เช็คสัญญาณอันตราย ภาวะใหลตาย “บรูกาดาซินโดรม” เหตุ “บีม ปภังกร” เสียชีวิต

24 มี.ค. 2565 | 09:20 น.
อัปเดตล่าสุด :24 มี.ค. 2565 | 19:47 น.
6.2 k

เช็คสัญญาณอันตราย ภาวะใหลตาย “บรูกาดาซินโดรม” ความตายที่คนตายไม่รู้ตัว สาเหตุดาราหนุ่ม “บีม ปภังกร” เสียชีวิต

ยังคงสร้างความโศกเศร้าเสียใจต่อเพื่อนๆในวงการบันเทิง แฟนคลับ เป็นอย่างมาก สำหรับการเสียชีวิตของนักแสดงหนุ่มชื่อดัง "บีม ปภังกร" พระเอกเรื่องเคว้ง เสียชีวิตปริศนา หลังนอนหลับปลุกไม่ตื่น  

โดยนายแพทย์ มานพ พิทักษ์ภากร  หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุ สาเหตุการเสียชีวิตของบีมนั้นว่าน่าจะเกิดจากภาวะใหลตาย  

 

"บีม ปภังกร" พระเอกเรื่องเคว้ง

ทางการแพทย์เรียกภาวะนี้ว่ากลุ่มอาการ “บรูกาดาซินโดรม” (Brugada Syndrome) อาการใหลตาย เป็นอาการที่เกิดขึ้นจากหัวใจที่เต้นผิดจังหวะอย่างกะทันหัน ทำให้เสียชีวิตในระยะเวลาอันรวดเร็วเพราะเกิดเป็น ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันบรูกาดาซินโดรม

โรคใหลตาย

ใหลตายเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น คลื่นไฟฟ้าหัวใจทำงานผิดปกติ ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะและสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ไม่เพียงพอ ส่งผลให้ผู้ป่วยหมดสติ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้สมองตายและเสียชีวิตอย่างเฉียบพลัน

 

สัญญาณอันตรายของโรคใหลตาย

  1. อึดอัด หายใจไม่ออก โดยเฉพาะช่วงกลางคืน
  2. อาจมีอาการเป็นลม หมดสติ
  3. ใจหวิวๆ เครียดง่าย ตื่นเต้นง่าย
  4. เจ็บแน่นบริเวณหน้าอก
  5. วิงเวียนศีรษะ

 

การปฐมพยาบาลผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะใหลตาย

  • จับผู้ป่วยนอนราบ ระหว่างรอรถพยาบาลหรือรอคนมาช่วยให้ประเมินผู้ป่วย
  • หากพบว่าไม่หายใจหรือชีพจรที่คอไม่เต้น ให้กดหน้าอกยุบลงราว 1.5 นิ้ว แล้วปล่อยให้คลายตัวเป็นชุด ในความถี่ราว 100 ครั้งต่อนาทีโดยไม่หยุดจนกว่าจะถึงมือแพทย์หรือจนกว่าผู้ป่วยจะรู้ตัว
  • ไม่ควรเสียเวลาโดยไม่จำเป็น เช่น งัดปากคนไข้ด้วยของแข็งเพราะอาจเป็นอันตราย
  • ให้ระลึกเสมอว่าคนที่เป็นโรคใหลตายอาจจะมีโรคอื่นของสมอง เช่น ลมชัก โรคหัวใจ ที่อาจเป็นเหตุให้หมดสติได้เช่นกัน

 

วิธีการรักษาที่ดีที่สุด

การฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจ เพื่อควบคุมการเต้นของหัวใจให้ผู้ที่เคยตกอยู่ในภาวะใหลตายสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ

 

การดูแลหลังการรักษา

  • หลีกเลี่ยงการกดบริเวณหัวไหล่ ไหปลาร้าข้างที่ใส่เครื่อง เพราะอาจทำให้สายหัก
  • อาหารการกินยังต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ คือหลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารพิษปนเปื้อน รับประทานอาหารที่สะอาดถูกหลักอนามัย และรับประทานอาหารที่ให้สารอาหารเพียงพอต่อร่างกายโดยเฉพาะวิตามินบี
  • ควรรับประทานอาหารที่มีคุณสมบัติช่วยบำรุงหัวใจและหลอดเลือดอย่างสม่ำเสมอ เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า น้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ ถั่วดำ ถั่วแระ เต้าหู้ เป็นต้น

ข้อมูล : รามาเเชเเนล