รู้จัก 'ภาวะใหลตาย' สาเหตุ บีม ปภังกร เสียชีวิต

23 มี.ค. 2565 | 21:47 น.
อัปเดตล่าสุด :24 มี.ค. 2565 | 04:58 น.
12.7 k

'บีม ปภังกร' พระเอกเรื่องเคว้ง เสียชีวิตปริศนา หลังนอนหลับปลุกไม่ตื่น ขณะแพทย์ ชี้ เป็น ภาวะ 'ใหลตาย' เกิดขึ้นบ่อยในคนเอเชีย โดยเฉพาะผู้ชายอายุน้อย

23 มีนาคม 2565 - ชื่อของนักแสดงหนุ่ม 'บีม ปภังกร' พระเอกจากซีรีย์ดัง เรื่อง เคว้ง ถูกได้รับความสนใจ และ ค้นหาในโลกโซเซียลอีกครั้ง หลังปรากฎข่าว บีมปภังกรเสียชีวิต ขณะนอนหลับ โดยญาติพยายามปลุกแต่ไม่ตื่น จึงเร่งนำตัวส่งโรงพยาบาล 

รู้จัก \'ภาวะใหลตาย\' สาเหตุ บีม ปภังกร เสียชีวิต

ทั้งนี้ นายแพทย์ มานพ พิทักษ์ภากร  หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ได้โพสต์เฟซบุ๊ก แสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิตของนักแสดงหนุ่ม  'บีม ปภังกร'  พร้อมระบุ สาเหตุการเสียชีวิตของ'บีม ปภังกร' ว่าน่าจะเกิดจากภาวะใหลตาย  โดยมีใจความสำคัญ ดังนี้  

เวลาเห็นข่าวแบบนี้อยากให้เห็นความสำคัญของภาวะ “ใหลตาย” (SUDS) ซึ่งพบบ่อยในคนเอเชียโดยเฉพาะผู้ชายอายุน้อย สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งคือภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะร้ายแรง (malignant arrhythmia) ซึ่งส่วนนึงเกิดจากโรคพันธุกรรม มีกลายพันธุ์ของยีนหลายชนิด เช่น long QT syndrome, Brugada syndrome, ARVD หรือกลุ่ม cardiomyopathy ปัจจุบันสามารถให้การวินิจฉัยได้ด้วย next generation sequencing 

รู้จัก \'ภาวะใหลตาย\' สาเหตุ บีม ปภังกร เสียชีวิต
 

ภาวะใหลตาย ความตายที่คนตายไม่รู้ตัว 

สำหรับ ภาวะใหลตาย เคยเกิดขึ้นกับคนดังหลายราย เช่น ในอดีต  “แวว จ๊กมก” น้องสาวตลกรุ่นใหญ่หม่ำ จ๊กมก ก็เคยเสียชีวิตจากโรค ที่ชาวบ้านเรียกกันว่าเป็น “โรคใหลตาย” ในทางการแพทย์เรียกภาวะนี้ว่า “หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน” เป็นอีกหนึ่งโรคที่พบบ่อยโดยเฉพาะในแถบภาคอีสาน ความน่ากลัวของโรคนี้คือการเสียชีวิตแบบเฉียบพลัน ที่ผู้ตายไม่มีโอกาสรู้ตัวมาก่อนเลย

 

โดยเว็บไซต์ รามาแชนแนล เคยระบุถึง โรคใหลตาย โดยอ้างอิงข้อมูล จาก ผศ. พญ.สิรินทร์ อภิญาสวัสดิ์สาขาวิชาโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ว่ามีสาเหตุที่สำคัญ คือภาวะร่างกายขาดแร่ธาตุโพแทสเซียม ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง ส่งผลให้หัวใจเต้นแรงขึ้นและเสียชีวิตในที่สุด ปัจจัยที่เกี่ยวข้องของโรคมี 2 ประการด้วยกัน ได้แก่ การบริโภคอาหารที่มีสารพิษวันละเล็กน้อย จนเกิดการสะสมและเป็นพิษต่อกล้ามเนื้อหัวใจ ปัจจัยต่อมาคือการขาดสารอาหารที่เป็นวิตามินบี 1 อย่างรุนแรงเฉียบพลัน ทำให้คนที่แข็งแรงอยู่ดีๆ รู้สึกอ่อนเพลียและอยากนอน เมื่อหลับแล้วก็หัวใจวายตายเกือบจะทันที โดยโรคนี้สัมพันธ์ใกล้ชิดกับภาวะทุพโภชนาการ และสุขนิสัยการกินที่ผิด

 

กลไกการเกิดภาวะโรคใหลตาย

โดยปกติแล้วการเต้นของหัวใจคนเรานั้นเกิดขึ้นจากไฟฟ้า ซึ่งไฟฟ้าเกิดจากเกลือแร่ที่วิ่งเข้าออกระหว่างเซลล์ตลอดเวลา โดยเกลือแร่ที่ทำให้เกิดไฟฟ้ามีหลายชนิด เช่น โซเดียม โพแทสเซียม แคลเซียม เป็นต้น ซึ่งต้องวิ่งเข้าออกบริเวณที่เปรียบเสมือนประตู แต่ในคนที่เกิดภาวะใหลตายนั้นพบว่าประตูที่ทำให้โซเดียมเข้าออกเซลล์นั้นมีน้อยกว่าคนปกติ เป็นสาเหตุที่เกิดขึ้นแต่กำเนิด และเป็นสาเหตุในระดับเซลล์ คนกลุ่มนี้ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเกี่ยวกับอาหารการกิน เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรคใหลตาย

 

การเกิดภาวะใหลตายเกี่ยวข้องกับการเต้นระริกของหัวใจ

ที่เราพบในคนไข้ใหลตายนั้นเกิดจากหัวใจห้องล่าง ซึ่งปกติเป็นปั๊มหลักคอยบีบเลือดไปเลี้ยงร่างกาย เมื่อประตูหัวใจห้องล่างเกิดไฟฟ้าลัดวงจรทำให้มีการเต้นไม่สม่ำเสมอของหัวใจห้องล่าง เกิดไฟฟ้ามากระตุ้นให้เป็นจุดเล็กๆ และแทนที่หัวใจห้องล่างจะบีบตัวโครมๆ เพื่อเอาเลือดไปเลี้ยงร่างกาย ก็บีบตัวไม่ได้และสั่นระริกๆ ทำให้เลือดไปเลี้ยงร่างกายและสมองไม่เพียงพอ ภายใน 30 วินาทีจะเป็นลมหมดสติ 4 นาทีต่อมาถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นสมองจะตาย และภายใน 6-7 นาที ถ้ายังไม่หายก็จะเสียชีวิตในที่สุด

รู้จัก \'ภาวะใหลตาย\' สาเหตุ บีม ปภังกร เสียชีวิต

อาการแสดงของภาวะเลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายและสมองไม่เพียงพอ
คือเกิดการเกร็งของแขนและขา หายใจเสียงดังจากการมีเสมหะในหลอดลม บางรายปัสสาวะและอุจจาระราด เพราะสูญเสียการควบคุมของระบบประสาทโดยอัตโนมัติ ผู้ป่วยจะมีใบหน้าและริมฝีปากเขียวคล้ำ จากนั้นจะเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว หากไม่ได้รับการกู้ชีพที่มีประสิทธิภาพ หรือไม่มีการใช้ไฟฟ้ากระตุ้นหัวใจให้กลับมาทำงานเป็นปกติ เพื่อหยุด BF ให้เร็วที่สุด แต่บางครั้ง BF ก็อาจหยุดเองได้และผู้ป่วยสามารถรอดตายได้เช่นกัน แต่สมองอาจพิการถาวรหากขาดออกซิเจนเป็นเวลานาน

 

การปฐมพยาบาลผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะใหลตาย

คือจับผู้ป่วยนอนราบ ระหว่างรอรถพยาบาลหรือรอคนมาช่วยให้ประเมินผู้ป่วย หากพบว่าไม่หายใจหรือชีพจรที่คอไม่เต้น ให้กดหน้าอกยุบลงราว 1.5 นิ้ว แล้วปล่อยให้คลายตัวเป็นชุด ในความถี่ราว 100 ครั้งต่อนาทีโดยไม่หยุดจนกว่าจะถึงมือแพทย์หรือจนกว่าผู้ป่วยจะรู้ตัว และไม่ควรเสียเวลาโดยไม่จำเป็น เช่น งัดปากคนไข้ด้วยของแข็งเพราะอาจเป็นอันตราย และให้ระลึกเสมอว่าคนที่เป็นโรคใหลตายอาจจะมีโรคอื่นของสมอง เช่น ลมชัก โรคหัวใจ ที่อาจเป็นเหตุให้หมดสติได้เช่นกัน

 

ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ขอแสดงความเสียใจต่อญาติของ 'บีม ปภังกร' กับการจากไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ มา ณ ที่นี่ด้วย ด้วยความเคารพ 

 

ที่มา : รามาแชนแนล