โควิดวันนี้ในไทยควรลด RT-PCR เน้นรักษาแบบไหน เพราะอะไร เช็กเลย

26 ก.พ. 2565 | 02:11 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ก.พ. 2565 | 04:48 น.
3.0 k

โควิดวันนี้ในไทยควรลด RT-PCR เน้นรักษาแบบไหน เพราะอะไร เช็กเลย หมอศิริราชแนะไม่ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ผู้ป่วยที่ฉีดวัคซีน

โควิดวันนี้ในประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น  โดยมีผู้เชื้อเกินหลักหมื่นมาแล้วกว่า 20 วันต่อเนื่อง

 

ล่าสุด รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล (หมอนิธิพัฒน์) หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (นิธิพัฒน์ เจียรกุล) โดยมีข้อความระบุว่า   

 

ยังไปกันต่อในอัตราที่ช้าลง คล้ายกำลังจะถึงจุดสูงสุด แต่ยอดผู้เสียชีวิตก็ฝ่าแนวต้าน 40 ขึ้นไปได้แล้ว 

 

หากย้อนดูบทเรียนการดูแลรักษาผู้ป่วยและการคลี่คลายของโรคในช่วงที่ผ่านมา กระบวนทัศน์ในการรับมือควรมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม

 

ทั้งการวินิจฉัยที่ควรลดการทำ RT-PCR การรักษาที่เน้นการดูแลตัวเองนอกโรงพยาบาลโดยไม่ต้องใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ถ้าฉีดวัคซีนครบ 

 

เก็บยาและเก็บเตียงในโรงพยาบาลไว้สำหรับเด็ก คนท้อง ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ไม่ใช่โรคระยะสุดท้าย 

 

และปรับเปลี่ยนกระบวนการทั้งหมดที่เกี่ยวข้องให้เข้ากลับเข้าสู่ระบบสุขภาพพื้นฐานที่เรามีดีอยู่เดิมแล้ว
 

การติดตามผลของโควิดในระยะยาวเป็นที่สนใจจับตาของแวดวงวิชาการทางการแพทย์ทั่วโลก

 

เนื่องจากเชื้อซาร์โควี-2 ที่ก่อโรคโควิด-19 นี้ เป็นเชื้อโรคใหม่ที่มนุษย์ไม่เคยรู้จักมาก่อน

 

จึงส่งผลให้มีการติดเชื้อระบาดกว้างขวาง และมีความรุนแรงของโรคจากปอดอักเสบ จนทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตมนุษยชาติครั้งยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ 

 

แนะลดการทำ RT-PCR

 

ธรรมชาติของเชื้อไวรัสก่อโรคในระบบการหายใจ ที่ทำให้เกิดอาการไข้หวัด หลอดลมอักเสบ หรือ ปอดอักเสบ เช่น เชื้อหวัด เชื้อไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น

 

หลังจากคนเราได้รับเข้ามาแล้วเบรคเขาไม่อยู่จนเกิดการติดเชื้อขึ้น เมื่อหายดีแล้วในบางคนร่างกายยังคงมีอาการหลงเหลือ ที่เรียกว่า Postviral Infection Syndrome 

 

โดยออกมาในรูปการอ่อนล้า เหนื่อยง่าย ไอหรือมีเสมหะ (โดยเฉพาะในคนที่โรคภูมิแพ้ของจมูกและหลอดลมอยู่ก่อน) แต่ส่วนใหญ่มักไม่รุนแรงและหายไปได้ในเวลาหนึ่งเดือน
 

ต่างจากคนอื่นเขาที่เป็นเชื้อซิงๆ ภูมิคุ้มกันมนุษย์ไม่รู้จักเลย เมื่อหายแล้วผลหลงเหลือจึงมีความชุกสูงและอยู่นาน 

 

ยิ่งถ้าลากยาวไปสามเดือนแล้วไม่ยอมหาย ก็จะเรียกกลุ่มอาการนี้ว่า “ลองโควิด” ซึ่งจะส่งผลกระทบทั้งทางร่างกายและจิตใจของบุคคลนั้น 

 

รวมถึงผลต่อคนข้างเคียงถ้าผู้นั้นเป็นบุพการีที่เราเคารพ ลูกหลานพี่น้องที่เรารัก หรือบุคคลอื่นที่เราห่วงหา 

 

ดังนั้นหากหลีกเลี่ยงได้อยู่ให้ห่างไกลโรคด้วยการฉีดวัคซีนให้ครบ ใช้ชีวิตอย่างมีสติโดยไม่ประมาท ด้วยการปฎิบัติตามมาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคล

 

ข้อมูลลองโควิดที่มีอยู่รวบรวมมาตั้งแต่มีการเริ่มระบาดจนมาถึงช่วงต้นของเดลตา เชื่อกันว่าโอมิครอน (Omicron) มาในยุคที่คนติดเชื้อโดยธรรมชาติกันพอสมควรแล้ว

 

แถมอีกส่วนหนึ่งก็ได้รับวัคซีนจนเกิดภูมิเพียงพอระดับหนึ่ง ดังนั้นการติดเชื้อโอไมครอนจึงไม่รุนแรง 

 

ระยะเวลาการแพร่เชื้อสั้นลง และหวังแบบโลกสวยว่าความชุกและความนานของลองโควิด น่าจะน้อยลงกว่าเดิม แต่ก็คงยังไม่น่านิ่งนอนใจ

 

ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการนานาชาติ เพื่อศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพจากโควิดทั้งในระยะสั้นและระยะยาว (COH-FIT) 

 

โดยการสำรวจด้วยแบบสอบถามออนไลน์ใช้ 30 ภาษา ครอบคลุมโรงพยาบาลกว่า 230 แห่งใน 49 ประเทศ เสียดายว่าไม่มีประเทศไทยร่วมด้วย 

 

เริ่มตั้งแต่เมษายน 2563 ถึง กรกฎาคม 2564 มีผู้ตอบแบบสอบถามทั้งเด็กและผู้ใหญ่กว่า 151,000 คนจาก 155 ประเทศ/เขตปกครองครอบคลุมทั้งหกทวีป 

 

เมื่อทำการวิเคราะห์ข้อมูลเรียบร้อยแล้ว คงจะได้รู้กันว่าโควิดเขาแรงจริงหรือไม่ แต่อย่าลืมว่าผลหลงเหลือต่อสุขภาพทั้งเฉพาะหน้าและภายหลังนี้ เกิดขึ้นก่อนโอมิครอนที่คาดว่าจะเป็นตัวปิดเกม เรายังต้องรวบรวมข้อมูลผู้เล่นคนสำคัญสุดท้ายนี้กันต่อไปด้วย