UN Women ร่วมเสนอแนะเชิงนโยบายส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในภาคธุรกิจไทย

17 มี.ค. 2565 | 04:11 น.
อัปเดตล่าสุด :17 มี.ค. 2565 | 06:02 น.

UN Women ร่วมเสนอแนะเชิงนโยบายส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในภาคธุรกิจไทยสู่การเติบโตที่ยั่งยืนของเศรษฐกิจและสังคม

องค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ หรือ UN Women ร่วมเผยแพร่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและแนวทางส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในภาคธุรกิจของประเทศไทย

 

โดยกำหนดแนวทางสำหรับนโยบายและแนวทางปฏิบัติ สู่การพัฒนาศักยภาพสตรีในภาคธุรกิจ ตลอดจนการสร้างการเติบโตที่อย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจและสังคม 

 

ทั้งนี้ เอกสารข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในหัวข้อ “Building Pathways to Gender Equality and Sustainability through the Women's Empowerment Principles: Thailand Policy Brief” จัดทำขึ้นโดยโครงการ WeEmpowerAsia ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์การ UN Women และสหภาพยุโรป (EU) 

 

เพื่อนำเสนอข้อแนะนำเชิงกลยุทธ์และแนวทางเชิงนโยบายให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ที่ให้ความสำคัญในการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในภาคธุรกิจ ผ่านการส่งเสริมการเปิดเผยและรายงานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความเท่าเทียมทางเพศ สำหรับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ การสนับสนุนบทบาทผู้นำองค์กรสตรี และการสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการสตรีและธุรกิจที่มีผู้หญิงเป็นเจ้าของหรือผู้นำในห่วงโซ่อุปทานของภาครัฐและเอกชนทั้งในระดับประเทศและระดับโลก
 

สำหรับเอกสารดังกล่าวจะได้รับการเผยแพร่ในงานเสวนา “Inclusive Policy means Sustainable Growth” ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย 

 

โดยถือเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ และนำเสนอแนวทางสู่การส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ และศักยภาพสตรีในภาคธุรกิจไทย อันเป็นรากฐานของการเติบโตที่ยั่งยืนของเศรษฐกิจและสังคมไทย รวมถึงยังเป็นการเฉลิมฉลองเดือนสตรีสากลอีกด้วย 

 

นายจูเซปเป บูซีนี รองหัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรป ประจำประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา การค้าระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศไทยมีมูลค่ารวม 29,000 ล้านยูโร โดยเล็งเห็นว่าเราทั้งคู่ต่างมีความสามารถที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริงได้

 

UN Women ร่วมเผยแพร่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ

 

ซึ่งจะร่วมมือกับหน่วยงานผู้กำกับดูแลของไทยในการสนับสนุนการค้าและห่วงโซ่อุปทานระหว่างไทยและสหภาพยุโรปที่ยั่งยืนและส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ โดยเฉพาะในการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย Building Pathways to Gender Equality and Sustainability through the Women's Empowerment Principles: Thailand Policy Brief 

นางสาวซาร่าห์ นิบบซ์ รักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การ UN Women สำนักงานภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก กล่าวโดยหวังว่า หน่วยงานภาครัฐจะนำข้อเสนอแนะใน Thailand Policy Brief ฉบับนี้ใช้เป็นแนวทางเพื่อช่วยกำกับดูแล และสร้างแรงจูงใจการประกอบธุรกิจให้เกิดการมีส่วนร่วมของคนทุกเพศได้ เพราะความเท่าเทียมทางเพศไม่ได้เพียงแค่ทำให้ธุรกิจเติบโตเท่านั้น แต่ยังนำมาซึ่งความยั่งยืนที่ทุกคนในสังคมมีส่วนร่วมได้

 

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า การเพิ่มบทบาทสตรีในระดับผู้นำองค์กรเป็นหนึ่งในเป้าประสงค์ตามแผนดำเนินการเพื่อเพิ่มบทบาทสตรีในตลาดทุนไทย ของ ก.ล.ต. นอกจากนี้ เกณฑ์การเปิดเผยข้อมูล 56-1 One Report ซึ่งมีผลบังคับใช้ในปีนี้ ได้เน้นการเปิดเผยข้อมูล ESG 

 

โดยเพาะข้อมูลการปฏิบัติตามนโยบาย ซึ่งรวมถึงนโยบายความหลากหลายของคณะ กรรมการ และข้อมูลเพศของกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน ดังนั้นการเปิดเผยข้อมูลจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่สะท้อนความโปร่งใสและความรับผิดชอบของบริษัทจดทะเบียนต่อผู้มีส่วนได้เสีย 

 

นางสาววิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการ  สสว. กล่าวว่า ประเทศไทยยังไม่มีการนิยามคำจำกัดความของผู้ประกอบการสตรีอย่างชัดเจน  ซึ่งการขาดกลไกดังกล่าวจะเป็นอุปสรรคต่อการกำหนดสิทธิเพื่อผู้ประกอบการสตรี รวมถึงการจะใช้ประโยชน์จากความร่วมมือในระดับสากลในการส่งเสริม SME ที่กำหนดเป้าหมายเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการสตรี  

 

นอกจากนี้ ข้อมูลจากการสำรวจทั่วโลก ยังพบว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการผู้หญิงระดับเอสเอ็มอี ส่วนใหญ่จะมีการเลือกซื้อสินค้าให้กับคนในครอบครัว ซึ่งในช่วงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กลุ่มดังกล่าวได้รับผลกระทบมากที่สุด ดังนั้นภาครัฐในหลายประเทศต้องเร่งช่วยผู้ประกอบการเหล่านี้ให้เข้าสู่การจัดซื้อจัดจ้างมากขึ้น  

 

"สสว.จึงได้เริ่มสร้างแพลตฟอร์มการจัดซื้อจัดจ้างสำหรับเอสเอ็มอีกลุ่มเหล่านี้ขึ้น เมื่อปี 2564  อีกทั้งยังร่วมมือกับองค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มพลังของ UN Women ในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการหญิงเหล่านี้เข้าไปทำการค้าในตลาดโลก”

 

นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานอำนวยการ มูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย กล่าวว่า ยังมีกิจกรรมประกวดแผนธุรกิจ IDEA to I DO เปลี่ยนแผนธุรกิจเป็นเงินทุน ที่สนับสนุนให้ผู้ประกอบการหญิงได้แสดงศักยภาพในการนำเสนอสินค้าและบริการ หรือ Business Presentation Competition

 

และทำความรู้จักกับระบบการจัดซื้อจัดจ้างที่คำนึงถึงความเสมอภาคทางเพศ เพื่อให้ผู้ประกอบการเหล่านี้เข้าถึงโอกาสทางการตลาดและห่วงโซ่อุทานในระดับประเทศและทั่วโลก ซึ่งถือเป็นการริเริ่มการสร้างผลลัพธ์จากข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่ได้เผยแพร่ในวันนี้ให้เกิดขึ้นจริง