เตือน! โอมิครอนในไทยผู้ป่วยหนัก-ตายพุ่งแนะเร่งฉีดวัคซีนเข็ม 3 กลุ่มเสี่ยง

16 ก.พ. 2565 | 03:11 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ก.พ. 2565 | 14:01 น.

เตือน! โอมิครอนในไทยผู้ป่วยหนัก-ตายพุ่งแนะเร่งฉีดวัคซีนเข็ม 3 กลุ่มเสี่ยง หมอเฉลิมชัยเผยชัดดื้อต่อวัคซีน 2 เข็ม ชี้ทุกยี่ห้อป้องกันการติดเชื้อได้เพียง 0-30%

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

 

ต้องระวัง โควิดระลอกที่ 4 เริ่มมีการขยับตัวของผู้ป่วยหนักและผู้เสียชีวิต แล้ว ต้องเร่งฉีดวัคซีนเข็มที่ 3ในกลุ่มเสี่ยงทั้งหมด

 

นับตั้งแต่ไวรัสโอมิครอน (Omicron) ปรากฏขึ้นเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 ที่ประเทศแอฟริกาใต้

 

และองค์การอนามัยโลกประกาศให้เป็นไวรัสกลุ่มน่ากังวล (VOC) ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2564

 

จนในปัจจุบัน ไวรัสโอมิครอนได้กลายเป็นสายพันธุ์หลักของโลกแทนไวรัสสายพันธุ์เดลตาเรียบร้อยแล้วนั้น

ตลอดระยะเวลา 3 เดือน ที่ไวรัสโอมิครอนระบาดทั่วโลก ทำให้เราทราบลักษณะต่างๆดังนี้

 

  • มีความสามารถในการติดเชื้อเพิ่มขึ้น 4-6 เท่า ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและในจำนวนจุดสูงสุดมากกว่าเดลต้า เช่นที่พบในประเทศสหรัฐอเมริกา ( 1 ล้านรายต่อวัน) อังกฤษ ( 2 แสนรายต่อวัน) และญี่ปุ่น ( 1 แสนรายต่อวัน) เป็นต้น

 

 

  • ไวรัสโอมิครอนดื้อต่อวัคซีน 2 เข็มชัดเจน โดยวัคซีนทุกบริษัทป้องกันการติดเชื้อได้เพียง 0-30% ต้องฉีดเข็ม 3 จึงจะทำให้ป้องกันการติดเชื้อได้ 60-80% และลดอัตราการเสียชีวิตได้มากกว่า 90%

 

 

  • ก่อให้เกิดอาการที่รุนแรงน้อยกว่าไวรัสเดลตา โดยทำให้มีอัตราจำนวนผู้เสียชีวิตเมื่อคิดเป็นร้อยละต่ำกว่า

 

  • สำหรับในประเทศไทย ผู้เสียชีวิตมากกว่า 90% เป็นกลุ่มเสี่ยงคือ มีอายุมากกว่า 60 ปี หรือผู้มีโรคประจำตัว และส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนหรือฉีดวัคซีนยังไม่ครบ 3 เข็ม

 

  • ผู้ที่เสียชีวิตดังกล่าว จะเกิดขึ้นหลังการติดเชื้อเฉลี่ย 7-14 วัน

 

จากข้อมูลดังกล่าว

 

เราอาจจะเบาใจเรื่องร้อยละหรืออัตราของผู้เสียชีวิตได้

 

แต่เราไม่สามารถจะวางใจได้ว่า จำนวนผู้เสียชีวิตเมื่อนับเป็นรายคนแล้ว จะน้อยเสมอไป

 

เพราะถ้าจำนวนผู้ติดเชื้อมีจำนวนสูงมากนับหลายเท่าตัวเมื่อเทียบกับจำนวนของผู้ติดเชื้อจากไวรัสเดลต้า

 

อาจจะทำให้ผู้ป่วยที่มีอาการหนัก ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และผู้เสียชีวิตมีจำนวนคนเพิ่มมากกว่าได้

 

ทั้งที่ไวรัสโอมิครอนมีความรุนแรง และมีอัตราผู้เสียชีวิตคิดเป็นร้อยละน้อยกว่าก็ตาม

 

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565

 

เราเริ่มเห็นการขยับตัวของความรุนแรง เมื่อคิดเป็นรายคนชัดเจนขึ้น โดยที่จำนวนร้อยละของความรุนแรงยังคงต่ำอยู่  ได้แก่

 

  • จำนวนผู้ป่วยอาการหนัก ได้ขยับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 702 ราย

 

  • จำนวนผู้ใช้เครื่องช่วยหายใจ ได้ขยับเพิ่มขึ้นเป็น 145 ราย

 

ซึ่งจำนวนผู้ป่วยหนัก และผู้ใช้เครื่องช่วยหายใจ จะส่งผลกระทบไปถึงจำนวนผู้เสียชีวิตในอีก 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า เพราะผู้เสียชีวิตจะเกิดขึ้นหลังจากติดเชื้อแล้วประมาณ 7-14 วัน

 

เราจึงต้องตระหนักและยอมรับว่าไวรัสโอมิครอน จะทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น

 

แต่เราไม่ควรยอมรับหรือยอมจำนน ที่จะให้มีจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น

 

เพราะเราสามารถป้องกันหรือควบคุมจำนวนผู้เสียชีวิตได้ ด้วยการเร่งฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้แก่ ผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว

 

การเร่งฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้กับผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว ให้ครบทุกราย จะเป็นเครื่องมือสำคัญมาก ในการคุมจำนวนผู้เสียชีวิตให้น้อยกว่าสมัยไวรัสเดลตา ทั้งที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่าสมัยไวรัสเดลตาระบาด