“อนุทิน” ยันไม่ล็อกดาวน์ ชี้เตือนโควิดระดับ 4 มานานแล้ว

22 ก.พ. 2565 | 11:20 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ก.พ. 2565 | 18:31 น.
3.6 k

รองนายกฯ “อนุทิน” ยืนยันตอนนี้ยังไม่มีการล็อกดาวน์ รับการเตือนภัยโควิด ระดับ 4 มีมานานแล้ว เป็นแนวทางปฏิบัติป้องกันเชื้อแพร่ระบาด พร้อมรับไม่มีคนนอนรอช่วยกลางถนน หลังเช็คโรงพยาบาลยังรับได้

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงการยกระดับเตือนภัยโควิด-19 เป็นระดับ 4 ว่า กระทรวงสาธารณสุข ไม่ได้ยกระดับเตือนภัยเป็นระดับ 4 เพราะการเตือนภัยในระดับ 4 มีมานานแล้ว

 

โดยก่อนหน้านี้ได้ประกาศจากระดับ 5 ลงมาเหลือระดับ 4 ถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติตน โดยให้มีการเว้นระยะห่าง ทำงานที่บ้าน และลดการสังสรรค์ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค

 

ทั้งนี้ยังย้ำว่า จะไม่มีการ “ล็อกดาวน์” แน่นอน โดยขณะนี้ขอให้ใจเย็น ๆ เพราะหลายประเทศมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นกว่าประเทศไทยแต่ก็ยังผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ

 

ดังนั้นในส่วนของประเทศไทยเองก็คงต้องหาทางที่ดีที่สุด และต้องเดินทางสายกลาง ซึ่งปัจจุบันโควิดสายพันธุ์โอมิครอน แม้จะติง่าย แต่ก็หายเร็ว และความรุนแรงของโรคก็ไม่ได้รุนแรงเหมือนสายพันธุ์อื่น

ส่วนการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ชุดใหญ่ วันที่ 23 ก.พ. 2565 นี้ จะมีการหารือถึงมาตรการเดินทางเข้าประเทศ จากเดิมที่ให้ผู้เดินทางเข้ามาต้องให้ตรวจ RT-PCR ในวันที่ 5 ซึ่งจะต้องพิจารณาว่ามีความจำเป็นหรือไม่ล่าสุดกำลังหารือ

 

เบื้องต้นมีแนวโน้มลดการตรวจ RT-PCR ในวันที่ 5 เพราะดูแล้วไม่ได้เกิดประโยชน์ โดยการควบคุมโรคยังดีอยู่ เพราะการติดเชื้อส่วนใหญ่อยู่ในประเทศ ไม่ได้มาจากต่างประเทศ

 

นายอนุทิน ยังกล่าวถึงกรณีที่มีภาพข่าวผู้ติดเชื้อโควิด-19 นอนรอการช่วยเหลือบริเวณริมถนน ว่า ไม่มีเหตุการณ์เช่นนั้น แต่อย่างไรก็ตามก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะเมื่อเห็นข่าวก็ได้ประสานกับปลัดกระทรวงสาธารณสุขเพื่อตรวจสอบข้อมูลแล้ว และได้รับการยืนยันว่าจำนวนเตียงและโรงพยาบาลทั่วประเทศมีความพร้อมในการรองรับผู้ป่วย 

 

ส่วนกรณีการปรับการรักษาโควิดฟรี ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 1 มี.ค.นี้ ยืนยันว่า ไม่ได้ยกเลิกการรักษาผู้ป่วยโควิด แต่รักษาตามสมมติฐานของโรค เช่น ผู้ป่วยโควิดส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ และไม่มีอาการรุนแรง จัดอยู่ในกลุ่มผู้ป่วยสีเขียวให้รักษาตัวอยู่ที่บ้าน เพื่อให้เตียงหรือบุคลากรทางการแพทย์ว่างมากที่สุด ขณะที่ผู้ป่วยที่มีอาการสีเหลืองและสีแดง ก็ยังได้รับการรักษาพยาบาลตามการเจ็บป่วยฉุกเฉิน (UCEP) โดยต้องบริหารจัดการระบบสาธารณสุขให้ดีที่สุด