เช็ควิธีดูแล-ป้องกันเด็กปฐมวัย ไม่เกิน 5 ปี ติดเชื้อโควิด 19

24 ก.พ. 2565 | 13:00 น.
อัปเดตล่าสุด :01 มี.ค. 2565 | 23:44 น.
2.8 k

เด็กปฐมวัยติดโควิด19 สะสมตั้งแต่เม.ย.64 ราว 1 แสนราย เสียชีวิต 29 คน กรมอนามัย ชี้เด็กอายุน้อยกว่า 2 ขวบ เช็ควิธีดูแล-ป้องกันเด็กปฐมวัย ไม่เกิน 5 ปี ติดโควิด 19

รายงานสถานการณ์การติดเชื้อโควิด 19 รายใหม่ในกลุ่มเด็กอายุ 0-5 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2564 - 17 ก.พ. 2565 มีเด็กปฐมวัยติดเชื้อสะสม 107,059 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 29 ราย  รายกลุ่มย่อยทุก 1 ปี มีจำนวนการติดเชื้ออยู่ในระดับมากกว่า 20,000ราย แต่จะพบสูงกว่าในเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปี

นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย ระบุว่า  กลุ่มเด็กเล็กน้อยกว่า 2 ปี โดยเฉพาะ 0-1 ปี เป็นกลุ่มที่ติดเชื้อง่ายกว่ากลุ่มอื่น ๆ เนื่องจากเด็กไม่สามารถปกป้องตัวเองได้อีกทั้งยังไม่มีวัคซีนสำหรับเด็กเล็กมาก ๆ ด้วย  

 

สาเหตุของการติดเชื้อโควิด-19 ในเด็กปฐมวัย มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อในครอบครัว และด้วยธรรมชาติของเด็กวัยนี้ที่ไม่สามารถป้องกันโรคด้วยตัวเองได้ดีพอ ส่งผลให้เป็นสาเหตุของการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น

แนวทางปฏิบัติเมื่อเด็กเล็กติดเชื้อโควิด

  • เด็กเป็นผู้ติดเชื้อ และผู้ปกครองเป็นผู้ติดเชื้อให้เข้ารับการรักษา โดยเน้นให้จัดอยู่เป็นกลุ่มครอบครัว
  • เด็กเป็นผู้ติดเชื้อ แต่ผู้ปกครองไม่เป็นผู้ติดเชื้อให้เด็กเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือ Hospitel
  • ผู้ปกครองควรได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ มีอายุไม่เกิน 60 ปี และไม่มีโรคประจำตัว สามารถเข้าดูแลเด็กในสถานพยาบาลได้
  • สำหรับโรงพยาบาลสนาม ควรจัดพื้นที่ให้เด็กและผู้ปกครองเป็นการเฉพาะ โดยแยกจากผู้ติดเชื้ออื่น ๆ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะสัมผัสเชื้อโรคได้
  • กรณีเด็กไม่เป็นผู้ติดเชื้อ แต่ผู้ปกครองเป็นผู้ติดเชื้อ ให้ญาติเป็นผู้ดูแล
  • หากไม่มีญาติหรือผู้ดูแลเด็ก ให้ส่งเด็กไปยังบ้านพักเด็ก ในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นผู้ดูแล หรือพิจารณาใช้พื้นที่สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยในชุมชนเป็นที่ดูแลเด็ก

 

อาการของเด็กติดเชื้อโควิด-19 

ระดับที่สามารถเฝ้าสังเกตที่บ้านได้

  •  มีไข้ต่ำ
  • มีน้ำมูก
  • ไอเล็กน้อย
  • ไม่มีอาการหอบเหนื่อย
  • ถ่ายเหลว
  • ทานอาหารหรือนมได้ปกติ
  • ไม่ซึม

 

ระดับรที่ผู้ปกครองควรติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อนำเด็กส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว

  • มีไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส
  • หายใจหอบเร็วกว่าปกติ
  • ปากเขียว
  • ระดับออกซิเจนปลายนิ้วน้อยกว่า 94%
  • ซึมลง
  • ไม่ดูดนม และไม่ทานอาหาร

 

 

การดูแลเด็กติดเชื้อโควิด19 เมื่อแยกกักตัวที่บ้าน 

  • พูดคุยในประเด็นที่เด็กอาจมีคำถามหรือความหวาดกลัว เพื่อคลายความกังวล
  • หากิจกรรมที่เด็กชอบและสามารถทำได้ด้วยตัวเอง
  • สอนให้เด็กไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
  • เตรียมอาหารที่ปรุงสุกใหม่ เน้นผัก ผลไม้ 5 สี 
  • ฝึกสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่าง