ดาวโจนส์ปิดบวก 834 จุด พุ่งขึ้นกว่า 2% คลายวิตกวิกฤตยูเครน

26 ก.พ. 2565 | 07:02 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ก.พ. 2565 | 14:09 น.

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวก 834.92 จุด พุ่งขึ้นกว่า 2% ในวันศุกร์ (25 ก.พ.) นักลงทุนขานรับรายงานข่าวที่ว่ารัสเซียส่งสัญญาณพร้อมเจรจากับยูเครน

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,058.75 จุด พุ่งขึ้น 834.92 จุด หรือ +2.51%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,384.65 จุด พุ่งขึ้น 95.95 จุด หรือ +2.24% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,694.62 จุด พุ่งขึ้น 221.04 จุด หรือ +1.64%

 

ในรอบสัปดาห์นี้ ดาวโจนส์ลดลง 0.1%, S&P500 บวก 0.8% และ Nasdaq เพิ่มขึ้น 1.1%
         

ตลาดขานรับรายงานข่าวที่ว่า กระทรวงการต่างประเทศของจีนได้เปิดเผยว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินแห่งรัสเซียได้บอกกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนทางโทรศัพท์ว่า รัสเซียเต็มใจที่จะจัดการเจรจาระดับสูงกับยูเครน

 

นายดมิทรี เพสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน กล่าวว่า รัสเซียพร้อมส่งตัวแทนไปยังกรุงมินสก์ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของเบลารุส เพื่อเจรจากับทางการยูเครน
 

ราคาน้ำมันร่วงลงต่ำกว่า 100 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งช่วยคลายความวิตกเกี่ยวกับราคาพลังงานที่สูงขึ้น โดยหุ้นทั้ง 11 กลุ่มของดัชนี S&P500 ปิดบวก นำโดยหุ้นกลุ่มวัสดุและการเงินที่พุ่งขึ้น 3.58% และ 3.16% ตามลำดับ

 

นักวิเคราะห์บางรายระบุว่า แรงเทขายหุ้นอาจสิ้นสุดลงแล้ว โดยดัชนี S&P500 เข้าสู่การปรับฐานในต้นสัปดาห์นี้หลังจากปิดร่วงลงมากกว่า 10% จากระดับปิดสูงเป็นประวัติการณ์เมื่อวันที่ 3 ม.ค.

 

หุ้นกลุ่มเฮลท์แคร์หนุนดัชนี S&P500 ขึ้นมากที่สุด
         
     
ปัจจัยที่ตลาดจะจับตาต่อไป ได้แก่ การที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะกล่าวแถลงการณ์รอบครึ่งปีว่าด้วยนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจสหรัฐต่อสภาคองเกรสในวันที่ 2-3 มี.ค. โดยอาจเป็นการแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการเงินต่อสาธารณะเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่เฟดจะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 15-16 มี.ค.
          

นายพาวเวลจะกล่าวถ้อยแถลงต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐในวันที่ 2 มี.ค. และต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาในวันที่ 3 มี.ค. โดยการแถลงทั้งสองวันจะเริ่มขึ้นในเวลา 10.00 น.ตามเวลาสหรัฐ หรือ 22.00 น.ตามเวลาไทย
          

ด้านตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันศุกร์ (25 ก.พ.) กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้น 1.6% ในเดือนม.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 1.2% ในเดือนธ.ค. ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนในเดือนม.ค.ได้รับแรงหนุนจากคำสั่งซื้อเครื่องบิน
          

ส่วนยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐาน ซึ่งเป็นคำสั่งซื้อสินค้าทุนที่ไม่รวมเครื่องบิน และสินค้าด้านอาวุธ โดยเป็นสิ่งบ่งชี้แผนการใช้จ่ายของภาคธุรกิจ พุ่งขึ้น 0.9% ในเดือนม.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนธ.ค.
          

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เปิดเผย ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ พุ่งขึ้น 5.2% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.2526 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.1%
          

ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จากกระทรวงแรงงานสหรัฐ
          

ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกน ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 62.8 ในเดือนก.พ. จากระดับ 67.2 ในเดือนม.ค. แต่สูงกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ระดับ 61.7
          

นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นอยู่ที่ระดับ 61.7 ในเดือนก.พ.
          

ดัชนีความเชื่อมั่นได้รับผลกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)
          

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐเป็นการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภค 500 รายต่อภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งได้แก่ สถานะการเงินส่วนบุคคล, ภาวะเงินเฟ้อ, การว่างงาน, อัตราดอกเบี้ย และนโยบายรัฐบาล