หลังจากเกิดกรณีพบผู้บริโภค ซึ่งเป็นเด็กหลายรายเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเนื่องจากการรับประทานไส้กรอก และเกิดภาวะ methemoglobinemia (เมธฮีโมโกลบินนีเมีย) จนทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลาง ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานเป้าหมายใน จังหวัดชลบุรี
พร้อมตรวจสอบผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ ทั้งไส้กรอก ลูกชิ้น หมูยอ ซึ่งจากการเข้าไปฉลากผลิตภัณฑ์หลายรายการ ตรงกับฉลากผลิตภัณฑ์ที่ได้ข้อมูลจากผู้ป่วยว่าบริโภคแล้วเกิดอาการผิดปกติ และยังพบว่า ฉลากสินค้าไม่แสดงเลขสารบบอาหาร ถือเป็นการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง
อีกทั้งจากการตรวจสอบสถานที่ผลิตแห่งนี้ ตามหลักเกณฑ์ GMP ที่กฎหมายกำหนด พบว่าไม่ผ่านเกณฑ์ (ได้คะแนนรวม 19 คะแนน คิดเป็น 16.67%) และยังพบข้อบกพร่องอื่น ๆ เช่น ไม่มีการควบคุมการผลิต ในกรณีที่มีการใช้วัตถุเจือปนอาหารอย่างเหมาะสม
อย่างไรก็ตามหากมาดูในแง่การตรวจสอบข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับเรื่องนี้ พบว่า มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายอย่าง ตั้งแต่ ฉลากสินค้า รวมไปถึงสถานที่ผลิต
โดยส่วนแรก คือ ฉลากสินค้า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 กำหนดรายละเอียดไว้ ดังนี้
1. ชื่อประเภท หรือชนิดของสินค้าที่แสดงให้เข้าใจได้ว่าสินค้านั้นคืออะไร กรณีที่เป็นสินค้าที่สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขายให้ระบุชื่อประเทศที่ผลิต
2. ชื่อหรือเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนในประเทศไทยของผู้ผลิตเพื่อขายในไทย
3. ชื่อหรือเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนในไทยของผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย
4. สถานที่ตั้งของผู้ผลิตเพื่อขาย หรือของผู้สั่งหรือผู้นำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย แล้วแต่กรณี
5. แสดงขนาดหรือมิติ หรือปริมาณหรือปริมาตร หรือน้ำหนักของสินค้า แล้วแต่กรณี สำหรับหน่วยที่ใช้จะใช้ชื่อเต็ม หรือชื่อย่อ หรือสัญลักษณ์แทนก็ได้
6. ต้องแสดงวิธีใช้ เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าสินค้านั้นใช้เพื่อสิ่งใด
7. ข้อแนะนำในการใช้หรือห้ามใช้ เพื่อความถูกต้องในการใช้ที่ให้ประโยชน์แก่ผู้บริโภค เช่น ห้ามใช้ของมีคมกับการแซะน้ำแข็งในตู้เย็น
8.คำเตือน (ถ้ามี)
9.วันเดือนปีที่ผลิต หรือวันเดือนปีที่หมดอายุการใช้ หรือวันเดือนปีที่ควรใช้ก่อน วันเดือนปีที่ระบุนั้น เพื่อให้เข้าใจในประโยชน์ของคุณภาพหรือคุณสมบัติของสินค้านั้น (ถ้ามี)
10. ราคา โดยระบุหน่วยเป็นบาท และจะระบุเป็นเงินสกุลอื่นด้วยก็ได้
หากผู้ประกอบธุรกิจรายใดไม่จัดทำฉลากสินค้า หรือจัดทำฉลากไม่ถูกต้องตามประกาศดังกล่าว มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนต่อมาคือ กรณีการพบสารต้องห้ามในอาหาร โดยเฉพาะในไส้กรอก ลูกชิ้น และหมูยอ จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 25 ฐาน “ผลิตอาหารไม่บริสุทธิ์” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
หากเป็นอาหารปลอม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 บาทถึง 1 แสนบาท
อย่างไรก็ตามในกรณีนี้ ภายหลังจากเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปตรวจสอบแหล่งผลิต และยึดของกลางกว่า 32 รายการ เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ฝ่าฝืนมาตรา 6(7) สถานที่ผลิตอาหารไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการผลิตที่ดี (GMP) โทษปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท และฝ่าฝืนมาตรา 6(10) ผลิตภัณฑ์อาหารแสดงฉลากไม่ถูกต้อง โทษปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท