"เจอ แจก จบ" แผนปลดโควิดเป็น “โรคประจำถิ่น” ? อาการแบบไหน ใช้ยารักษาสูตรอะไร

01 มี.ค. 2565 | 00:05 น.
อัปเดตล่าสุด :01 มี.ค. 2565 | 00:59 น.
3.6 k

หลายคนยังสงสัย "เจอ แจก จบ" แผนปลดโควิดเป็น “โรคประจำถิ่น” ของ สธ. ผู้ป่วยโควิดต้องอาการแบบไหน เเละใช้ยารักษาสูตรอะไรบ้างทำการรักษา ที่นี่มีคำตอบ

เกาะติดแนวทางรักษาโควิด “เจอ แจก จบ” ของกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องการให้มีการจัดการโรคโควิด 19 จากโรคระบาดใหญ่ (Pandemic) เป็น "โรคประจำถิ่น" (Endemic) คือ โรคลดความรุนแรงลง มีระบบการรักษาที่มีประสิทธิภาพ และประชาชนมีภูมิต้านทานที่เพียงพอ โรคไม่ได้มีภาวะอันตราย

"เจอ แจก จบ" แผนปลดโควิดเป็น “โรคประจำถิ่น” ?

กระทรวงสาธารณสุข จะจัดระบบบริการเพิ่มขึ้นแบบผู้ป่วยนอก คือ ตรวจผู้ที่สงสัยหรือมีความเสี่ยงว่าจะติดเชื้อด้วยชุดตรวจ ATK หากผลเป็นบวกจะให้การรักษาด้วยยา

"เจอ แจก จบ"  เริ่มเมื่อไหร่

ระบบนี้เป็นการเชื่อมโยงเข้าไปสู่โรคที่สามารถดูแลได้ด้วยตนเองและมารับบริการผู้ป่วยนอกได้ โดยจะเริ่มวันที่ 1 มี.ค.นี้ ซึ่งบางจังหวัดมีการนำร่องดำเนินการไปแล้ว รวมถึง รพ.ศิริราช โดยผู้ติดเชื้อไม่ต้องนอน รพ. แต่ได้รับการดูแลให้การรักษาที่บ้าน ซึ่งอาจไม่ต้องกักตัวตลอดเวลาก็ได้ แต่จะต้องดูแลตนเอง สังเกตอาการ ไม่พบคนหมู่มาก พยายามอยู่ในห้องอยู่บ้าน ลดการเดินทาง เพื่อป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อ ซึ่งทั่วไปเมื่อทราบว่าติดเชื้อก็จะดูแลตัวเองอย่างดี”

 

ติดโควิดต้องมีอาการแบบไหน

  • ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ ให้รักษาแบบผู้ป่วยนอก แยกกักตัวที่บ้าน และดูแลรักษาตามดุลย์พินิจของแพทย์ ซึ่งจะไม่ให้ยาต้านไวรัส เช่น ยาฟาวิพิราเวียร์ เพราะส่วนมากหายเองได้ อาจพิจารณาให้ยาฟ้าทะลายโจรตามดุลพินิจของแพทย์ จะไม่ให้ยาฟ้าทะลายโจรร่วมกับยาต้านไวรัสเนื่องจากอาจมีผลข้างเคียงจากยา
  • ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง อาจพิจารณาให้ยาฟาวิพิราเวียร์ โดยเริ่มให้ยาเร็วที่สุด แต่หากพบเชื้อเมื่อผู้ป่วยมีอาการมาแล้วเกิน 5 วัน และผู้ป่วยไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย อาจไม่จำเป็นต้องให้ยาต้านไวรัส เพราะผู้ป่วยจะหายได้เองโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน
  • ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงแต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง หรือมีโรคร่วมสำคัญ หรือผู้ป่วยที่มีปอดอักเสบเล็กน้อยยังไม่ต้องให้ออกซิเจน แนะนำให้ยาต้านไวรัสเพียงหนึ่งชนิด โดยพิจารณาจากโรคประจำตัวข้อห้ามการใช้ยาปฏิกิริยาต่อกันของยาต้านไวรัสกับยาเดิมของผู้ป่วยการบริหารเตียงความสะดวกของการให้ยาและปริมาณยาสำรองที่มี

 

ใช้ยารักษา 3 สูตร 

  • ยารักษาไวรัสโดยตรง คือ ฟาวิพิราเวียร์
  • ฟ้าทะลายโจร
  •  ยารักษาตามอาการ เช่น วิตามินซี ยาลดไข้ ลดน้ำมูก แก้ไอ
  • การให้ยาขึ้นดุลยพินิจแพทย์พิจารณาว่าจะให้ยาแบบใด ต้องพูดคุยทำความเข้าใจกับคนไข้