งผลกระทบต่อผลิตภาพโดยรวมของประเทศ 

รวมถึงค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาภาวะ "ลองโควิด" และค่าชดเชยหรือสวัสดิการสังคมต่างๆ ที่ต้องช่วยเหลือ 

 

ทำให้มีการประเมินมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจจาก Long COVID ที่อาจสูงถึง 2.6 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ

 

สำหรับประเทศไทยนั้น 

 

ส่วนตัวแล้วประเมินว่า หากพิจารณาจำนวนผู้ติดเชื้อที่รายงานทางการ (RT-PCR) รวมกับจำนวนที่ตรวจ ATK แล้ว 

 

จะมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงราว 5-6 ล้านคน แม้จะมีการฉีดวัคซีนไปแล้วและหวังว่าจะมีผลในการลดความเสี่ยงที่จะเกิด Long COVID ได้บ้าง

 

ก็ยังอาจมีผู้ป่วยที่ประสบปัญหา Long COVID ราว 600,000-1,200,000 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงมาก

 

และจำเป็นต้องมีการเตรียมระบบรองรับ ทั้งเรื่องการดูแลรักษา ให้คำปรึกษา และระบบสนับสนุนทางสังคมต่างๆ

 

การให้ความรู้อย่างทันท่วงทีแก่ประชาชนเป็นเรื่องสำคัญมาก เพื่อให้ตระหนักว่าปัญหา Long COVID นั้นมีอาการมากมายหลายหลายระบบของร่างกาย เรื้อรัง

 

แนะนำวิธีประเมินสถานะสุขภาพของตนเอง และแนวทางการเข้าถึงบริการ  
ควรมีระบบเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อนำมาใช้วางแผนนโยบายและมาตรการในอนาคต

 

และที่สำคัญที่สุดคือ การทำให้ประชาชนรู้เท่าทันสถานการณ์ระบาดว่ายังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง กระจายทั่ว 

 

การป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอระหว่างใช้ชีวิตประจำวัน ทำงาน ค้าขาย ศึกษาเล่าเรียน เป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างเป็นกิจวัตร

 

ใส่หน้ากากนะ เลี่ยงกิจกรรมเสี่ยง พฤติกรรมเสี่ยง สถานที่เสี่ยง

 

ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด

 

โควิด...ติด...ไม่ใช่แค่คุณ

 

โควิด...ไม่จบที่หายและตาย แต่ที่ทรมานระยะยาวคือ Long COVID