ฟาวิพิราเวียร์ -ฟ้าทะลายโจร ทานร่วมกันได้หรือไม่ เช็คข้อมูลที่นี่

14 มี.ค. 2565 | 19:02 น.
อัปเดตล่าสุด :15 มี.ค. 2565 | 02:20 น.
50.6 k

ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ต้องรู้!เพราะเหตุใดถึงห้ามทานยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ร่วมกับยาฟ้าทะลายโจร ตรวจสอบเหตุผล - ข้อมูลทางการแพทย์ พร้อมทำความรู้จักยาฟาวิพิราเวียร์ ผลข้างเคียง แบบละเอียดที่นี่

สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ที่เพิ่มสูงขึ้นในประเทศไทย ส่งผลให้ความต้องการยารักษาโรคอย่าง ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir)มีเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยสีเขียว หรือ ผู้ป่วยที่มีอาการไม่มาก ส่วนมากจะได้รับยาฟ้าทะลายโจรเพื่อรักษาเบื้องต้น อาทิ บรรเทาอาการไข้ ไอ เจ็บคอ 

 

ขณะที่ผู้ป่วยที่มีอาการ  แพทย์จะมีการพิจารณาและจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ให้  ทั้งนี้มีข้อควรรู้เกี่ยวกับยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งถือว่าสำคัญมาก นั่นก็คือห้ามทานยาฟาวิพิราเวียร์ ร่วมกับยาฟ้าทะลายโจร เพราะมีโอกาสเป็นพิษต่อตับ 
 

ห้ามทานยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ร่วมกับยาฟ้าทะลายโจร

เรื่องดังกล่าวนี้ ทางคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ได้เปิดเผยว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ปัจจุบันถือเป็นยาหลักในการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด -19  เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการลดปริมาณไวรัสได้ดี และถูกจัดเป็นยาควบคุมพิเศษ ซึ่งการใช้ยาชนิดนี้ต้องได้รับการประเมินอาการและจ่ายยาจากแพทย์ หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น ยังไม่สามารถซื้อจากร้านขายยาทั่วไป 

 

ดังนั้นในเบื้องต้นหากตรวจพบเชื้อไวรัสโควิด ควรโทร. 1330 เพื่อลงทะเบียนเข้าสู่ระบบการรักษา ส่วนผู้ที่ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการก็ไม่ต้องใช้ยาฟาวิพิราเวียร์เช่นกัน เนื่องจากหายได้เอง ไม่ต้องได้รับผลข้างเคียงจากยา และไม่แนะนำให้ใช้ยาฟ้าทะลายโจรร่วมกับยาฟาวิพิราเวียร์ เนื่องจากเพิ่มโอกาสในการเป็นพิษต่อตับ

 

รู้จักยาฟาวิพิราเวียร์(Favipiravir) 

  • ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) เป็นยาต้านเชื้อไวรัสที่อยู่ในสูตรยารักษาผู้ป่วย COVID-19 ของไทย โดยใช้ควบคู่ไปกับยาอื่นและได้ผลดี ทั้งนี้ ยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นยาต้านไวรัสที่ใช้กับไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่มีฤทธิ์ต่อต้านอาร์เอ็นเอไวรัสหลายชนิด

 

ข้อดีของยาฟาวิพิราเวียร์

  • ยานี้ดูดซึมง่าย แบ่งหรือบดเม็ดยา และให้ทางท่อหลอดอาหารได้ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ไม่ต้องปรับขนาดยา 

สิ่งที่ต้องระวังสำหรับยาฟาวิพิราเวียร์ 

  • เนื่องจากไวรัสปรับตัวเร็วมีหลายสายพันธุ์ที่เริ่มดื้อยา  ถ้าใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ฟุ่มเฟือยโดยไม่มีข้อบ่งชี้ อาจะเกิดเชื้อดื้อยา  ทำให้ไม่มียารักษาผู้ป่วยโควิดที่มีอาการรุนแรง และจะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตมากขึ้น 

รู้จักยาฟาวิพิราเวียร์(Favipiravir)

ผู้ป่วยใดที่ควรได้รับยาฟาวิพิราเวียร์

  • แพทย์จะพิจารณาเริ่มยาฟาวิพิราเวียร์ในผู้ป่วยที่มีภาวะปอดอักเสบ ที่มีอาการรุนแรง โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง ได้แก่ อายุมากกว่า 60 ปี มีโรคประจำตัว ดังนี้ โรคปอดเรื้อรัง โรคตับ ไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวาน รวมถึงในผู้ป่วยที่มีภาวะอ้วนหรือภูมิคุ้มกันบกพร่อง

 

วิธีการรับประทานยาฟาวิพิราเวียร์

  • ยาฟาวิพิราเวียร์อยู่ในรูปแบบยาเม็ด ขนาดยาที่ใช้สำหรับผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 9 เม็ดทุก 12 ชั่วโมงในวันแรก และลดเหลือครั้งละ 4 เม็ด ทุก 12 ชั่วโมงในวันที่เหลือ 

 

  • ผู้ที่น้ำหนักมากกว่า 90 กิโลกรัม ขนาดยาจะสูงขึ้น โดยในวันแรกจะรับประทานครั้งละ 12 เม็ดทุก 12 ชั่วโมง และลดเหลือครั้งละ 5 เม็ด ทุก 12 ชั่วโมงในวันที่เหลือ

 

  • สำหรับผู้ป่วยเด็กจะต้องมีการคำนวณขนาดยาตามน้ำหนักตัว

 

ผู้ป่วยควรรับประทานยาตามวันและเวลาที่กำหนดอย่างเคร่งครัด ระยะเวลาในการรักษาอยู่ที่ 5-10 วัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและการตอบสนองต่อการรักษาของผู้ป่วยแต่ละราย

 

ผลข้างเคียงของยาฟาวิพิราเวียร์ที่พบ

  • อาการคลื่นไส้อาเจียน 
  • อาจทำให้ทารกในครรภ์มีความพิการ หากรับประทานยาในช่วงตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก 
  • มีผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดผิดปกติ เมื่อรับประทานร่วมกับยาบางชนิด 
  • มีผลต่อการทำงานของตับ ดังนั้นไม่ควรรับประทานร่วมกับยาฟ้าทะลายโจร หรือยาที่มีผลต่อตับ จึงควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ 

 
ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยไม่ควรซื้อยาฟาวิพิราเวียร์ นอกระบบ เช่น ทางออนไลน์ เพราะเป็นยาอันตราย เนื่องจากคุณภาพที่ได้ไม่เพียงพอต่อการรักษา และอาจทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ 

 

ภาวะตาสีฟ้าจากยาฟาวิพิราเวียร์

ผลข้างเคียงของยาฟาวิพิราเวียร์ที่สร้างความฮือฮาก่อนหน้านั้น คือการทานยาแล้วตากลายเป็นสีฟ้า ซึ่งในกรณีนี้ รศ. พญ.งามจิตต์ เกษตรสุวรรณ จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ระบุถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะตาสีฟ้า  รวมไปถึงคำแนะนำ โดยมีข้อมูลดังนี้

การเกิดภาวะตาสีฟ้าจากยาฟาวิพิราเวียร์

  • เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเม็ดสีเมลานิน ที่เป็นผลจากการที่ร่างกายดูดซึมยาฟาวิพิราเวียร์ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสีที่บริเวณจอตา ถุงหุ้มแก้วตา ในผู้ป่วยบางรายอาจมีการเปลี่ยนแปลงของสีเกิดขึ้นที่บริเวณเล็บและน้ำลายทำให้เกิดเป็นสีฟ้าขึ้น

 

ตาสีฟ้ากับการมองเห็นของผู้ป่วยโควิด-19

  • ภาวะตาสีฟ้าเป็นอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ แม้ว่าจากรายงานในปัจจุบันพบว่าไม่ส่งผลกระทบต่อการมองเห็นแต่ยังคงต้องเฝ้าระวังในระยะยาว เพราะอาจเกิดการมองเห็นที่ลดลงในอนาคต รวมทั้งต้องศึกษาข้อมูลในระยะยาวต่อไป

 

คำแนะนำจากแพทย์

  • ภาวะตาสีฟ้าจากยาฟาวิพิราเวียร์สามารถหายได้เองเมื่อหยุดใช้ยา หากผู้ป่วยรับประทานยาและมีผลกระทบต่อการมองเห็น ควรแจ้งแพทย์ที่ดูแลรักษาทันที

การเกิดภาวะตาสีฟ้าจากยาฟาวิพิราเวียร์

 

 

ที่มาข้อมูล - ภาพ