ย้ำ! มาตรการ Universal Prevention ลด 5 พฤติกรรมเสี่ยงคนไทยช่วงสงกรานต์

13 เม.ย. 2565 | 09:47 น.
อัปเดตล่าสุด :13 เม.ย. 2565 | 16:59 น.

กรม สบส. ย้ำมาตรการ Universal Prevention ลดเสี่ยง 5 พฤติกรรมคนไทยช่วงสงกรานต์ เผยประชาชน 74% ไปซื้อของที่ห้างสรรพสินค้า และตลาดสด ช่วงเทศกาลสงกรานต์ หวั่นคนแออัด เน้นมาตรการ UP

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า เทศกาลสงกรานต์ ประเพณีปีใหม่ไทย เป็นเทศกาลที่มีการรวมตัว รวมกลุ่ม มีความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด - 19 ได้ง่าย และสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว หากไม่มีมาตรการป้องกัน ส่งผลให้หลังเทศกาลสงกรานต์อาจมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก เสี่ยงอันตรายต่อผู้ที่มีโรคประจำตัว และผู้สูงอายุ 

 

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดยกองสุขศึกษา จึงได้ทำการสำรวจการเฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยงช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2565 ผ่านระบบออนไลน์  ระหว่างวันที่ 21 มีนาคม - 5 เมษายน 2565  โดยได้รับความอนุเคราะห์ในการเผยแพร่เครื่องมือจากสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย ศูนย์การเรียน เซนต์ ยอห์นบอสโกศูนย์การเรียน เซนต์ยอห์นบอสโกปทุมธานี ศูนย์การเรียน เซนต์ ยอห์นบอสโก กบินทร์บุรี ศูนย์การเรียนเซนต์เทเรซ่า ศูนย์การเรียนเซนต์เทเรซ่า อีสเทิร์น ศูนย์การเรียนเซนต์เทเรซ่า เซาท์เทิร์น และประชาชนทั่วไป มีผู้ตอบแบบสำรวจ จำนวน 1,405 คน พบว่า ประชาชนมีพฤติกรรมเสี่ยงติดโควิด - 19 ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 5 อันดับ ดังนี้  

  1. ประชาชน 74% จะไปซื้อของที่ห้างสรรพสินค้า หรือตลาดสดด้วยตนเอง 
  2. ประชาชน 58.8% จะไปพบปะกราบขอพรผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุที่ไม่พบกันมานาน 
  3. ประชาชน 48.5% จะกินอาหารร่วมกันกับญาติมิตร  
  4. ประชาชน 41.1% จะรวมกลุ่มตามประเพณีที่เคยทำในเทศกาลสงกรานต์ 
  5. ประชาชน 23.3% จะเดินทางท่องเที่ยว กลับภูมิลำเนาด้วยรถโดยสารขนส่งสาธารณะ 

จากผลสำรวจพบว่าทุกพฤติกรรมล้วนมีความเสี่ยงในการติดโควิด -19 ทั้งสิ้น แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการปฏิบัติตาม Universal Prevention การป้องกันโควิด -19 แบบครอบจักรวาล  

ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า การป้องกันการ ติดโควิด - 19 ที่มีการติดเชื้อง่ายและแพร่กระจายได้รวดเร็ว ในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ ที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องกลับภูมิลำเนาพบญาติผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ การจับจ่ายซื้อของด้วยตนเอง ทั้งในห้างสรรพสินค้าและตลาดสด และมีการรับประทานอาหารร่วมกันกับญาติมิตร ล้วนเป็นพฤติกรรมเสี่ยงโควิด - 19 ที่จะนำไปสู่ผู้สูงอายุได้ ดังนั้นเพื่อให้การฉลองเทศกาลสงกรานต์ไม่เสี่ยง ขอความร่วมมือประชาชนรักษามาตรการป้องกันแบบครอบจักรวาล Universal Prevention อย่างเคร่งครัด เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ สวมหน้ากากอนามัยเมื่อพูดคุยกัน และแยกสำรับอาหาร และใช้อุปกรณ์ส่วนตัว

 

และเน้นย้ำให้ผู้ที่มีอาการสงสัยว่าติดเชื้อโควิด 19 ให้รีบตรวจ Antigen Test Kit (ATK) หากใกล้ชิดหรือสัมผัสผู้มีความเสี่ยงติดโควิด 19 อย่างเคร่งครัด เพื่อลดการแพร่กระจายไปยังผู้สูงอายุในครอบครัว พร้อมกับร่วมเป็นส่วนหนึ่งเทศกาลสงกรานต์ปลอดภัยลดเสี่ยงเลี่ยงโควิด 19 และ ร่วมรณรงค์ลดอุบัติเหตุช่วงสงกรานต์ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” เน้นมาตรการ  “ไม่เมา สวมหมวก ใส่แมสก์