พบจุดความร้อนทั่วประเทศใกล้แตะ 1,000 จุด 3 จังหวัดภาคเหนือพบมากสุด

30 ม.ค. 2565 | 16:01 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ม.ค. 2565 | 23:08 น.
2.9 k

GISTDA เผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ของระบบเวียร์ (VIIRS) วันที่ 29 ม.ค. ุ65 พบจุดความร้อนทั้งประเทศ จำนวน 961 จุด เพิ่มขึ้นจากวานก่อน 59 จุด

GISTDA ได้เปิดเผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ของระบบเวียร์ (VIIRS) วันที่ 29 มกราคม 2565 พบจุดความร้อนทั้งประเทศ จำนวน 961 จุด เพิ่มขึ้นจากวานก่อน 59 จุด โดยพบมากสุดในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 295 จุด พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 222 จุด พื้นที่เกษตร 203 จุด พื้นที่เขตสปก. 139 จุด พื้นที่ชุมชนและอื่นๆ 90 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 12 จุด ส่วนจังหวัดที่พบจุดความร้อนมากสุดยังคงอยู่ในภาคเหนือทั้ง 3 จังหวัด คือ #อุตรดิตถ์ 85 จุด #เชียงราย 78 จุด #แพร่ 50 จุด ตามลำดับ

พบจุดความร้อนทั่วประเทศใกล้แตะ 1,000 จุด  3 จังหวัดภาคเหนือพบมากสุด

 

สอดคล้องกับการประเมินพื้นที่เสี่ยงสูงเกิดไฟป่าล่วงหน้า 7 วัน (24 – 30 มกราคม 2565) จากภาพแสดงให้เห็นว่าจุดความร้อนกระจายตัวอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง โดยเฉพาะภาคเหนือ และยังมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าน่าจะเกิดจากการเตรียมพื้นที่เพื่อการเกษตร หรือการเข้าไปหาของป่า เนื่องจากพื้นที่ที่พบจุดความร้อนมากที่สุดคือพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ทั้งนี้ จากการรวบรวมข้อมูลจุดความร้อนตั้งแต่ 1 มกราคม – 29 มกราคม 2565 พบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีจุดความร้อนแล้วจำนวน 3,147 จุด ตามด้วยภาคกลาง 2,337 จุด และภาคเหนือ 2,082 จุด ตามลำดับ

สำหรับจุดความร้อนของประเทศเพื่อนบ้าน ราชอาณาจักรกัมพูชายังคงครองแชมป์ต่อเนื่อง จำนวน 1,723 จุด รองลงมาอันดับ 2 สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ จำนวน 1,075 จุด และอันดับที่ 3 เป็นประเทศไทย จำนวน 961 จุด ตามลำดับ ข้อมูลจุดความร้อนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศเพื่อนบ้านอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศ pm 2.5 ในพื้นที่บริเวณแนวชายแดนภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาค ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เหล่านี้ดูแลสุขภาพกันด้วยนะครับ

.

ทั้งนี้ ปัญหาไฟป่าหมอกควัน ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงให้กับระบบต่างๆ ของประเทศมาโดยตลอด โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศไทยกำลังจะได้ใช้ระบบ THOES-2 อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่ง 1 ในภารกิจสำคัญของระบบนี้ คือการสำรวจ วิเคราะห์ และติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้น ได้อย่างทันท่วงทีและแม่นยำ เพื่อการสนับสนุนข้อมูลสำคัญให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำข้อมูลไปใช้วางแผน ป้องกัน บรรเทา และแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม รายละเอียดข้อมูลเฉพาะพื้นที่ท่านสามารถติดตามจากหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบโดยตรงได้ GISTDA ยังคงติดตามและรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นข้อมูลให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้บริหารจัดการในพื้นที่