ทำความรู้จัก “ยาฟาวิพิราเวียร์” ยาต้านโควิดที่ไทยใช้

24 ก.พ. 2565 | 10:30 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ก.พ. 2565 | 16:51 น.
16.8 k

ชวนทำความรู้จัก “ยาฟาวิพิราเวียร์” ยาต้านโควิดที่ไทยใช้ หลังเกิดเหตุการณ์ผู้ติดเชื้อมีอาการข้างเคียง ปัสสาวะเป็นเลือด เเละก่อนหน้านั้นมีกรณีตาเปลี่ยนเป็นสีม่วง

"ยาฟาวิพิราเวียร์"  หนึ่งในยาต้านโควิดที่ไทยใช้ เกิดประเด็นขึ้นอีกครั้งหลังเกิดเหตุการณ์สุดงง หญิงติดโควิด เล่าว่า กินฟาวิพิราเวียร์แล้ว "ปัสสาวะเป็นเลือด" ด้านแพทย์ยังไม่พบการศึกษา ขณะที่ก่อนหน้านี้ยังมีกรณีหญิงสาวโพสต์คลิปรีวิวการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งได้กิน "ยาฟาวิพิราเวียร์" จากนั้นปรากฏว่า "ตาเปลี่ยนสีเป็นสีม่วง" หลังกินยาต้านโควิดไปได้ 2 วัน

ทำความรู้จัก “ยาฟาวิพิราเวียร์” ยาต้านโควิดที่ไทยใช้

ยาฟาวิพิราเวียร์ (ชื่ออื่นคือ T-705 ส่วนชื่อการค้าคือ Avigan และ Favilavir) มีลักษณะโครงสร้างเป็นอนุพันธ์ไพราซีนคาร์บอกซาไมด์ (pyrazinecarboxamide derivative) ค้นพบโดย บริษัทฟูจิฟิล์ม โตยามะ เคมิคอล (Toyama Chemical Co., Ltd) ในประเทศญี่ปุ่น และได้รับอนุมัติให้ใช้ในประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2557 เพื่อใช้รักษาโรคไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ใช้ยาอื่นไม่ได้ผล

ทำความรู้จัก “ยาฟาวิพิราเวียร์” ยาต้านโควิดที่ไทยใช้

ช่วงที่มีการระบาดอย่างหนักของไวรัสอีโบลา (Ebola virus) ในแถบอาฟริกาตะวันตก ในอดีตมีผู้ใช้ยานี้ไม่ว่าจะเป็นอาสาสมัครสุขภาพดี ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่และผู้ป่วยโรคอีโบลา มีจำนวนไม่น้อยกว่า 2,000 คน พบว่า ยามีความปลอดภัย แต่มีข้อกังวลเกี่ยวกับการใช้ยานี้เกิดขึ้นเช่นเดียวกับยาต้านโคโรนาไวรัสชนิดอื่น คือ ปัญหาเรื่องไวรัสดื้อยา

 

การทำงานของ ยาฟาวิพิราเวียร์

  • ฟาวิพิราเวียร์ จะมีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสได้ก็ต่อเมื่อรับประทานยาเข้าสู่ร่างกายและยาถูกเปลี่ยนแปลงภายในเซลล์ได้เป็น favipiravir ribosyl triphosphate ที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์ RNA-dependent RNA polymerase (หรือ RNA replicase) ซึ่งเอนไซม์ดังกล่าวมีความสำคัญในกระบวนการถ่ายแบบอาร์เอ็นเอ (RNA replication)
  • สารออกฤทธิ์ดังกล่าวยังทำให้เกิดการสร้างสารพันธุกรรมอาร์เอนเอของไวรัสที่ผิดปกติและทำให้ไวรัสตาย ยานี้ไม่ยับยั้งการสร้างอาร์เอ็นเอและดีเอ็นเอในเซลล์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จึงไม่เป็นอันตรายต่อเซลล์ของคนและสัตว์
  • ฟาวิพิราเวียร์ ถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารได้ดีเกือบสมบูรณ์ เกิดระดับยาสูงสุดภายใน 1 ชั่วโมง (ช่วงตั้งแต่ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง) ยาถูกเปลี่ยนสภาพที่ตับโดย aldehyde oxidase เป็นส่วนใหญ่ และโดย xanthine oxidase เพียงเล็กน้อย เกิดเป็นสารที่ไม่มีฤทธิ์และถูกขับออกทางปัสสาวะ

 

 

ยาฟาวิพิราเวียร์กับการรักษาโรคโควิด 19

  • การใช้ยาสำหรับผู้ใหญ่: ในวันแรกรับประทานยาฟาวิพิราเวียร์ 1800 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง (รับประทานครั้งละ 9 เม็ด) และในวันถัดไปรับประทานยา 800 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง (รับประทานครั้งละ 4 เม็ด)
  • การใช้ยาสำหรับผู้ใหญ่ที่น้ำหนักตัวมากกว่า 90 กก.: ในวันแรกรับประทานยาฟาวิพิราเวียร์ 2400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง (รับประทานครั้งละ 12 เม็ด) และในวันถัดไปรับประทานยา 1000 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง (รับประทานครั้งละ 5 เม็ด)
  • การใช้ยาสำหรับเด็ก: ในวันแรกรับประทานยาฟาวิพิราเวียร์ 60 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม แบ่งรับประทาน 2 ครั้ง และในวันถัดไป รับประทานยา 20 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน แบ่งรับประทาน 2 ครั้ง

 

ข้อควรระมัดระวังในการใช้ยา

  • ผู้ที่สามารถใช้ยา Favipiravir ได้
  • ผู้ป่วยอายุ 60 ปีขึ้นไป
  • ผู้ที่มีอาการของโรคติดเชื้อไวรัสระดับปานกลางไปจนถึงรุนแรง
  • ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคปอดบวม โรคปอดเรื้องรัง โรคตับ โรคไต โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน
  • ผู้ป่วยที่มีภาวะอ้วน
  • ผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง

 

ผู้ที่ไม่ควรใช้ยา Favipiravir

  • ผู้ป่วยที่กำลังตั้งครรภ์ในช่วง 3 เดือนแรก หรือผู้ป่วยที่สงสัยว่าจะตั้งครรภ์ เพราะยาอาจส่งผลให้ทารกพิการได้ แพทย์อาจพิจารณาให้ใช้ยาตัวอื่นที่ปลอดภัยกว่า อย่างเช่น Remdesivir
  • ผู้ป่วยในช่วงให้นมบุตร เพราะตัวยาอาจผ่านไปสู่เด็กได้ทางนมแต่ปริมาณไม่มากนัก และยังไม่มีข้อมูลที่มากพอเพื่อยืนยันผลข้างเคียงในทารก จึงต้องแจ้งให้แพทย์ทราบหากอยู่ในช่วงให้นมบุตร
  • ผู้ที่มีอาการแพ้ยาฟาวิพิราเวียร์หรือผู้ที่มีภาวะภูมิไวเกิน (Hypersensitivity)
  • ผู้ที่ยังไม่มีอาการหรือผู้ที่ใช้ยาเพื่อป้องกันโรคเท่านั้น

 

ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นหลังจากรับประทานฟาวิพิราเวียร์

  • อาจมีผลต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวชนิดนิวโตรฟิลลดลง และอาจมีอาการท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียนเกิดขึ้น นอกจากนี้ Favipiravir ทำให้กรดยูริกเพิ่มขึ้นตับจึงทำงานหนักขึ้น
  • การใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ในสตรีมีครรภ์หรือคาดว่าตั้งครรภ์ อาจจะต้องระวังเป็นพิเศษเนื่องจากอาจส่งผลให้เกิดภาวะความพิการแต่กำเนิดของทารก (Teratogenic effect) ได้