วิธีเลือกซื้อ “ไส้กรอก” ให้ปลอดภัย ควรดูอย่างไร

11 ก.พ. 2565 | 14:11 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ก.พ. 2565 | 21:12 น.
571

กรมอนามัย – นักวิชาการ แนะการเลือกซื้อ “ไส้กรอก” ให้ปลอดภัย ต้องมีเครื่องหมายรับรอง วันหมดอายุ มีกระบวนการผลิตทันสมัย

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย แนะนำว่า การเลือกซื้อไส้กรอก ควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีสีชมพูหรือแดงเข้มจนเกินไป ควรมีรายละเอียดต่าง ๆ ระบุไว้บนบรรจุภัณฑ์ โดยจะต้องระบุสถานที่ผลิต วันผลิต วันหมดอายุอย่างชัดเจน ควรมีเครื่องหมายรับรองต่าง ๆ

 

เช่น อย. มอก. เป็นต้น และหากพบว่ามีการใส่วัตถุกันเสีย ก็ไม่ควรบริโภคอาหารนั้นเป็นประจำ  ควรบริโภคในปริมาณที่พอประมาณ ไม่มากหรือบ่อยเกินไป  ควรเลี่ยงการบริโภคไส้กรอกแบบทอดน้ำมันในอุณหภูมิสูง หรือย่างแบบไหม้เกรียม เพราะอาจก่อให้เกิดสารไนโตรซามีนที่เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งได้

 

ขณะที่กระบวนการผลิตไส้กรอกของไทยมีความก้าวหน้าอย่างมาก รศ.ดร.อินทาวุธ สรรพวรสถิตย์ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำทับในเรื่องนี้ว่า ควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน และได้รับการบรรจุที่ดี   ซึ่งปัจจุบันผู้ผลิตรายใหญ่ให้ความสำคัญกับการผลิตด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย 

 

เพื่อให้มั่นใจว่า “ปลอดภัย” สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ในทุกขั้นตอน ย้อนจากผู้บริโภคไปจนถึงการรับวัตถุดิบ  เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจในความสด สะอาด และปลอดภัย  โดยเฉพาะบ้านที่มีเด็กๆ ที่ชื่นชอบการทานไส้กรอกเป็นชีวิตจิตใจ  

ไส้กรอก

สำหรับข้อสงสัยเรื่องสารเจือปนไนเตรทหรือไนไตรท์ในไส้กรอกนั้น  ผศ.ดร.สุทัศน์ สุระวัง สาขาวิชาเทคโนโลยีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ รองคณบดีคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกว่า ในกระบวนการผลิตไส้กรอก จำเป็นต้องเติมสารไนเตรทหรือไนไตรท์ เพื่อช่วยยับยั้งการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์

 

โดยเฉพาะ คลอสตริเดียม โบทูลินัม (Clostridium botulinum) ซึ่งเชื้อนี้มีอันตรายต่อสุขภาพของคนสูงมาก และสามารถเจริญได้ดีในสภาวะการบรรจุแบบสุญญากาศ  ดังนั้น การใช้สาร       ไนเตรท หรือไนไตรท์ในไส้กรอกมีความจำเป็น  แต่ต้องเป็นไปตามมาตรฐานกำหนดของกระทรวงสาธารณสุข

 

ส่วนข้อกังวลที่ว่าหากบริโภคไส้กรอกมากๆ หรือบ่อยจนเกินไป อาจเกิดผลเสียกับร่างกายได้นั้น  ต้องยอมรับว่า ในข้อเท็จจริงแล้วคนไทยเราไม่ได้บริโภคไส้กรอกเป็นอาหารหลัก หรือมากเท่ากับชาวตะวันตก  เรื่องของปริมาณการบริโภคจึงไม่เป็นประเด็นที่ต้องเป็นห่วง  

 

นอกจากนี้ การเลือกดูบรรจุภัณฑ์หรือแพคเกจที่บรรจุไส้กรอกก็เป็นอีกเรื่องสำคัญ เพราะบรรจุภัณฑ์จะต้องมีมาตรฐาน FOOD GRADE  คือ จะต้องแน่นหนาและสามารถทนต่ออุณหภูมิความร้อน-เย็นได้ ก็จะมั่นใจได้ว่า จะไม่มีสารปนเปื้อนใดกับไส้กรอก  

 

ขณะเดียวกัน ไส้กรอกเป็นผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเนื้อสัตว์แปรรูปที่ผ่านกระบวนการผลิตทำให้สุกด้วยความร้อนอยู่แล้ว  การอุ่นก่อนรับประทานจึงเพียงแค่ลวกน้ำร้อน  นึ่ง หรืออุ่นในไมโครเวฟ ก็เอร็ดอร่อยกับไส้กรอกคุณภาพ เคียงกับผักต่างๆ ก็จะได้รับสารต้านอนุมูลอิสระด้วย  ส่วนที่ไม่แนะนำให้นำไปทอด เพื่อเลี่ยงการรับไขมันที่จะติดมากับการทอด