เคลีย์ข้อสงสัย โควิดสายพันธุ์ลูกผสม มีกี่สายพันธุ์ ตัวไหนน่ากังวลที่สุด?

27 มี.ค. 2565 | 14:35 น.
อัปเดตล่าสุด :29 มี.ค. 2565 | 18:10 น.
2.1 k

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ เคลีย์ 5 ข้อสงสัย สำหรับโควิดสายพันธุ์ลูกผสม มีกี่สายพันธุ์ สายพันธุ์ไหนน่ากังวลที่สุด?

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์เฟซบุ๊ค Center for Medical Genomics  เคลียร์ข้อสงสัย 5 คำตอบที่จะช่วยให้ประชาชนเข้าใจใน โควิดสายพันธุ์ลูกผสม (recombinant lineage) เพิ่มขึ้น

ไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์ลูกผสมเกิดขึ้นได้อย่างไร

เมื่อไวรัสซึ่งมีสายพันธุ์ใกล้เคียงกันสองสายพันธุ์ เช่น "เดลตา" กับ "โอมิครอน" หรือโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1 และ BA.2 เข้ามาติดเชื้อเพิ่มจำนวนในเซลล์เดียวกัน (coinfection) กิจกรรมที่ไวรัสจะดำเนินการทันทีเมื่อมาอยู่ภายในเซลล์คือการเพิ่มจำนวนลูกหลานมากๆ เอนไซม์ของไวรัสที่มีหน้าที่สร้างจีโนมสายใหม่โดยใช้จีโนมของสายพันธุ์ที่หนึ่งเป็นต้นแบบ (template)

ดำเนินกระบวนการสร้างจีโนมสายใหม่มาระยะหนึ่งแล้วเกิดความผิดพลาด กล่าวคือเอ็นไซม์ดังกล่าวเปลี่ยนไปใช้จีโนมของสายพันธุ์ที่สองเป็นต้นแบบในสร้างจีโนม(template switching) ต่อไปจนเสร็จสมบูรณ์ ส่งผลให้เกิดไวรัส(จีโนม)ลูกผสมระหว่างสองสายพันธุ์ขึ้นมา

 

ทำไมถึงมีการค้นพบสายพันธุ์ลูกผสมมากมายในระยะนี้

เหตุที่มีรายงานพบสายพันธุ์ลูกผสมจำนวนมากจากทั่วโลกในระยะนี้ก็เพราะเพิ่งมีไวรัสที่มีความแตกต่างกันทางพันธุกรรมบนสายจีโนมเป็นอย่างมากมาระบาดไปพร้อมกันทั่วโลก เช่น สายพันธุ์ “เดลตา”, BA.1 และ BA.2 - เมื่อเกิดสายพันธุ์ลูกผสมเกิดขึ้นระหว่างไวรัสเหล่านี้

 

สามารถจะตรวจพบบรรดาลูกผสมเหล่านี้ได้โดยง่าย แม้ส่วนที่สับเปลี่ยนของจีโนมจะมีขนาดเล็กก็ตาม  เหตุผลอีกประการคือมีการระบาดของ BA.1 ตามมาด้วย BA.2  (ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา) เกิดขึ้นในขณะที่ยังมีเดลต้าระบาดอยู่ในระดับที่สูงมากเช่นกัน- เปิดโอกาสให้เกิดการติดเชื้อร่วม (coinfection)  ส่งผลให้เกิดสายพันธุ์ลูกผสม

 

ไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์ลูกผสม มีทั้งหมดกี่สายพันธุ์

การกำหนดสายพันธุ์ไวรัสโคโรนา 2019 นั้นอาศัยข้อมูลรหัสพันธุ์ของโควิด-19 ทั้งจีโนมซับมิทเข้าไปในโปรแกรมออนไลน์ “Pangolin COVID-19 Lineage Assigner” เรียกโดยย่อว่า “PANGOLIN; Phylogenetic Assignment of Named Global Outbreak LINeages (https://pangolin.cog-uk.io/)

 

PANGOLIN แบ่งสายพันธุ์ลูกผสมเป็น  2 หมวด 8 สายพันธุ์ 

หมวด 1 สายพันธุ์ลูกผสมระหว่าง “Delta x BA.1”  ประกอบด้วยสมาชิก 2  สายพันธุ์

  • XD-เป็นสายพันธุ์ลูกผสม ระหว่าง Delta x BA.1 lineage พบในฝรั่งเศส  ประกอบด้วยยีน S  ที่สร้างหนามแหลม ส่วนอื่นเป็นจีโนมจากเดลตา
  • XF-จีโนมมีส่วนผสมระหว่าง ยีน S และยีนที่สร้างโปรตีนสำคัญของอนุภาคไวรัส มาจาก BA.1  กับส่วน 5’ จากจีโนมของเดลตา

หมวด 2 สายพันธุ์ลูกผสมระหว่าง BA.1XBA.2 ประกอบด้วยสมาชิก 6  สายพันธุ์

  • XE-พบในอังกฤษ จีโนมมีส่วนผสมระหว่าง ยีน S และยีนที่สร้างโปรตีนสำคัญของอนุภาคไวรัส มาจาก BA.2 กับส่วน 5’ จากจีโนมของ BA.1 แสดงอัตราการแพร่ระบาด (growth advantage) เหนือ BA.2 
  • XG-พบในเดนมาร์ก
  • XH-พบในเดนมาร์ก
  • XJ-พบในฟินแลนด์
  • XK-พบในเบลเยียม
  • XL-พบในอังกฤษ
  • XG,XH,XJ,XK, และ XL ทั้งหมดจะมีจุดเชื่อมต่อ (break point) ระหว่าง BA.1 และ BA.2 ในบริเวณยีน ORF1ab

 

ไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์ลูกผสมสายพันธุ์ใดที่น่ากังวลและควรเฝ้าจับตามอง

สายพันธุ์ลูกผสม XD ควรเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด สายพันธุ์นี้พบใน ฝรั่งเศส เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และเดนมาร์ก ได้จีโนมส่วนหนามมาจากโอมิครอน (BA.1) และจีโนมส่วนใหญ่ที่เหลือเป็นของเดลตา หากการผสมพันธุ์กัน (recombination) ในทางทฤษฎีอาจก่อให้เกิดการสายพันธุ์ที่แพร่ได้อย่างรวดเร็ว และมีก่อโรครุนแรงกว่าทุกสายพันธุ์ที่เราเคยรู้จักกันมา

 

แต่ข้อมูลจากโลกแห่งความเป็นจริง (real world data) ยังไม่พบว่า XD มีการแพร่ระบาดที่รวดเร็วและก่อโรคโควิด-19 ที่รุนแรง อย่างไรก็ตามเพื่อความไม่ประมาทควรเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด

 

สายพันธุ์ลูกผสม XF, XE, XG,XH,XJ,XK, และ XL การหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกัน ความสามารถในการแพร่ระบาด (transmissibility) อาการความรุนแรงของโรคโควิด (severity) ดูจากจีโนมแล้วผู้เชี่ยวชาญหลายท่านลงความเห็นว่าไม่น่าจะแตกต่างไปจาก โอมิครอน (BA.1 และ BA.2)

 

รู้ประเภทของสายพันธุ์ลูกผสมเพื่ออะไร

การอุบัติขึ้นของสายพันธุ์ลูกผสมสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการกลายพันธุ์แบบก้าวกระโดด ซึ่งอาจส่งผลต่อการควบคุมการระบาด การตรวจกรองด้วย ATK  PCR การป้องกันด้วยวัคซีน และการรักษาด้วยยาต้านไวรัสและแอนติบอดีสังเคราะห์จำเป็นต้องรู้ว่ากำลังต่อสู้อยู่กับไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์สายพันธุ์ใด