ผู้ป่วยโควิด 19 สายพันธุ์ย่อย บีเอ.2.12 พบที่ไหนแล้วบ้างดูเลย

28 เม.ย. 2565 | 15:30 น.
อัปเดตล่าสุด :28 เม.ย. 2565 | 22:41 น.
1.4 k

จับตา โควิด-19 สายพันธุ์ย่อย บีเอ.2.12 กลายพันธุ์-แพร่เชื้อเร็ว พบที่ประเทศไหนบ้าง ประเทศไทยสถานการณ์เป็นอย่างไรดูเลย

วันนี้ทั่วโลกต่างจับตาติดตามสถานการณ์ของเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ ชนิดกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย บีเอ.2.12 ( BA.2.12) เช่นเดียวกับประเทศไทย เนื่องจากแพร่เชื้อเร็วและหวั่นอาจเกิดการกลายพันธุ์เกิดขึ้นได้

 

  • ฟิลิปปินส์ พบป่วยโควิด-19 พันธุ์ย่อย บีเอ.2.12 รายแรก

สำนักข่าวซินหัว รายงานล่าสุดเมื่อวันที่ 27 เม.ย.2565 ว่า กระทรวงสาธารณสุขฟิลิปปินส์รายงานการตรวจพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ชนิดกลายพันธุ์ สายพันธุ์โอไมครอน สายพันธุ์ย่อยบีเอ.2.12 (BA.2.12) รายแรกของประเทศ เป็นหญิงชาวฟินแลนด์ อายุ 52 ปี ซึ่งเดินทางเข้าประเทศตั้งแต่วันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา

 

กระทรวงสาธารณสุขฟิลิปปินส์ ระบุว่า ผู้ป่วยโรคโควิด-19 รายนี้ไม่ได้เข้ากักตัวตามปกติ เนื่องจากฉีดวัคซีนครบสองโดสแล้วและไม่แสดงอาการป่วยเมื่อเดินทางถึงฟิลิปปินส์ โดยปัจจุบันหญิงรายนี้รักษาหายดีและเดินทางกลับฟินแลนด์แล้วเมื่อวันที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคโควิด-19 รายดังกล่าวเดินทางไปยังมหาวิทยาลัยในเขตมหานครมะนิลา ต่อจากนั้นเดินทางไปยังเมืองบาเกียวทางตอนเหนือเพื่อจัดสัมมนา เริ่มมีอาการป่วยเล็กน้อยอย่างปวดหัวและเจ็บคอ หลังจากเดินทางเข้าฟิลิปปินส์แล้ว 9 วัน

 

ทางกระทรวงฯ ระบุว่า หลังจากตรวจพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 รายนี้ หน่วยงานระบาดวิทยาและเฝ้าระวังท้องถิ่นแกะรอยจนพบผู้มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดที่ไม่แสดงอาการ จำนวน 9 ราย โดยในจำนวนนี้ 2 รายมีผลตรวจโรคเป็นลบ

 

ด้านคณะนักวิทยาศาสตร์กำลังศึกษาว่า เชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์โอไมครอน สายพันธุ์ย่อยนี้ แพร่เชื้อได้มากกว่าและก่อให้เกิดอาการป่วยรุนแรงกว่าหรือไม่ ในขณะที่ฟิลิปปินส์มีผู้ป่วยโรคโควิด-19 สะสมกว่า 3.68 ล้านราย และผู้ป่วยเสียชีวิต 60,215 ราย

  • โควิด-19 พันธุ์ย่อย บีเอ.2.12 แพร่ระบาดในสหรัฐฯ 

อย่างไรก็ดี สำนักข่าวซินหัวได้รายงานเอาไว้ก่อนหน้านี้ว่า ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ เปิดเผยว่า สหรัฐฯกำลังเผชิญการอุบัติของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ก่อโรคโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์ สายพันธุ์ย่อยใหม่ ในขณะที่เชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์โอไมครอนสายพันธุ์ย่อยบีเอ.2 ยังคงแพร่ระบาดเป็นหลักในประเทศ

 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2565 ศูนย์ฯ ระบุว่า เชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอน สายพันธุ์ย่อยใหม่ "บีเอ.2.12.1" (BA.2.12.1) ครองสัดส่วนราว 1 ใน 5 ของผู้ป่วยโรคโควิด-19 รายใหม่ในสหรัฐฯ โดยอัตราการติดเชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์ย่อยนี้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 11.4 ในสัปดาห์ก่อน และร้อยละ 6.9 ในสองสัปดาห์ก่อน

 

แม้ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ส่วนใหญ่ในสหรัฐฯ หรือราวร้อยละ 75 ติดเชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์ย่อยบีเอ.2 ซึ่งถือเป็นสายพันธุ์หลักในประเทศตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม แต่สายพันธุ์ย่อยบีเอ.2.12.1 ร่วมกับอีกหนึ่งสายพันธุ์ย่อยอย่างบีเอ.2.12 (BA.2.12) มีส่วนทำให้ยอดผู้ป่วยในรัฐนิวยอร์กพุ่งขึ้นเมื่อไม่นานนี้

 

สำนักสาธารณสุขรัฐนิวยอร์กเผยว่า เชื้อไวรัสฯ ทั้งสองสายพันธุ์ย่อยข้างต้นจัดเป็นสายพันธุ์ย่อยของบีเอ.2 ซึ่งปัจจุบันครองสัดส่วนร้อยละ 80.6 ของการติดเชื้อในนิวยอร์ก โดยคาดว่าทั้งสองสายพันธุ์ย่อยนี้จะแพร่ระบาดมากกว่า สายพันธุ์บีเอ.2 ราวร้อยละ 23-27

 

ปัจจุบันสหรัฐฯ มีผู้ป่วยโรคโควิด-19 รายใหม่เฉลี่ยราว 35,000 รายต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 19 จากสัปดาห์ก่อน และร้อยละ 42 จากสองสัปดาห์ก่อน ขณะยอดผู้ป่วยเสียชีวิตรายใหม่อยู่ที่ราว 370 รายต่อวัน และยอดผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาลรายใหม่อยู่ที่ราว 1,400 รายต่อวัน

 

อย่างไรก็ดี หลังจากศูนย์ฯ ขยายข้อบังคับสวมหน้ากากอนามัยบนเครื่องบิน รถไฟ รถประจำทาง และระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ได้ไม่ถึงสัปดาห์ ผู้พิพากษาศาลกลางในรัฐฟลอริดากลับยกเลิกคำสั่งสวมหน้ากากอนามัยเมื่อวันจันทร์ที่ 18 เมษายน นำไปสู่กรณีหลายสายการบินยกเลิกกฎสวมหน้ากากอนามัยบนเที่ยวบินภายในประเทศ

 

  • ประเทศไทย ยังไม่พบโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2.12.1 

 

สำหรับประเทศไทยโดยศูนย์จีโนมทางการแพทย์ฯ ได้ออกมาเตือนเมื่อเร็วๆนี้ ให้เฝ้าระวังโอมิครอน "BA.2.12" ที่กำลังระบาดในไทยเพิ่มมากขึ้นเพราะหวั่นอาจกลายพันธุ์เป็น "BA.2.12.1" เหมือนที่กำลังระบาดอย่างหนักในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาได้

 

ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล กล่าวว่า สำหรับไทยขณะนี้ยังไม่พบ BA.2.12.1 แต่ต้องเฝ้าระวังเพราะเรามีตัวแม่ BA.2.12 ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา ในฐานข้อมูลกลางโควิดโลก หรือ GISAID พบ BA.2.12 ในไทยจากการสุ่มถอดรหัสพันธุกรรมไม่น้อยกว่า 186 ตัวอย่าง คาดว่าหน้างานจริงมีมากกว่านั้น โดยธรรมชาติการกลายพันธุ์ของไวรัส เมื่อมีไวรัสตัวใหม่โผล่ขึ้นมาก ไวรัสตัวเดิมจะค่อย ๆ ลดลงจนหายไปใน 2-3 เดือน

 

ข้อมูลล่าสุดจากนักวิทยาศาสตร์ในต่างประเทศได้ทดสอบนำแอนติบอดีของผู้ติดเชื้อโอมิครอนมาทดสอบภูมิคุ้มกันพบว่า ป้องกันได้แต่เฉพาะโอมิครอนแต่สายพันธุ์อื่น ๆ ในอดีตหรือในอนาคตนั้น อาจจะป้องกันได้ไม่ดีนัก ต่างกับคนที่ฉีดวัคซีน ดังนั้น การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจึงมีความสำคัญ