5 สูตร วัคซีนโควิดเด็ก 5-17 ปี กิจกรรมอะไรเสี่ยง กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

14 ก.พ. 2565 | 12:10 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.พ. 2565 | 19:25 น.

5 สูตรฉีดวัคซีนโควิด 19 ให้กลุ่มเด็กอายุตั้งแต่ 5-17 ปี มีสูตรไฟเซอร์ 2 เข็ม ซิโนแวค 2 เข็ม และสูตรไขว้ซิโนแวคและไฟเซอร์ ทุกสูตรมีคำแนะนำจากหน่วยงานต่างๆ รับรองแล้ว ฉีดได้ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ เช็คกิจกรรมอะไรเสี่ยงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบในกลุ่มเด็ก 5-11 ปี บ้าง

14 กุมภาพันธ์ 2565  สถานการณ์การติดเชื้อโรคโควิด 19 ในกลุ่มเด็ก ยังพบการติดเชื้อในสัดส่วนที่สูงขึ้น หลายหน่วยงานจึงเร่งรัดการฉีดวัคซีนในกลุ่มเป้าหมายเด็ก เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด เเละให้สามารถเปิดโรงเรียนได้อย่างปลอดภัย สำหรับแผนการบริหารจัดการวัคซีนโควิด 19 ไทยมีสูตรวัคซีนที่จะฉีดให้กลุ่มเด็กอายุ 5-17 ปี รวมแล้ว 5 สูตร

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า ทุกสูตร ได้พิจารณาจากคำแนะนำของอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ร่วมกับคำแนะนำของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยและคำแนะนำภายใต้การขึ้นทะเบียนของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงสุดแก่เด็ก

เหมาะสมกับจำนวนวัคซีนในพื้นที่ ประกอบกับบริบทการให้บริการวัคซีนในประเทศไทยมีความหลากหลายแตกต่างกัน ทั้งในเขตเมือง ชนบท รวมถึงพื้นที่ทุรกันดารห่างไกล ซึ่งอาจมีทรัพยากร ระบบการขนส่งและจัดเก็บวัคซีน หรือระบบให้บริการฉีดวัคซีนที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่หรือแต่ละช่วงเวลา อย่างไรก็ตาม การพิจารณาให้วัคซีนในรายบุคคลควรต้องพิจารณาบริบทเฉพาะรายเพิ่มเติมเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ผู้รับวัคซีน

สูตรวัคซีนโควิดเด็กทั้ง 5 สูตร ในกลุ่มอายุ 5-17 ปี 

  • สูตรที่ 1 สำหรับอายุ 5-11 ปี ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ (ฝาสีส้ม) 2 เข็ม ระยะห่างระหว่างเข็ม 8 สัปดาห์ ซึ่งเป็นสูตรหลักของกลุ่มเป้าหมายนี้ และกระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมวัคซีนไฟเซอร์ (ฝาสีส้ม) ให้เพียงพอแก่กลุ่มเป้าหมายนี้ทุกคนแล้ว อย่างไรก็ตามวัคซีนไฟเซอร์ (ฝาสีส้ม) จะทยอยเข้ามาในแต่ละสัปดาห์และดำเนินการฉีดผ่านระบบสถานศึกษา ทำให้ไม่สามารถฉีดในกลุ่มเป้าหมายได้พร้อมๆ กันทุกคน  กระทรวงสาธารณสุขจึงเตรียมสูตรที่เหลือไว้รองรับความต้องการของเด็กและผู้ปกครองที่ต้องการให้บุตรหลานได้รับการฉีดวัคซีนโดยเร็ว
  • สูตรที่ 2 สำหรับเด็กอายุ 6-11 ปี สามารถฉีดวัคซีนสูตรไขว้ซิโนแวค-ไฟเซอร์ (ฝาสีส้ม) ระยะห่างระหว่างเข็ม 4 สัปดาห์ ตามคำแนะนำของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ซึ่งได้เผยแพร่คำแนะนำเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565
  • สูตรที่ 3 สำหรับเด็กอายุ 12-17 ปี แนะนำให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ (ฝาสีม่วง) 2 เข็ม ระยะห่างระหว่างเข็ม 3-4 สัปดาห์ ซึ่งเป็นสูตรหลักของกลุ่มเป้าหมายนี้ และกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว
  • สูตรที่ 4 สำหรับเด็กอายุ 12-17 ปี สามารถฉีดวัคซีนสูตรไขว้ซิโนแวค-ไฟเซอร์ (ฝาสีม่วง) ระยะห่างระหว่างเข็ม 4 สัปดาห์ ตามคำแนะนำของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยได้เช่นกัน และมีการศึกษารองรับแล้วว่า ระดับภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนสูตรไขว้ซิโนแวค-ไฟเซอร์ (ฝาสีม่วง) สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงกว่าการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ (ฝาสีม่วง) 2 เข็ม ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลในผู้ใหญ่
  • สูตรที่ 5 วัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม สำหรับเด็กอายุ 6-17 ปี ระยะห่างระหว่างเข็ม 4 สัปดาห์ ซึ่งเป็นคำแนะนำภายใต้การขึ้นทะเบียนของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ปกครองที่มีความกังวลใจเรื่องผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน mRNA และเด็กที่แพ้การฉีดวัคซีน mRNA แต่อย่างไรก็ตามภูมิที่เกิดจากการฉีดสูตรนี้ อาจไม่สูงพอในการป้องกันเชื้อโอมิครอน จำเป็นต้องได้รับการกระตุ้นด้วยวัคซีนไฟเซอร์ 1 เข็ม โดยมีระยะห่างอย่างน้อย 4 สัปดาห์ ขึ้นไป หลังได้รับวัคซีนเข็มที่ 2

 

สังเกตอาการเด็ก อายุ 5- 11ปี หลังฉีด "วัคซีนโควิดเด็ก" ไฟเซอร์  

นพ. สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ผู้ปกครองต้องเฝ้าระวังอาการข้างเคียงหลังฉีด "วัคซีนโควิดเด็ก" ในกลุ่มเด็ก 5-11 ปี โดยอาการที่อาจเกิดขึ้นภายหลังการฉีดวัคซีนไฟเซอร์สูตรเด็ก ได้แก่

  • ปวด บวม แดง บริเวณที่ฉีด
  • ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย มีไข้

 

ก่อนการฉีดควรเตรียมตัวเด็กให้พร้อม รับประทานอาหารและน้ำตามปกติ พักผ่อนให้เพียงพอ

นพ. อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เปิดเผยว่า หลังฉีด วัคซีนโควิดเด็ก ผ่านมาทางโรงพยาบาลไม่พบอาการข้างเคียงรุนแรงในเด็กกลุ่มนี้ แต่ยังจำเป็นต้องสังเกตอาการหลังการฉีดอย่างน้อย 30 นาที ในสถานที่ฉีดวัคซีนด้วยเสมอ ส่วนอาการข้างเคียงทั่วไปหลังฉีดวัคซีน พบน้อยกว่ากลุ่มเด็กโตและผู้ใหญ่ อาการดังกล่าวสามารถหายได้เองเมื่อรับประทานยาลดไข้และพักผ่อนให้เพียงพอ

 

กิจกรรมที่ไม่ควรให้บุตรหลานทำหลังจากฉีดวัคซีน ลดเสี่ยงภาวะ "กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ"

  • ออกกำลังกาย
  • ปีนป่าย
  • วิ่ง
  • ว่ายน้ำ หรือออกกำลังกายที่ใช้แรงมาก เป็นระยะเวลา 7 วัน เพื่อป้องกันภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

หากเกิดอาการรุนแรงหลังได้รับวัคซีนโควิดเด็ก

  • เจ็บหน้าอก หายใจเร็วเหนื่อยง่าย
  • ปวดหัวรุนแรงไข้สูงมากกว่า 39 องศา
  • อาเจียนรับประทานอาการไม่ได้ซึมไม่รู้สึกตัว

ควรรับไปพบแพทย์ทันที เพื่อรักษาและติดตามอาการ หลังจากรับวัคซีนแล้วยังคงต้องให้เด็กล้างมือ สวมใส่หน้ากากอนามัย และรักษาระยะห่างตามหลักการทั่วไปของการป้องกันโรคโควิด19 เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด