อดีตพนักงานการท่าเรือ ร้อง สตง.ปมโดน DSI กล่าวหาเบิกโอทีเป็นเท็จ

12 พ.ค. 2565 | 13:30 น.
อัปเดตล่าสุด :12 พ.ค. 2565 | 20:47 น.

อดีตพนักงาน การท่าเรือแห่งประเทศไทย กทท.นับร้อยคนบุกร้อง สตง.ตรวจสอบกรณี โดน ดีเอสไอ กล่าวหาว่าเบิกค่าล่วงเวลา ปี 45-55 เป็นเท็จทำให้รัฐเสียหายหลายพันล้าน

วันที่ 12 พ.ค. เมื่อเวลา 10.30 น. ที่ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) นายกฤษฎา อินทามระ ทนายความพร้อมพนักงานและอดีตพนักงานการท่าเรือกว่า 100 คน เดินทางมายื่นหนังสือร้องผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเบิกค่าล่วงเวลาของพนักงานในช่วงปี 2552 - 2555 ว่ามีการเบิกจ่ายค่าล่วงเวลาเป็นเท็จทำให้รัฐเสียหายหลายพันล้านบาทจริงหรือไม่เพียงไร หากเป็นจริงขอให้ตรวจสอบว่า การเบิกเท็จนั้นทำให้รัฐเสียหายเป็นจำนวนเงินเท่าไร

อดีตพนักงานการท่าเรือ ร้อง สตง.ปมโดน DSI กล่าวหาเบิกโอทีเป็นเท็จ

สืบเนื่องจากปี 2557 คณะกรรมการคดีพิเศษ ดีเอสไอ มีมติให้ กรณีการทุจริตเบิกค่าล่วงเวลาของพนักงานการท่าเรือ แล้วใช้เอกสารแห่งการทุจริตดังกล่าวไปฟ้องคดีต่อศาลแรงงานเพื่อเรียกร้องเงินเพิ่มเติมในห้วงปี 2545 - 2555 รวมมูลค่าที่เรียกร้อง 3,000 - 3,500 ล้านบาท

 

เป็นคดีพิเศษที่ 4/2557 โดยมีผู้บริหารการท่าเรือหลายคนไปให้การต่อศาล และ ดีเอสไอ ว่าพนักงานไม่ได้ทำงานล่วงเวลาจริงหรือทำไม่ครบถ้วนแต่มาขอเบิกค่าล่วงเวลาออกไป ทำให้รัฐเสียหายหลายพันล้านบาทนั้น

อดีตพนักงานการท่าเรือ ร้อง สตง.ปมโดน DSI กล่าวหาเบิกโอทีเป็นเท็จ

นายกฤษฎา กล่าวว่า การที่ผู้บริหารของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ไปให้การต่อศาลในคดีแรงงาน และให้การต่อ ดีเอสไอ กล่าวหาว่า พนักงานไม่ได้ทำงานล่วงเวลาจริงแต่มีการตั้งเรื่องขอเบิกเงินหลวงออกไปนั้น ทำให้ สตง.ได้รับผลกระทบจากคำพูดดังกล่าวเพราะ สตง.มีหน้าที่ควบคุมดูแลตรวจสอบการจ่ายเงินของแผ่นดินเกี่ยวกับค่าล่วงเวลาของ กทท.ด้วย แต่กลับมีเรื่องอื้อฉาวในการท่าเรือว่ามีการเบิกเงินหลวงอันเป็นเท็จมูลค่าความเสียหายหลายพันล้านบาทในช่วงปี 45-55

อดีตพนักงานการท่าเรือ ร้อง สตง.ปมโดน DSI กล่าวหาเบิกโอทีเป็นเท็จ

ดังนั้น สตง.จึงอาจมีความผิดฐานสมรู้ร่วมคิดหรือสนับสนุนให้มีการกระทำผิดอย่างใหญ่หลวงผิดตามมาตรา 157 ผมจึงต้องพาพนักงาน 100 กว่าคนมารัองขอให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อพิสูจน์ทราบว่า มีการเบิกเงินหลวงอันเป็นเท็จมูลค่าความเสียหาย 3,000-3,500 ล้านบาทตามที่ ดีเอสไอ รับเป็นคดีพิเศษหรือไม่อย่างไร

 

หนึ่งในพนักงาน กทท.ที่มาร้อง สตง.กล่าวว่า ตนและเพื่อนๆ เกษียณมาตั้งแต่ปี 61 ถูกอดีตผู้บังคับบัญชา กทท.ร้อง ดีเอสไอ กล่าวโทษพวกตนซึ่งเป็นพนักงาน กทท.หลายฝ่าย ทั้ง รถยก หัวลาก แผนกเรือ พนักงานบันทึกข้อมูลหน้าท่า เรือลากจูง แคนตี้เครน เป็นต้น เบิกเงินค่าล่วงเวลาเป็นเท็จ ตามที่ ดีเอสไอ ตรวจสอบ 

อดีตพนักงานการท่าเรือ ร้อง สตง.ปมโดน DSI กล่าวหาเบิกโอทีเป็นเท็จ

วันนี้มาร้อง สตง. ให้ตรวจสอบว่าการเบิกค่าล่วงเวลาเป็นซึ่งมีคำพิพากษาศาลแรงงานกลางตัดสินว่าเป็นค่าล่วงเวลาจริงบางส่วน แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา 

 

ที่ต้องมาร้อง สตง.วันนี้เพื่อให้พิสูจน์ว่าพวกเราได้มีการทำงานล่วงเวลาจริง เบิกเงินค่าล่วงเวลาจริง ไม่ใช่เบิกเท็จตามที่ ดีเอสไอ กล่าวหา

 

โดยมี นายวุฒิไกร  วงษ์กรอบศิลป์ ผอ.ตรวจสอบพิเศษที่ 1 สำนักตรวจเงินแผ่นดิน เป็นผู้รับหนังสือเพื่อเสนอผู้ตรวจเงินแผ่นดินพิจารณาต่อไป

อดีตพนักงานการท่าเรือ ร้อง สตง.ปมโดน DSI กล่าวหาเบิกโอทีเป็นเท็จ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ดีเอสไอ รับคดีนี้เป็นคดีพิเศษเมื่อ 2560 โดยแถลงข่าวมีผู้ต้องหาจำนวนทั้งสิ้น 800 คน

 

ล่าสุด ทาง ดีเอสไอ ได้มีหมายเรียกให้ผู้ต้องหามารับทราบข้อกล่าวหาเพียง 32 คนเท่านั้น โดยผู้ต้องหา 4-5 คนได้ทยอยกันไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ ดีเสไอ แล้วและในวันที่ 17-20 พ.ค.นี้ผู้ต้องหาที่เหลือก็จะไปรับทราบข้อกล่าวหา

 

แต่ข้อกล่าวหาของ ดีเอสไอ กลายเป็นข้อหาเบิกความเท็จ และนำสืบพยานหลักฐานเท็จเท่านั้น ไม่ใช่ข้อหาทุจริตเบิกค่าล่วงเวลาตามที่ ดีเอสไอ ตั้งเป็นคดีพิเศษ แต่อย่างใด