ดีอีเอส เตือนปชช.อย่าหลงเชื่อข่าวปลอมอ้างชื่อกรุงไทย-ออมสิน

09 เม.ย. 2565 | 11:44 น.
อัปเดตล่าสุด :09 เม.ย. 2565 | 18:55 น.

โฆษกดีอีเอส เปิดข้อมูลสรุปสถานการณ์ข่าวปลอมรายสัปดาห์ พบข่าวแบงก์กรุงไทยและออมสิน ถูกอ้างชื่อปล่อยสินเชื่อ มีคนสนใจติดอันดับท็อปเท็น

นางสาวนพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอีเอส) กล่าวว่า สรุปผลการมอนิเตอร์ และรับแจ้งข่าวปลอมประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 1–7 เม.ย.65 โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ยังพบการแอบอ้างชื่อธนาคารใหญ่ว่ามีแคมเปญปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ปรับเพิ่มวงเงิน หรือเปิดให้ลงทะเบียนสินเชื่อผ่านแอปธนาคาร ซึ่งข่าวปลอมในประเด็นนี้ มักได้รับความสนใจจากประชาชน

 

โดยในรอบสัปดาห์นี้ ข่าวปลอมที่มีคนสนใจสูงสุด 10 อันดับ ได้แก่ อันดับ 1 กรุงไทยร่วมกับบริษัทเอกชน ปล่อยสินเชื่อเงินกู้โครงการคลินิกแก้หนี้ ดอกเบี้ยร้อยละ 1 บาท อันดับ 2 ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนประจำปี 2565 ช่วงสงกรานต์ เพราะมีปรากฏการณ์พายุ 3 ลูก อันดับ 3 กรุงไทยและออมสิน ร่วมกับบริษัทเอกชน ปล่อยสินเชื่อเงินกู้ 24 เดือน วงเงิน 5,000-500,000 บาท อันดับ 4 อากาศที่เย็นลงในไทยช่วง เม.ย. 65 นี้ เป็นปรากฏการณ์ Polar Vorteดx อันดับ 5 มะเร็งรักษาหายได้ ด้วยต้นกาฝากทับทิม 

อันดับ 6 ผู้ที่ทานเนื้อวัว นมวัวเป็นประจำ จะทำให้เลือดเป็นกรดและเชื้อไวรัสโควิด 19 เจริญเติบโตได้ง่าย อันดับ 7 ฃนมวัวมีสารไดออกซิน ทำให้เกิดโรคมะเร็ง อันดับ 8 ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ในการจัดตั้งนาโต้ 2 ส่งผลกระทบต่อการส่งออกทุเรียนไทย อันดับ 9 ธ.ออมสินเปิดให้ลงทะเบียนสินเชื่อเสริมพลังฐานราก ปรับวงเงินเป็น 100,000 บาท ผ่านแอปพลิเคชัน MyMo และอันดับ 10 โฆษณาบน Facebook ใช้ชื่อ และ โลโก้สำนักงาน ก.ล.ต.

 

ด้านภาพรวมของการมอนิเตอร์โดยศูนย์ฯ พบข้อความที่เข้ามาจำนวน 11,692,183 ข้อความ ภายหลังการคัดกรองแล้ว มีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 241 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ 126 เรื่อง โดยเป็นเรื่องโควิด 20 เรื่อง

นางสาวนพวรรณ  กล่าวว่า ขอให้ประชาชนตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายอยู่บนโซเชียล/ออนไลน์ และขอความร่วมมืออย่าเชื่อในทันที อย่าส่งต่อโดยไม่ได้ตรวจสอบกับองค์กร หรือหน่วยอ้างที่ถูกอ้างชื่อในข่าว โดยสามารถติดตามและแจ้งเบาะแสข่าวปลอม ได้ผ่านช่องทางต่างๆ ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ดังนี้ ไลน์ @antifakenewscenter  เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com/ ทวิตเตอร์ https://twitter.com/AFNCThailand และช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87