โควิด19 สู่โรคประจำถิ่นอยู่ในขั้นตอนไหน คกก.โรคติดต่อฯเห็นชอบหรือยัง เช็ก

09 มี.ค. 2565 | 15:05 น.
อัปเดตล่าสุด :09 มี.ค. 2565 | 22:05 น.

โควิด19 สู่โรคประจำถิ่นอยู่ในขั้นตอนไหน คกก.โรคติดต่อฯเห็นชอบหรือยัง เช็กเลย เร่งรัดการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด/หัดเยอรมันในเด็กต่างด้าว เด็กที่ยังไม่ได้รับวัคซีน และผู้ใหญ่กลุ่มเสี่ยง เพื่อยกระดับภูมิคุ้มกัน

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2565 เห็นชอบ 

 

1.หลักการการจัดการตามแผนและมาตรการรองรับการเปลี่ยนผ่านการระบาดของโรคโควิด-19 (Covid-19) สู่โรคประจำถิ่น (Endemic Approach) บนพื้นฐานสุขภาพที่ดีของคนไทยทุกคน และการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการบริหารจัดการด้านต่างๆ ได้แก่ การเฝ้าระวังและมาตรการสำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศ การเฝ้าระวังในประเทศการสอบสวนโรค 

 

การบริหารจัดการวัคซีน มาตรการป้องกันและควบคุมโรค มาตรการด้านการแพทย์ รวมถึงมาตรการทางกฎหมายและสังคม เพื่อให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตเป็นปกติภายใต้หลัก Universal Prevention เศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าได้ 

2.เร่งรัดการให้วัคซีนป้องกันโรคหัดและหัดเยอรมัน ภายใต้โครงการกำจัดโรคหัดและหัดเยอรมันตามพันธะสัญญานานาชาติ ตามที่องค์การอนามัยโลกได้ทบทวนการกำจัดโรคหัดและหัดเยอรมันของประเทศไทย เสนอแนะให้เร่งรัดฉีดวัคซีนในเด็กต่างด้าว เด็กที่ยังไม่ได้รับวัคซีน

 

รวมถึงผู้ใหญ่กลุ่มเสี่ยง เช่น แรงงานต่างด้าว พื้นที่ชายแดน ผู้ลี้ภัย เพื่อยกระดับภูมิคุ้มกัน โดยมอบหมายให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานคร เป็นผู้บริหารจัดการวัคซีน 

 

เห็นชอบมาตรการรองรับการเปลี่ยนผ่านโรคโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น

 

3.แนวทางการรักษาผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ ซี ด้วยวิธี Test and Treat เนื่องจากประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบ ซี ประมาณ 400,000 ราย ในจำนวนนี้ เกิดภาวะตับแข็งประมาณ 80,000 ราย

 

และมะเร็งตับประมาณ 3,200 รายต่อปี กระทรวงสาธารณสุขจึงเพิ่มยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบ ซี ในบัญชียาหลักแห่งชาติ บัญชี (จ2) เพื่อเป็นสิทธิประโยชน์สำหรับคนไทย

และใช้แนวทางการวินิจฉัยด้วยวิธี Test and Treat เพื่อให้ผู้ติดเชื้อได้รับการตรวจวินิจฉัยยืนยันและได้รับยารักษาเร็วที่สุด โดยให้โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไปดูแลผู้ป่วย และเปิดโอกาสให้แพทย์ทั่วไปที่ผ่านการฝึกอบรม สามารถจ่ายยาและติดตามการรักษาผู้ป่วยได้ โดยมีอายุรแพทย์ด้านระบบทางเดินอาหารหรืออายุรแพทย์ที่ปฏิบัติงานด้านระบบทางเดินอาหารเป็นที่ปรึกษา

 

นายอนุทิน กล่าวต่อไปอีกว่า สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ในระดับโลกพบสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) เป็นสายพันธุ์หลัก แต่สถานการณ์ในประเทศไทยขณะนี้ยังพบผู้ติดเชื้อรายวันในระดับสูง แม้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย

 

แต่จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบ ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ ผู้ป่วยเสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนของผู้ป่วยใหม่ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีโรคประจำตัว พบว่ามีอัตราป่วยตายสูงจากสาเหตุอื่นร่วมกับการติดเชื้อโควิด 

 

สำหรับผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนหรือผู้สูงอายุที่ครบกำหนดรับวัคซีนเข็มกระตุ้น กระทรวงสาธารณสุขได้กำชับทุกหน่วยงานเร่งค้นหา ติดตาม และจัดฉีดวัคซีนเชิงรุกให้มากที่สุด เพื่อป้องกันความเสี่ยงและลดอาการรุนแรงหากติดเชื้อโควิด 19

 

โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะมีการเดินทางข้ามจังหวัด ลูกหลานกลับไปเยี่ยม และมีการจัดกิจกรรมต่างๆ จำนวนมาก ซึ่งอาจนำเชื้อไปแพร่ได้ 

 

อย่างไรก็ดี ภาพรวมประเทศไทยฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วกว่า 125 ล้านโดส ครอบคลุมเข็มแรก 78% เข็มที่สอง 72% และเข็มที่สามกว่า 30% เฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ครอบคลุมเข็มแรก 83% เข็มที่สอง 79% และเข็มที่สามกว่า 31%

 

นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบหลักเกณฑ์การปรับค่าใช้จ่ายผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตโควิด-19 (UCEP) โดยกลุ่มสีเหลืองและแดงยังสามารถเข้ารักษาพยาบาลได้ทุกแห่งจนหายโดยไม่ต้องย้ายโรงพยาบาล และไม่กำหนดระยะเวลาจ่ายค่าชดเชยเฉพาะ 72 ชั่วโมงแรก 

 

ในขณะที่กลุ่มสีเขียวสามารถเข้ารับการรักษาฟรีในโรงพยาบาลตามสิทธิ เน้นการดูแลแบบ OPD ผู้ป่วยที่มาตรวจ AKT ที่โรงพยาบาลให้รับยาที่จุดตรวจ ATK ก่อนกลับบ้าน ผู้ป่วยที่ตรวจด้วยตนเองสามารถมารับยาที่โรงพยาบาลหรือการแจ้งโรงพยาบาลให้ส่งยาไปที่บ้าน และเยี่ยมติดตามอาการหลังครบ 48 ชั่วโมง

 

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า จากการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติครั้งที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การพิจารณาให้บริหารจัดการโควิด-19 แบบโรคประจำถิ่น (Endemic approach) ซึ่งเวลานี้มีหลายประเทศที่เตรียมการเปลี่ยนผ่านโควิด-19 ไปสู่โรคประจำถิ่น เช่น ประเทศในทวีปยุโรป 

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทยมีการเตรียมมาตรการในการบริหารจัดการให้สอดคล้องกับระดับสถานการณ์ โดยคำนึงถึงทุกมิติ อาทิ การเดินทางเข้าประเทศไทยตามโปรแกรม Test &Go ที่มีเงื่อนไขด้านสุขภาพพร้อมกับการอำนวยความสะดวกให้กับนักเดินทางต่างชาติและคนไทย ช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศ